โควิดในเรือนจำ: เมื่อ ‘เรื่องในคุก’ ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ในเรือนจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ไทยมียอดผู้ติดเชื้อรายวันแตะตัวเลขหลักหมื่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด  แม้มองในผิวเผินเรือนจำจะมีลักษณะเป็นพื้นที่ปิดที่ดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุม ป้องกันมิให้เชื้อจากภายนอกแพร่เข้าสู่เรือนจำอย่างเด็ดขาดได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายดายเช่นนั้น  เนื่องจากหน่วยงานผู้ดูแลไม่สามารถควบคุมปริมาณบุคคลเข้า-ออกได้ 100% อีกทั้งยังมีการรับผู้ต้องหาเข้ามาใหม่ และการนำตัวผู้ต้องขังออกจากศาล การสับเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่เชื้อเข้าสู่เรือนจำไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

แต่นี่มิใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเพราะนับแต่มีการระบาดในปีที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าว และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีการชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความรุนแรงของกระทบหากเชื้อแพร่เข้าสู่พื้นที่ปิด และมีความแออัดสูงอย่างเรือนจำ จึงได้มีการเสนอมาตรการป้องกัน และควบคุมเอาไว้แต่เนิ่น ๆ ถึงกระนั้นประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าจัดการกับการแพร่ระบาดได้ดีในระยะแรกกลับพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำสูง และกลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่พาประเทศไทยขึ้นสู่สถิติจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่าประเทศที่เคยเผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่น จีน อังกฤษ   คอลัมน์ SDG Updates วันนี้ชวนผู้อ่านย้อนมองความพยายามส่งเสียงเตือนขอองค์การระหว่างประเทศ และแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อรับมือกับการระบาดในเรือนจำและภาพสะท้อนที่โควิด 19 ชี้ให้เราได้เห็นถึงกระบวนการบำบัดขัดเกลาผู้กระทำผิดของกระบวนการยุติธรรม คุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่มักถูกจัดให้อยู่ลำดับท้ายตารางอยู่เสมอ

โควิดในเรือนจำรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นอย่างไร

หากเราลองพิจารณาความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด 19 ผ่าน 3 ปัจจัยได้แก่ (1) กลุ่มบุคคลเสี่ยง (2) สถานที่เสี่ยง และ (3) กิจกรรมเสี่ยง จะพบว่าผู้ต้องขังคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญอยู่กับความเสี่ยงทั้งสามปัจจัย กล่าวคือ พวกเขามีโอกาสเผชิญกับกลุ่มบุคคลเสี่ยง ที่อาจหมายถึงเจ้าหน้าที่ ผู้มาติดต่อ หรือกระทั่งเพื่อนผู้ต้องเข้าที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ที่แม้จะมีกระบวนการคัดกรองแต่ด้วยการฟักตัวของเชื้อที่ใช้ระยะเวลานานก็มีโอกาสที่จะสัมผัสกับกลุ่มคนเสี่ยง   สถานที่เสี่ยง ด้วยสภาพของเรือนจำร้อยละ 60 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีประชากรผู้ต้องขังเกินอัตราความจุที่เรือนจำ สามารถรองรับได้ หรือที่เรียกว่าสภาวะ “นักโทษล้นเรือนจำ ” (prison overcrowding) สภาพแวดล้อมที่แออัดนี้นำมาสู่ กิจกรรมเสี่ยง ผู้ต้องขังจำนวนมากต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัดยัดเยียดภายใต้พื้นที่ปิดและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เรือนจำบางประเทศขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ในการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน (อาทิ สบู่ ยาสีฟัน และยาสระผม) น้ำสะอาดและยารักษาโรค ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในเรือนจำ ดังนั้น มาตรการเว้นระยะห่าง การหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อขั้นพื้นฐาน จึงไม่อาจนำมาใช้ในเรือนจำได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อเทียบกับสถานที่อื่น ๆ 

จึงเป็นเหตุผลที่องค์กรระหว่างประเทศออกมาแสดงความห่วงกังวลต่อสวัสดิภาพผู้ที่ถูกควบคุมในเรือนจำ และสถานคุมขังทั่วโลก โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 แถลงการณ์ของนางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติย้ำเตือนรัฐสมาชิกว่า  “การลงโทษจำ คุกควรเป็นมาตรการลงโทษทางอาญาสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤตเช่นนี้”


