การพยายามฆ่าตัวตาย ยังถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับและจำคุก ในอย่างน้อย 20 ประเทศ

การฆ่าตัวตายยังถือเป็นอาชญากรรมใน 20 ประเทศ โดยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายอาจเจออัตราโทษปรับเป็นเงินสูงถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และถูกจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี ยิ่งเป็นตีตราผู้ป่วยทางจิต และทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือครอบครัวไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

รายงาน Decriminalising Suicide: Saving Lives, Reducing Stigma โดยองค์กร United for Global Mental Health ที่ทำงานร่วมกับ International Association for Suicide Prevention (IASP) พบว่า กฎหมายหลายฉบับที่ระบุว่าการฆ่าตัวตายเป็นอาชญากรรมนั้นเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในอดีตที่ย้อนกลับไปถึง 160 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความเข้าใจผิดเรื่องปัญหาสุขภาพจิตอย่างมหันต์ และขาดการปฏิรูปด้านสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน

รายงานระบุว่า นอกจากการลงโทษทางกฎหมายที่ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายต้องเผชิญแล้ว ยังต้องได้รับผลกระทบจากการตีตราปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย ทำให้กระบวนการการป้องกัน วินิจฉัย และการรักษาดูแลภาวะสุขภาพจิตที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยากมากในประเทศเหล่านี้ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเปิดเผยเนื่องจากต้องประสบกับทั้งความอับอายและความกลัวที่มาจากสังคม

20 ประเทศจากรายงานที่มีข้อมูลว่าการฆ่าตัวตายเป็นความผิดทางอาญา ได้แก่ บาฮามาส บังคลาเทศ บรูไน กานา กายอานา เคนยา มาลาวี มาเลเซีย เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี กาตาร์ เซนต์ลูเซีย โซมาเลีย ซูดานใต้ ซูดาน แทนซาเนีย ตองกา และยูกันดา จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวนี้ถูกบังคับใช้ส่วนใหญ่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการฆ่าตัวตายรวมถึง 79% ของตัวเลขทั้งหมดของโลก ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าการคาดโทษทางกฎหมายช่วยลดการฆ่าตัวตายได้จริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการยกเลิกหรือแก้กฎหมายการฆ่าตัวตายได้สำเร็จในบางประเทศ เช่น ในหมู่เกาะเคย์เเมน เมื่อธันวาคม ปี 2020 หลักจากมีการรณรงค์ที่ย้ำให้เห็นว่าการทำให้ผิดกฎหมายทำให้มีเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตเพียง 5% นั้นที่กล้าขอความช่วยเหลือ เนื่องจากการตีตราที่มีต่อการกระทำความผิดทางอาญาด้วยการฆ่าตัวตาย

ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 700,000 คนทั่วโลก หรือเทียบเท่ากับ หนึ่งคนในทุก ๆ การเสียชีวิต 100 คน องค์กร United for Global Mental Health จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกการกำหนดโทษทางกฎหมายต่อการฆ่าตัวตาย และใช้วิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย อาทิ การพัฒนาบริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม และการจำกัดวิธีการฆ่าตัวตาย เช่น การควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

เข้าถึงรายงาน Decriminalising Suicide: Saving Lives, Reducing Stigma

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิตผ่านบริบท SDGs โดย The Lancet Commission on Global Mental Health and Sustainable Development

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

ที่มา :
Suicide still treated as a crime in at least 20 countries, report finds (The Guardian)
Suicide is still a criminal offence in 20 countries (TRTWorld)

Last Updated on กันยายน 15, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น