SDG Updates | เพราะสิทธิที่จะมีชีวิตรอดเป็นของทุกคน | ส่องสถานการณ์วัณโรคในเรือนจำเมื่อโควิดเข้าไปกดทับ

เขตแดนหลังห้องขังนั้นเป็นสถานที่จำกัดเสรีภาพตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถจำกัดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของ ‘คน’ ได้ กล่าวคือ กลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ยังมีสิทธิที่จะได้อยู่อาศัยในโรงนอนที่สะอาด มีอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่ดีตามมาตรฐาน ปลอดภัยจากการถูกทำร้าย และไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ทว่าในความเป็นจริง ด้วยข้อจำกัดหลายประการไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ จำนวนผู้ต้องขัง และงบประมาณที่จัดสรรลงไปนั้นไม่สามารถทำให้เรื่องพื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้น

‘เรือนจำ’ จึงไม่ใช่เพียงสถานที่ลงโทษ บำบัดขัดเกลาผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อโอกาส ‘ในการมีชีวิตรอด’ ทั้งความเสี่ยงที่อาจถูกทำร้ายร่างกายจากการทะเลาะวิวาทในห้องขัง ยาเสพติด รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่สูงกว่าภายนอกเกือบสิบเท่า SDG Updates ฉบับนี้ชวนส่องสถานการณ์การระบาดของวัณโรคในเรือนจำไทย ภายใต้ภาวะที่โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างหนักหน่วง

วัณโรคภัย(ไม่)เงียบ และยังไม่ตายจากสังคมไทยและโลก

วัณโรค (tuberculosis หรือ TB) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis เป็นโรคที่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (airborne transmission) เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูดดังๆ ตะโกน หัวเราะหรือร้องเพลง ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก (droplet nuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ซึ่งผู้อื่นสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป แม้จะมีภาพจำว่าเป็น ‘โรคโบราณ’ ที่ตายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังคงมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากวัณโรคในอัตรา? รายงานวัณโรคของโลกปี พ.ศ. 2563 (Global Tuberculosis Report 2020 –) โดยองค์การอนามัยโลก ประมาณว่าประชากร 10.0 ล้านคน (ช่วงระหว่าง 8.9 – 11.0 ล้านคน) ป่วยไข้จากวัณโรคในปีพ.ศ. 2562

อ่านสถานการณ์วัณโรคเพิ่มเติมได้ที่
SDG Updates | ส่องสถานการณ์วัณโรคไทย: หนึ่งปัญหาโรคติดต่อ (จากคนสู่คนผ่านทางอากาศ) ที่อยู่กับเรามานาน

ในการประเมินและติดตามสถานการณ์ในระดับโลกจะมีการจัดอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูง 30 ลำดับแรก
ทุก 5 ปี  (WHO global lists of high burden countries for TB, multidrug/rifampicin-resistant TB (MDR/RR-TB) and TB/HIV) เพื่อให้เห็นว่าประเทศใดกำลังเผชิญภัยคุกคามจากวัณโรคบ้าง และต้องดำเนินการรับมืออย่างเร่งด่วนเพียงใด โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคสูง  2) มีจำนวนและอัตราวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และ
3) มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง

สำหรับประเทศไทยจากการจัดลำดับประเทศที่มีอุบัติการณ์วัณโรคสูงสุด ปี 2016 – 2020  พบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงที่สุดเป็น 30 ลำดับแรกในทั้งสามกลุ่ม ส่งผลให้หน่วยงานสาธารณสุขในขณะนั้นต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อค้นหา และรักษาวัณโรคอย่างเร่งด่วน

แผนภาพแสดงรายชื่อประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มต่าง ๆ สูงเป็น 30 ลำดับแรก จากการจัดอันดับเมื่อปี 2016 – 2020

อย่างไรก็ตามในปีนี้ (2021) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศรายชื่อ 30 ประเทศที่ต้องติดตามรอบใหม่ โดยรายชื่อกลุ่มนี้จะมีผลตั้งแต่ปี 2021 – 2025 พบว่า ประเทศไทยได้หลุดพ้นจากประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง (กลุ่ม 3) แล้ว แต่ยังคงติดอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคสูง (กลุ่ม 1) และยังคงมีจำนวนและอัตราวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง (กลุ่ม 2)  นอกจากประเทศไทยแล้วประเทศที่หลุดจากกลุ่มที่ 3 ในรอบนี้ได้แก่ เอธิโอเปีย เคนย่า ส่วนประเทศ
ที่เข้ามาแทนได้แก่ มองโกเลีย เนปาล และแซมเบีย

นับเป็นสัญญาณแนวโน้มความก้าวหน้าที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ดีพอให้เราสามารถกล่าวได้ว่าคนไทยจะหลุดพ้นการเจ็บป่วย และตายจากวัณโรค หนึ่งในตัวชี้วัดที่ช่วยยืนยันสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดีคือดัชนี SDG Index 2021
จากรายงาน Sustainable Development 2021 ระบุว่าตัวชี้วัดเกี่ยวกับอุบัติการณ์วันโรคยังคงมีสถานะเป็นสีแดง คือมีความท้าท้ายสูงมาก

ตารางแสดงรายชื่อประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มต่าง ๆ สูงเป็น 30 ลำดับแรก จากการจัดอันดับเมื่อปี 2021 – 2025 จะเห็นว่าไม่มีประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ 3 แล้ว

