SDG Insights | การเมืองและน้ำท่วม : ย้อนดูการรับมืออุทกภัยกับการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทย

อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ[1]

“ฝนตกอีกแล้ว คืนนี้คงหนาวกว่าคืนไหนไหน…”

ฤดูฝนกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง ในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเริ่มมีฝนตกชุกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมเป็นต้นไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูฝน พร้อมกันนั้น กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณฝนและการกระจายของฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5-10% ทำให้คนไทยต้องคอยลุ้นกันอีกปีว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมอีกครั้งหรือไม่


อุทกภัย คือ ‘ภัยพิบัติ’ 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โลกได้เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง รวมทั้งอุทกภัยหรือภัยที่เกิดจากน้ำ เช่น แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียที่ทำให้เกิดน้ำท่วมจากสึนามิในปี 2004 น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยเมื่อปี 2011 ภัยพิบัติน้ำท่วมในอินเดียในปี 2013 น้ำท่วมเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ปี 2019 น้ำท่วมกรุงจาการ์ตาเมื่อต้นปี  2020 น้ำท่วมใหญ่ในทวีปยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกาในปี 2021 ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) เช่น การละลายของแผ่นน้ำแข็งปริมาณมาก การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรอย่างกะทันหัน คลื่นความร้อน ปริมาณน้ำฝนมากล้น ความแห้งแล้งรุนแรง หรือพายุหมุนเขตร้อนรุนแรง เป็นต้น (Botzen, Deschenes, & Sanders, 2019; CSIRO, 2014; Zhou, Wu, Xu, & Fujita, 2018)

ภาพที่ 1: น้ำท่วม เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ปี 2019
ที่มา: (Natanson, 2019)

การศึกษาของ Hannah Ritchie และ Max Roser (2014) ใน Our World in Data ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยพิบัติเอาไว้ว่า ในอดีตเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดคือความแห้งแล้งและน้ำท่วม แต่มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติเหล่านี้น้อยมาก (Ritchie & Roser, 2014) แต่เหตุการณ์อุทกภัยทั่วโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย การตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดในการเพิ่มความเสี่ยง ความถี่ ขนาดและความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมในหลายภูมิภาคทั่วโลก (Ionita & Viorica, 2021) การศึกษาอุทกภัยในรอบ 100 ปี ของ Milly และคณะ (2002) พบว่าเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Eccles, Zhang, & Hamilton, 2019; Milly, Wetherald, Dunne, & Delworth, 2002) โดยเฉพาะน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ลุ่มอันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธารน้ำแข็งละลาย พายุเฮอริเคนเคลื่อนที่ช้าลง ความชื้นในบรรยากาศมีมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเรื้อรังในระยะยาว และการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก (Repeated flooding) (Nunez, 2019)

การศึกษาของ Hirabayashi และคณะ (2013) ได้ใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ 11 แบบและข้อมูลน้ำท่วมในศตวรรษที่ 20 มาลองคำนวณความเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วมขึ้นในอนาคต ผลการคำนวณพบว่า ทั่วโลกจะเกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นและมีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากถึง 42% ของแผ่นดินโลก พื้นที่สีน้ำเงินเข้มในแผนที่ (ภาพที่ 2) แสดงความเป็นไปได้สูงที่น้ำท่วมอาจจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงทุก ๆ 10-50 ปี และคาดว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบมากกว่า 27–93 ล้านคน (Hirabayashi et al., 2013) อุทกภัยที่รุนแรงเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้อยู่อาศัย เจ้าของที่ดิน และรัฐบาลในการออกแบบยุทธศาสตร์การรับมือและบรรเทาอุทกภัยและบรรเทาอุทกภัย การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายของรัฐในการจัดการฟื้นฟูเมื่ออุทกภัยได้ผ่านพ้นไป รวมทั้งการปรับตัวเพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในอาจเกิดขึ้นซ้ำได้ในอนาคต 

ภาพที่ 2: แผนที่แสดงความถี่ของน้ำท่วมจากแม่น้ำทั่วโลก ปลายศตวรรษที่ 21
ที่มา: (Polka, 2018)

