เทรนด์การออกกำลังกายชี้ 58% ของประชาชนใน 29 ประเทศต้องการออกกำลังกายมากขึ้น แต่อุปสรรคแรกคือไม่มีเวลา

การออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย Ipsos จึงร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) สำรวจเทรนด์การออกกำลังกายของประชาชนมากกว่า 21,000 ราย อายุ 18 – 74 ปี จาก 29 ประเทศ ว่าพวกเขารู้สึกว่าตนเอง ‘แอคทีฟ’ มีสุขภาพดีและแข็งแรงหรือไม่

โดยพบว่าทั่วโลกมี 58% ที่ต้องการออกกำลังกายและฝึกเล่นกีฬามากกว่านี้ แต่เหตุผลแรกที่เป็นอุปสรรคคือการที่ไม่มีเวลา (37%) โดยเฉลี่ยทั้งหมดใช้เวลาไปกับการออกกำลังกาย 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ เกือบ 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ประชาชนในเนเธอร์แลนด์เป็นคนที่แอคทีฟมากที่สุด โดยใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการออกกำลังกาย/ฝึกเล่นกีฬา ตามมาด้วยประชาชนในเยอรมันและโรมาเนียที่ 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนประชาชนในฝรั่งเศส ชิลี อิตาลี ญี่ปุ่น และบราซิล ใช้เวลาน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละสัปดาห์ ผู้ชายใช้เวลาออกกำลังกายมากกว่าผู้หญิง

โดยสาเหตุที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่ได้ออกกำลังกายหรือฝึกเล่นกีฬา มาจาก…

  • ไม่มีเวลา (37%) – โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย (51%) เปรู (48%) และรัสเซีย (47%)
  • ไม่มีเงิน (18%) – โดยเฉพาะตุรกี (33%) อาร์เจนตินา (30%) แอฟริกาใต้และรัสเซีย (25%)
  • อากาศร้อนไป/หนาวไป (17%) – โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและแอฟริกาใต้ (38%)
  • ไม่มีอุปกรณ์/สิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่อยู่อาศัย (13%)
  • ไม่มีคนรู้จักที่จะเล่นด้วย (13%)
  • อายุมากเกินไป (10%)
  • มีความพิการ/เจ็บป่วย (10%)
  • น้ำหนักเกิน (10%)
  • ไม่มีคนในพื้นที่ให้เล่นด้วย (9%)
  • อุปกรณ์/สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไม่ปลอดภัยที่จะใช้ หรือใช้งานไม่ได้ (8%)
  • การเล่นกีฬาไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมและวัฒนธรรมในประเทศของตน (3%)
  • ไม่ได้มีอุปสรรคอะไร เพียงแต่ไม่อยากออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (22%) – โดยเฉพาะญี่ปุ่น (40%) สหรัฐฯ (37%) ตามมาด้วยอังกฤษ (33%) และแคนาดา (32%)

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากเทรนด์การออกกำลังกาย/ฝึกเล่นกีฬาดังกล่าว อาจจะช่วยให้เราเห็นปัจจัยและสภาพการณ์ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Inactivity) ได้

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
เพียงเพราะ ‘ไม่ได้ขยับร่างกาย’ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อแล้ว
‘ไม่ขยับ ไม่ออกกำลังกาย’ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น ภาวะสมองเสื่อมและความดันโลหิตสูง
กลยุทธ์ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุ SDGs มากถึง 15 เป้าหมาย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค รวมถึงสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

ทั้งนี้ SDGs อาทิ #SDG1 ความยากจน #SDG3 การเจ็บป่วย #SDG8 สิทธิแรงงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ #SDG13 ที่ส่งผลต่ออากาศที่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป ยังเป็นสาเหตุของอุปสรรคที่ทำให้คนออกกำลังกายน้อยลงตามแบบสำรวจนี้ด้วย

แหล่งที่มา:
In which countries do people exercise most around the world – and what stops them doing more? (World Economic Forum)
Global views on sports: 58% globally would like to practice more (Ipsos)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น