‘สิทธิเด็กผู้หญิงในการศึกษา’ : ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอันดับต้น คงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนและการศึกษาโดยมี UK เป็นผู้นำ

ขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เดินหน้าทุ่มงบประมาณไปกับการเร่งฟื้นฟูประเทศจากโรคระบาด ประเด็นการศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศก็ไม่ควรถูกละเลยเช่นกัน เพราะยังคงมีเด็กครึ่งหนึ่งในโลกกว่า 387 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนที่พลาดโอกาสจะได้ไปโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้เมื่อจบประถมศึกษา เป็นวิกฤติที่ต้องเร่งจัดการไม่ให้เด็กอีกกว่า 72 ล้านคนต้องสูญเสียทักษะการอ่านออกเขียนได้และมีพื้นฐานในการคำนวณ โดยยังมีเด็กหญิง 11 ล้านคนสูญเสียโอกาสกลับไปเรียนที่โรงเรียน เด็กมัธยมหญิงที่จำต้องอยู่บ้านจากความจำเป็นของการปิดโรงเรียนมีความเสี่ยงต่อการแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มอีก 2.5 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า และมากกว่า 1 ล้านคนที่จะตั้งครรภ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ คาดว่าอัตราความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และมีประเด็นที่เด็กหญิงอย่างน้อย 200 ล้านคนกลายเป็นด่านหน้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเด็กหญิงในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นชนชายขอบ ยากจน พิการ พลัดถิ่น หรืออยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งยิ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด

สหราชอาณาจักรซึ่งจะขึ้นเป็นประธานกลุ่มประเทศจี 7 ในปีนี้ จึงได้หยิบยกวาระ ‘การศึกษาของเด็กผู้หญิง’ เป็นหัวใจของการผลักดันประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเวทีโลก โดยกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (Foreign, Commonwealth and Development Office : FCDO) กับนโยบายว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กผู้หญิงที่จะได้ไปโรงเรียน ปลอดภัย และได้เล่าเรียน: 5 ปีของการลงมือทำ พ.ศ. 2564-2569 (Every girl goes to school, stays safe, and learns: Five years of global action 2021–26) เพื่อบรรลุให้เด็กหญิงมีการศึกษาภายในปี 2569 – ให้มีเด็กผู้หญิงอีก 40 ล้านคนได้ไปโรงเรียน อีก 20 ล้านคนในกลุ่มประเทศที่ยากจนและที่มีรายได้ปานกลางสามารถอ่านออกเขียนได้เมื่ออายุครบ 10 ปี พร้อมกับสนับสนุนความก้าวหน้าตามเป้าหมายการศึกษาของ SDGs และประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

โดยใช้เวทีระหว่างประเทศในการขับเคลื่อน สนับสนุนผ่านงบประมาณและการเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) ระดับทวิภาคีและพหุภาคี และกลับมาเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อย 0.7 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา (ตามสถานะทางการคลังของสหราชอาณาจักร) ไปพร้อมกับการปกป้องคุ้มครองค่านิยมที่สหราชอาณาจักรยึดถือ

เพราะการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่นำไปสู่สิทธิอื่น ๆ ในชีวิต การศึกษานำมาซึ่งการเรียนรู้และตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้ความสำคัญทั้งเด็กหญิงและเด็กชายเท่าเทียมกัน ให้เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศ ทั้งยังช่วยสร้างอนาคตของเด็กให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ อันจะนำไปสู่การลดความยากจน สร้างความมั่งคั่ง สังคมที่สันติ (ลดความขัดแย้งจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นต้น) และมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนการศึกษาของเด็กผู้หญิงให้อ่านออกเขียนได้นั้น เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ที่จะเป็นพลังก่อประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคม เช่นที่ปัจจุบัน ผู้นำการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่วนมากเป็นผู้หญิง

แผนปฏิบัติการฯ ที่นำโดยสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ เป็นการวางบทบาท ‘การเป็นผู้นำการศึกษา’ โดยจะใช้ทรัพยากรทางการทูตร่วมกับการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เด็กผู้หญิงเข้าถึงและรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีที่มีคุณภาพ ผลักดัน ‘เงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการศึกษา’ ให้มากขึ้น ตลอดจนการบ่มเพาะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันของสหราชอาณาจักรในต่างประเทศ และการให้ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาให้เป็นผู้นำโลกในอนาคต เป็นต้น

ผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) ความร่วมมือในเวทีโลกเรื่องการศึกษาของเด็กผู้หญิง 2) การดำเนินการระดับชาติให้เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียน มีโรงเรียนที่ปลอดภัย และได้เรียน และ 3) การสนับสนุนและลงทุนการปฏิรูปการศึกษา

โดยในรายละเอียด จะเป็นการดำเนินการผ่านเอกอัครราชทูตอังกฤษ เข้าหารือและให้การสนับสนุนรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ที่ประจำอยู่ เพื่อส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงเข้าถึงโรงเรียนและได้รับการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าวระหว่างหุ้นส่วนรัฐบาล

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มจี 7 ที่ใช้งบประมาณถึงร้อยละ 0.7 ของรายได้ประชาชาติ (GNI) ไปกับการพัฒนาในต่างประเทศ (ข้อมูล gov.uk ปี 2563) และครั้งนี้ถือเป็นการตั้งเป้ายกระดับบทบาทของตนในเวทีโลกด้วย

● ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา คืออะไร ? ศึกษาต่อได้ที่ : ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

เข้าถึง Policy Paper ได้ที่ : นโยบายว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กผู้หญิงที่จะได้ไปโรงเรียน ปลอดภัย และได้เล่าเรียน: 5 ปีของการลงมือทำ พ.ศ. 2564-2569 (Every girl goes to school, stays safe, and learns: Five years of global action 2021–26)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษา
– (4.1) เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนจะสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างชายและหญิง และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.b) ขยายจำนวนทุนการศึกษาทั่วโลกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.c) ส่งเสริมนโยบายที่ดีเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกระดับ
และการศึกษาในเด็กผู้หญิงยังนำไปสู่ – (5.5) หลักประกันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการให้เป็นผลตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อย 0.7 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.15 ถึง 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสนับสนุนให้ผู้ให้ ODA พิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ถึงอย่างน้อยร้อยละ 0.20 สำหรับให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

Last Updated on พฤษภาคม 28, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น