เกิดอะไรขึ้นกับเรือนจำทั่วโลก

Philipp Meissner จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำนักโทษกว่า 11 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระดับที่แตกต่างกันออกไปคาดว่ามีนักโทษมากกว่า 527,000 คนที่ติดเชื้อไวรัสใน 122 ประเทศโดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,800 คนใน 47 ประเทศ  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทั้งงบประมาณ บุคคล และสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่เสี่ยงต่อการติดโรคเป็นทุนเดิม ดังนั้นสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศพยายามเข้าไปช่วยเหลือและผลักดันจึงมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องใช้พื้นฐานในการทำความสะอาดร่างกาย น้ำสะอาดในพื้นที่ขาดแคลน รวมไปถึงการออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกเพิ่มความเข้มงวดของการตรวจหาเชื้อ และเข้าไปดูแลผู้ต้องขังให้มากขึ้น

Philipp Meissner จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

ขณะเดียวกันข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติยังออกมาเรียกร้องให้รัฐสมาชิกได้เร่งลงมือ ดำเนินการลดจำนวนประชากรในเรือนจำโดยเร็ว โดยพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 อาทิ ผู้สูงวัย ผู้ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการกระทำผิดออกจากเรือนจำพร้อมกล่าวว่า

           “ในเวลานี้หน่วยงานรัฐควรปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังโดยปราศจากมูลเหตุทางกฎหมายที่เพียงพอ รวมถึงนักโทษทางการเมือง และบุคคลที่ถูกคุมขังเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วย”

ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาชี้แนะว่า เรือนจำ และสถานที่คุมขังเป็นพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและไม่ควรถูกมองข้ามพร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในชื่อ “การเตรียมพร้อม การป้องกัน และการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำ และสถานคุมขัง” (Preparedness, prevention and control of COVID-19 in prisons and other places of detention)  ซึ่งเน้นย้ำ ว่าการบริการด้านสุขภาพในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของการสาธารณสุขภาพรวม โดย “…การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เรือนจำ และสถานที่คุมขังอื่นๆ นั้น เป็นการดำเนินการที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการติดเชื้อและการระบาดรุนแรงทั้งภายในเรือนจำ และการระบาดสู่สังคม…”

แนวทางรับมือของแต่ละประเทศ

แต่ละประเทศเลือกใช้กลยุทธ์ในการลดความแอดอัดของเรือนจำด้วยการ ‘ลดจำนวนผู้ต้องขังเดิม’ และ ‘ลดเติมผู้ต้องขังเข้าไปเพิ่ม’ โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • ออสเตรเลีย เมื่อเดือนมีนาคม 2020 รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียผ่านกฎหมายให้อำนาจผู้ตรวจการราชทัณฑ์พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่เสี่ยงติดโควิด และที่จะไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อสังคมภายนอก เกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยตัวมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของคดี (ต้องไม่ใช่คดีร้ายแรงอย่างฆ่าผู้อื่น ล่วงละเมิดทางเพศ หรือก่อการร้าย) ระยะเวลาโทษที่เหลือ อายุ สุขภาพ รวมถึงว่าผู้ต้องขังรายนั้นมีที่พักอาศัยภายนอกที่เหมาะสมหรือไม่
  • อิหร่าน ปล่อยตัวผู้ต้องขังเป็นการชั่วคราวราว 85,000 คน โดยกอลามฮอสเซน เอสมาอิลี โฆษกฝ่ายตุลาการของอิหร่าน อ้างว่า 50% ของผู้ต้องขังคดีด้านความมั่นคงแห่งชาติได้รับสิทธิ์ปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหน้านั้น ขณะที่เอบราฮีม ไรอีซี ประธานศาลสูงสุดของอิหร่าน บอกว่าต้องใช้มาตรการนี้ต่อไป “ตราบใดที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในสังคม” โดยเขาบอกว่าจะพิจารณาผู้ที่เสี่ยงกว่าจากการมีโรคประจำตัวเป็นอันดับแรก
ภาพการปล่อยตัวผู้ต้องขังในซิมบับเว ภาพจาก EPA

         

นอกจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 รายงานวิเคราะห์การปล่อยตัวผู้ต้องขังทั่วโลกเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยบริษัทกฎหมายดีแอลเอ ไปเปอร์ (DLA Piper) พบว่า จากข้อมูลมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังอย่างน้อย 470,000 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง กรกฎาคม 2563 ในเขตอำนาจศาล 53 แห่ง ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเหนือและใต้ ประเทศที่ปล่อยตัวนักโทษมากที่สุดได้แก่ อิหร่าน (กว่า 104,000 ราย), อินเดีย (กว่า 68,200 ราย), อิรัก (กว่า 62,000 ราย), เอธิโอเปีย (กว่า 40,000 ราย) และอินโดนีเซีย (กว่า 38,000 ราย)

 โดยประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการลงโทษแบบไม่ต้องคุมขังมากขึ้น อาทิ ศาลฝรั่งเศสที่ให้ผู้ที่ต้องขังบางประเภทที่ต้องโทษตั้งแต่ 2 เดือนถึง 10 ปี เปลี่ยนไปทำงานบริการสังคม หรือกักขังที่บ้าน แทน หรือที่สเปน, นอร์เวย์ และรัฐมินนิโซตาของสหรัฐฯ ที่เพิ่มการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวแทนการกักขังมากขึ้น

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

นับตั้งแต่มีการระบาดกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ โดยมีการดำเนินการหลัก ๆ คือ 1.งดเยี่ยมญาติแบบปกติที่เรือนจำ 2.งดนำผู้ต้องขังออกทำงานนอกเรือนจำ 3.งดย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำ 4.พิจารณาแนวทางอื่นแทนการนำผู้ต้องขังออกศาล 5.งดนำบุคคลภายนอกเข้าเรือนจำ 6.แยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่โดยห้ามย้ายหรือออกจากห้องเป็นระยะเวลา 14-21 วัน และ 7.ประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายในการเข้าตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนออกจากห้องแยกกักโรค

แม้จะมีมาตรการดังกล่าวเพื่อลดความโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อเข้าสู่เรือนจำแต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการทำให้กลายเป็นช่องว่างและนำมาสู่การแพร่ระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ ดังข้อสังเกตต่อไปนี้

  • ช่องว่างของเวลาการแยกกักโรค แม้จะมีการแยกกักโรคผู้ต้องขังเข้ามาใหม่ในแดนแรกรับเป็นระยะเวลา 14 – 21 วันซึ่งนับว่ายาวนานพอสมควร แต่ด้วยสภาพพื้นที่อันคับแคบของเรือนจำ จึงทำให้มีโอกาสที่ผู้ต้องขังซึ่งกักตัวจนครบระยะและเตรียมเข้าสู่แดนขังกับผู้ต้องขังที่จะเข้ามาใหม่อีกกลุ่มมีโอกาสที่จะสัมผัสกัน ในช่วงเวลาที่เหลื่อมกันอยู่ นอกจากนี้ด้วยธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้ที่มีระยะเวลาการฟักตัวนานอาจไม่แสดงอาการขณะอยู่ในห้องแยกกักโรค
  • การหมุนเวียนเข้าออกของเจ้าหน้าที่ดังที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เคยได้แถลงไปในช่วงการระบาดขั้นต้นว่าสภาพการดูแลผู้ต้องขังเจ้าหน้าที่ต้องสับเปลี่ยนเข้ามาดูแลและมีการเดินทางเข้า-ออกเรือนจำและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องขัง ดังนั้นเรือนจำจึงมิใช่พื้นที่ปิด 100% ถึงขนาดที่เชื้อไวรัสจะไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้
  • การขาดแคลนบุคลากร  กรมราชทัณฑ์มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 13,678 คน เมื่อเทียบกับผู้ต้องขัง ทำให้ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ประสบกับปัญหาความไม่ได้สัดส่วนของจำนวนเจ้าหน้าที่กับจำนวนผู้ต้องขังที่คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 28 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2562, กองการเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์)  ซึ่งเกินกว่าอัตราส่วนตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้คือ 1 ต่อ 5 เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีจำนวนสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมากถึงจำนวน 377,722 คน (ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563)
  • ขาดการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบปูพรมในระยะแรก การที่ตลอดการระบาดที่ผ่านมาไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อจากเรือนจำนั้นอาจไม่ได้แปลว่าเรือนจำปลอดเชื้อเสมอไป เพียงแต่ในระยะแรกการตรวจหาผู้ติดเชื้อนั้นเป็นไปอย่างจำกัด ต่างกันกับในเดือนนี้ที่มีการปูพรมหาผู้ติดเชื้อในเรือนจำจึงพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น การพิจารณาถึงจุดเริ่มต้นของการระบาดขนาดใหญ่ก็อาจะต้องพิจารณาเรื่องจำนวนการตรวจหาเชื้อเข้ามาร่วมด้วย

บรรยากาศภายในเรือนจำ ภาพจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ข้อเสนอจาก TIJ

ในเดือนมีนาคม 2563 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ในเรือนจำ ซึ่งได้จัดทำแนวทางเสนอต่อกรมราชทัณฑ์ มีประเด็นหลัก ดังนี้