เพราะในเรือนจำเสี่ยงมากกว่าที่อื่น

ในบทความก่อนหน้าเราได้นำเสนอถึงความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังจะติดโควิด-19 ในเรือนจำได้ง่ายกว่าคนภายนอกเพราะลักษณะเชิงกายภาพของเรือนจำนั้นแออัด ชื้น และไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ กรณีของวัณโรคเองก็เช่นเดียวกัน เพราะวัณโรคนั้นแพร่กระจายทางอากาศ ผ่านการไอ จาม พูดคุยที่ทำให้เกิดละออง และจะยิ่งแพร่เชื้อได้ดีในสถานที่อับชื้น ประกอบกับสภาพสังคมภายในเรือนจำ ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ยาเสพติด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เป็นทุนเดิม
มีการประมาณการว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในเรือนจำมีโอกาสเป็นวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไป 7 – 10 เท่า จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมวัณโรคที่เข้มแข็งในเรือนจำ เพราะผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นวัณโรคไม่เพียงแต่จะแพร่เชื้อโรคสู่ผู้ต้องขังด้วยกันเองเท่านั้น หากผู้ป่วยพ้นโทษก่อนรักษาวัณโรคครบและไม่มีการส่งต่อเพื่อรับการรักษาหลังพ้นโทษ ก็สามารถแพร่เชื้อวัณโรคสู่ประชาชนทั่วไปด้วย สุขภาพของผู้ต้องขังจึงไม่อาจแยกออกจากสุขภาพของชุมชนได้

. . .

สถานการณ์วัณโรคในเรือนจำไทย

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ปี 2560 พบผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 3,368 คนจากผู้ต้องขัง 310,000 คนในเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ เทียบเป็นความชุกของโรค 1,086 คนต่อประชากร 100,000 คน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำยังสูงเนื่องจาก ผู้ต้องขังมีการเคลื่อนย้ายสูง บางส่วนเมื่อศาลตัดสินความผิดแล้วก็จะถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำกลางระดับต่าง ๆ บางส่วนถูกย้ายกลับไปคุมขังตามภูมิลำเนา หรือมีการย้ายระหว่างเรือนจำเพื่อลดความแออัด การเคลื่อนย้ายส่งผลให้โอกาสการกระจายตัวของเชื้อเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการและยุทธศาสตร์การควบคุม ป้องกันโรคที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้อัตราการตายลดลง โดยข้อมูลปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคในเรือนจำลดลงเหลือร้อยละ 4 และมีแนวโน้มจะลดลลงอย่างต่อเนื่อง

มาตรการป้องกัน ควบคุมวัณโรค

นับตั้งแต่ปี 2016 (2559) ภายหลังจากที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงทั้ง 3 กลุ่ม อีกทั้งสถิติผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคกลายเป็นความท้าทายหลักของการดูแลสุขอนามัยของผู้ต้องขัง กรมควบคุมโรคจึงได้จัดทำหนังสือการประเมินมาตรฐานการป้องกันและดูแลรักษาวัณโรคในเรือนจำ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติให้ทุกเรือนจำต้องปฏิบัติตามและจะต้องถูกประเมินว่ามีกรปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรการที่กำหนดไว้หรือไม่ ประกอบด้วย  3  มาตรการ

  1. การค้นหาและวินิจฉัย เนื่องจากการยับยั้งการแพร่กระจายวัณโรคอยู่ที่ความเร็วของการค้นหา ดังนั้น ผู้ต้องขังรับใหม่และการย้ายแดนจะต้องมีการตรวจค้นหาวัณโรคเชิงรุกด้วยการซักฟอกประวัติเสียก่อน
  2. การดูแลรักษาโรค มีการกำหนดแนวทางการดูแล การช่วยเหลือผูป่วยครอบคลุมไปถึงด้านจิตใจเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับ และให้ความร่วมมือกับการรักษา โดยการประเมินนั้นมีการประเมินลงไปถึงระดับดูแลที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
  3. การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคและการควบคุมวัณโรค มีการกำหนดมมาตรฐานของสถานที่พักอาศัยให้มีแสงแดดส่องถึง มีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเท รวมไปถึงการใช้หน้ากากอนามัย อย่างก็ตามแม้จะมีการกำหนดมาตรฐานข้อนี้ แต่สภาพแวดล้อมในความเป็นจริงที่แออัดสูงก็ยากที่จะทำให้สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้

โควิด-19 ส่งผลต่อวัณโรคอย่างไร

โรคระบาดสองชนิดนี้มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะวิธีการแพร่กระจายของเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศ ละอองฝอย และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยวัณโรคที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับทางเดินหายใจยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้น การที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในเรือนจำจึงไม่เพียงแต่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นดังที่สังคมกังวลเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำอาจป่วยเป็นโรคซ้ำซ้อนกันและมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมีความหนาแน่นของคนไข้อยู่แล้ว สภาวะดังกล่าวจะเป็นการกดทับให้กลุ่มคนเหล่านี้เปราะบางสูงขึ้นจากปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่


แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าผู้มีต้องขังเผชิญกับสภาวะที่ซับซ้อนกันหลายชั้นเช่นนี้มากน้อยเพียงไร และแม้ว่าผู้ต้องขังจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และถูกจำกัดเสรีภาพ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ แต่ทุกคนก็ยังคงมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไปได้ การให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเหล่านี้จึงไม่ควรถูกจัดให้อยู่ในระดับของ ‘การสงเคราะห์’ แต่เป็นการให้ทุกคนได้รับมาตรการตามปกติเช่นที่พลเมืองในประเทศทุกคนควรได้รับจึงจะเรียกได้ว่าเป็นบริการที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

อ้างอิง

https://cdn.who.int/media/docs/default-source/hq-tuberculosis/who_globalhbcliststb_2021-2025_backgrounddocument.pdf?sfvrsn=f6b854c2_9

https://www.thaihealth.or.th/Content/38902-%E0%B8%9E%E0%B8%9A%20%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html

Last Updated on กรกฎาคม 1, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น