Alcohol-Harm Paradox : แม้ดื่มเหล้าปริมาณเท่ากัน แต่นักดื่มคนจนมีอัตราการตายสูงกว่าคนรวย

การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักดื่มทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า แต่มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม (socioeconomic status) และอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า นักดื่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับต่ำ จะได้รับผลกระทบจากการดื่มมากกว่านักดื่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูง แม้จะดื่มในปริมาณใกล้เคียงกันหรือน้อยกว่าก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งนี้เรียกว่า ‘alcohol-harm paradox’

นั่นหมายความว่า ผลเสียต่อร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถพิจารณาได้จากปริมาณที่ดื่มเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่แตกต่างกัน หรือนักดื่มที่เป็นกลุ่มรายได้น้อยมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มเติม เช่น การสูบบุหรี่ โรคอ้วน ความเครียดจากสภาพแวดล้อม และการดื่มหนัก (Heavy Episodic Drinking: HED) มากกว่าผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในอัตราการเสียชีวิต

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์บนวารสาร The Lancet Public Health ล่าสุด เป็นการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2013-2019 ในประเด็นการดื่มแอลกอฮอล์ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสียชีวิต ยืนยันสถานการณ์นี้โดยพบว่า คนจนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากกว่าคนรวย 3.8-5.2 เท่า และรูปแบบการดื่มหนักในกลุ่มคนจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าคนรวย

งานวิจัยได้เสนอว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในการเสียชีวิตจากการดื่ม กลยุทธ์ด้านสาธารณสุขควรเน้นไปที่การจัดการแก้ปัญหาพฤติกรรมการดื่มหนักโดยเฉพาะ เข้มงวดการควบคุมการซื้อหาเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์ในพื้นที่ด้อยโอกาส และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพเพื่อคัดกรอง (screening) และการให้คำปรึกษาแบบสั้น (brief intervention) เพื่อรับมือปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเท่าเทียม

อ่านเพิ่มเติม : ผลกระทบจากการดื่มเหล้าไม่เลือกจนรวย แต่หากจนกว่ามีอัตราการตายสูงกว่าคนรวย โดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮล์ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG1 ขจัดความยากจน 
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ประเด็นเรื่องยาเสพติดและแอลกอฮอล์ (3.5)
- SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ

Last Updated on มิถุนายน 8, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น