  1. พิจารณาใช้มาตรการอื่นแทนการจำ คุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำ ผิดคดีไม่รุนแรง เพื่อลดปริมาณประชากรที่จะเข้าสู่เรือนจำ โดยเฉพาะผู้กระทำ ผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือโรคประจำ รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้กระทำ ผิดคดีเล็กน้อยที่ไม่เป็นภัยอันตรายต่อสังคม โดยส่งเสริมให้มีการใช้วิธีการอื่นแทนการจำ คุก เช่น การเรียกค่าปรับ การใช้มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน และการใช้กำ ไลอิเล็กทรอนิกส์
  2. ลดความแออัดในเรือนจำโดยการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่มที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคมโดยพิจารณาจากลักษณะความผิด ความประพฤติโทษคงเหลือตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการดูแล ป้องกัน ให้ความรู้ผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งลักษณะแนวทางนั้นคล้ายคลึงกับวิธีการที่ในทางสากลใช้ อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อเสนอเหล่านี้ไปใช้มากน้อยเพียงใด

โควิดไม่ใช้ครั้งแรกที่ ‘เรื่องคุก’ กลายเป็นเรื่องสุดท้าย

ข้อมูลจาก TIJ ระบุว่า ประเทศไทยมีเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศจำ นวน 143 แห่ง โดยมีความจุของเรือนจำที่สามารถรับรองผู้ต้องขังได้ 254,302 คนคิดเป็นพื้นที่เรือนนอนสำหรับผู้ต้องขังทั้งสิ้น 305,312 ตารางเมตร อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีประชากรจำ นวนผู้ต้องขังทั้งประเทศ จำนวน377,722 คน (ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563) ซึ่งเกินความจุเรือนจำ อยู่กว่า 123,000 คนต่อแสนประชากรแล้วประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังจำนวน 535 คน ต่อประชากร100,000 คน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

ข้อสังเกตสำคัญคือในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังซึ่งคดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ประกอบด้วยผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ไต่สวนพิจารณาอุทธรณ์ – ฎีกา ผู้ถูกกักกันและผู้ต้องกักขังรวมทั้งสิ้น 66,788 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.764 หรือกล่าวง่าย ๆ  ว่ามีคนถูกขังโดยยังไม่ได้รับการตัดสินว่าผิดเกือบ 1 ใน 5 ของผู้ต้องขังทั้งหมด จากจำนวนดังกล่าวผนวกกับงบประมาณ ทรัพยากรที่หน่วยงานได้รับทำให้เรือนจำไม่อาจเป็นสถานบำบัดขัดเกลาพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้กลับตัวกลับใจเพื่อเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่สังคมได้ดังอุดมคติที่ตั้งใจไว้ ตรงกันข้าม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมนี้กลับสร้างเพียงความหวาดกลัว และตราบาปของผู้พลาดพลั้งไปเท่านั้น 

นอกจากนี้ด้วยสภาพความเป็นอยู่ส่งผลให้เรือนจำกลายเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นตาแดง วัณโรคที่มักเกิดในพื้นที่อากาศอับชื้นเพียงแต่ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งเสียงให้สังคมรับรู้ในวงกว้างมากเท่านั้น การระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำถึงความไม่ครอบคลุมของการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนพึงได้รับแม้จะถูกจำกัดอิสรภาพก็ตาม

“แม้จะสูญเสียอิสรภาพจากการจำคุก แต่พวกเขายังมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิต”

การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน แม้บุคคลนั้นจะสูญเสียอิสรภาพจากการต้องโทษจำคุก สิทธิดังกล่าวเป็นไปตามข้อที่ 12 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยรัฐมีหน้าที่ในการป้องกันภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สามารถคาดการณ์ได้และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ นอกจากนี้ เพื่อกำหนดแนวทางสากลในการดูแลด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ มาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง(ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา) ระบุว่า

“…ผู้ต้องขังควรได้รับบริการด้านสุขภาพตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนทั่วไป และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำ เป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมาย”

แหล่งอ้างอิง

[1]รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ในเรือนจำ https://www.tijthailand.org/public/files/highlight/Covid%20Report/TIJ-Covid19%20in%20prison.pdf

[2] https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25745&LangID=E

https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/339830/WHO-EURO-2021-1405-41155-57257-eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y

https://www.bbc.com/thai/international-57209171

https://www.dlapiper.com/~/media/files/insights/publications/2021/03/dla-piper-prison-population-during-covid-19.pdf?la=en&hash=F5C1EBBA0D3D86BDDA58FAC87DB9EF3CAE3815DF

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/40653

Last Updated on พฤษภาคม 25, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น