อุทกภัยที่ร้ายแรงขึ้นทุกปี

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์อุทกภัยมีความรุนแรงมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยมีสาเหตุอันหลากหลาย เช่น ปรากฏการณ์ฝนตกหนัก เขื่อนเก็บน้ำแตก หิมะหรือน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งน้ำจากทำนบไหลเข้าท่วมแม่น้ำและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง หรือที่เรียกว่า “ที่ราบน้ำท่วมถึง” น้ำท่วมชายฝั่งจากพายุขนาดใหญ่หรือสึนามิ ทำให้เกิดน้ำทะเลหนุนและไหลเข้าสู่แผ่นดิน

เหตุการณ์อุทกภัยส่วนใหญ่ที่เกิดจากธรรมชาติหรือเกิดจากปัญหาระบบระบายน้ำมักใช้เวลาหลายเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันกว่าที่น้ำจะท่วมสูง ทำให้ผู้ประสบภัยมีเวลาเตรียมตัวในการอพยพ ขณะที่น้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนไม่มีเวลาเตรียมตัว อีกทั้งกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะกระแสน้ำพร้อมจะกวาดทุกสิ่งที่กีดขวางให้ไหลตามไปพร้อมกันด้วย (Nunez, 2019)


ผลกระทบจากอุทกภัย

ในด้านความสูญเสีย องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) ระบุว่าในทุก ๆ ปี น้ำท่วมทำให้เกิดความเสียหายทั่วโลก คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้ำท่วมในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวสร้างความสูญเสียโดยเฉลี่ยถึงปีละประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 100 คนต่อปี โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดที่ประเทศจีนเมื่อปี 1931 อุทกภัยครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 500,000–4,000,000 คน (OECD, 2016)

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมขัง คือ การตัดกระแสไฟฟ้าและการขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด การอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานอาจนำมาซึ่งโรคระบาดร้ายแรง เช่น โรคไทฟอยด์ โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ อหิวาตกโรค โรคฉี่หนู และโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราได้ แต่เมื่อน้ำลด พื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมจะปกคลุมด้วยตะกอนโคลน น้ำสกปรก และพื้นดินจะเกิดการปนเปื้อนด้วยสิ่งอันตราย เช่น เศษโลหะ ของมีคม ยาฆ่าแมลง เชื้อเพลิง และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ที่ที่ปะปนมากับน้ำ สิ่งก่อสร้างที่เคยจมอยู่ในน้ำอาจเกิดเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง ส่งผลต่อความมั่นคงของอาคารบ้านเรือนได้  (Nunez, 2019)


อุทกภัยในประเทศไทย 

หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะพบว่าประเทศไทยเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมาน้ำท่วมใหญ่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 15–20 ปี ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญและเป็นแม่น้ำที่ยาวมากที่สุดในประเทศ เนื่องด้วยว่าประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตร้อน ที่ได้รับอิทธิพลฝนจากมรสุมตามฤดูกาล รวมทั้งภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำ จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ เราจึงเห็นการปรับตัวของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ (Benfield, 2012; Fredrickson, 2010)

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยมากขึ้นและบางครั้งก็กลายเป็นวิกฤตที่รุนแรง โดยเฉพาะอุทกภัยปี 2011 (หรือ “น้ำท่วมใหญ่ปี’54” (พ.ศ. 2554))เป็นผลมาจากสาเหตุหลักสองประการที่สำคัญ คือ “ภัยธรรมชาติ” และ “ภัยการเมือง” แท้จริงแล้วการเมืองกับภัยพิบัติเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ และหลายครั้งที่ภัยทางการเมืองเปลี่ยนเหตุการณ์ปกติให้กลายเป็นภัยพิบัติเสียเอง เพราะความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวในการจัดการกับวิกฤตของรัฐบาลเอง

1 – ภัยธรรมชาติ

ประเทศไทยเคยประสบกับภัยจากมรสุมที่เลวร้ายที่สุดในความทรงจำมาแล้ว คือ มรสุมในปี 1983 (พ.ศ. 2526) ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 10,000 คนในช่วงสามเดือน ขณะที่ผู้คนราว 100,000 คนป่วยด้วยโรคระบาดที่มากับน้ำ (BBC News, 2004) ในปี ค.ศ. 2011ประเทศไทยได้รับอิทธิผลจากพายุโซนร้อน 5 ลูกในช่วงมรสุม ได้แก่ Haima ในเดือนมิถุนายน, Nock-Ten ในเดือนกรกฎาคม, Haitang ในเดือนกันยายน, Nesat และ Nelgae ในเดือนกันยายนและตุลาคมตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงมากที่สุดในรอบ 61 ปี ตามสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่ปี 1951–2011 (กรมอุตุนิยมวิทยา, 2012) แม้ว่าจะมีเพียงแค่พายุไต้ฝุ่น Nock-Ten ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงในวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันมากถึง 11 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน[2] และมันก็ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ (Singkran & Kandasamy, 2016)

ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยต่างประสบปัญหาน้ำท่วมควบคู่กับไปกับการรับมือกับโรคระบาด ในปี 2020 ขณะที่น้ำท่วมจังหวัดนครราชสีมาในเดือนตุลาคม ซึ่งทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เข้าสู่บ้านเรือนประชาชนที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จนเกิดเป็นน้ำท่วมสูงในระดับ 30-60 เซนติเมตรและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (ไทยรัฐออนไลน์, 2020) และในเดือนธันวาคม จังหวัดนครศรีธรรมราชต้องรับมือกับการเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในจากมรสุมประจำปีในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 ประเทศไทยต้องเผชิญกับกรณีน้ำท่วมรุนแรงที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายในเดือนสิงหาคม ซึ่งทั้งสองจังหวัดได้รับอิทธิพลจากภัยธรรมชาติคือฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน  ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อำเภอแม่สอดเคยประสบอุทกภัยจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเมยล้นตลิ่ง จนทำให้เกิดน้ำท่วมสองฝั่งทั้งประเทศเมียนมาและประเทศไทย แต่ปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเมยสูงขึ้นกว่า 2 เมตร ประกอบกับน้ำในลำห้วยที่อำเภอแม่สอดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมตลาดริมเมยในดินแดนประเทศไทยและจังหวัดเมียวดี ในประเทศเมียนมา  และเหตุการณ์ฝนตกต่อเนื่องในจังหวัดเชียงรายตลอดทั้งคืนจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนทำให้เกิดปริมาณน้ำสะสม จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่หมู่บ้าน ในพื้นที่บางแห่งมีน้ำท่วมขังสูงถึง 1.50 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องปีนหลังคาบ้านเพื่ออพยพหนีน้ำกันเอง (กรุงเทพธุรกิจ, 2564)

2 – ภัยการเมือง 

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยพิบัติต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น ..

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวิดา กมลเวชช เสนอว่าภัยพิบัติเกี่ยวข้องกับการรับมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและชุมชนในท้องถิ่น มีการตัดสินใจในหลาย ๆ ระดับ มีการจัดสรรงบประมาณ เครื่องมือและกำลังคน การรับมือ การฟื้นฟู และการสร้างโครงสร้างใหม่ ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น นอกจากนี้ หลายครั้งภัยพิบัติมักเกิดขึ้นข้ามเขตการปกครองหนึ่ง ทำให้เงื่อนไขในการจัดการภัยพิบัติทางการเมืองไม่ชัดเจน ดังนั้น ภัยพิบัติจึงเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อผสมผสานความต้องการที่หลากหลายอันเกิดจากสถานการณ์ภัยนั้นทั้งสิ้น (ทวิดา กมลเวชช, 2011)

ภัยการเมืองทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (2007) กำหนดให้อำนาจในการบริหารจัดการภัยพิบัติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แล้วจึงกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเพื่อดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี “เจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการท้องถิ่น และมีกำลังพลจาก “อาสาสมัครในพื้นที่” ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงถือเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการสาธารณภัยในท้องถิ่น ทั้งด้านกฎหมาย กระบวนการ การรูปแบบการจัดการสาธารณภัย และเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการจัดการสาธารณภัยในท้องถิ่น (ทวิดา กมลเวชช, 2554) ในทางกลับกัน เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี’54 เข้าสู่ภาวะวิกฤติในเดือนสิงหาคม พรรคเพื่อไทยเพิ่งชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นและเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เลือก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (2011–2014) รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน โดยให้คำยืนยันว่า ‘น้ำท่วมเอาอยู่ และมีแผนจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที’ (Thairath, 2012) แต่กลับมีความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานคร เมื่อน้ำกำลังไหลมาจากภาคเหนือและใกล้เข้าสู่เขตกรุงเทพฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีคำสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นเปิดประตูระบายน้ำเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำ แต่ในหน่วยงานท้องถิ่น ผู้มีอำนาจเต็มในการป้องกันสาธารณภัยในพื้นที่ของตนเองปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง เช่น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (2009–2016) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งและสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ มีคำสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพียง 75-80 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งขัดกับความต้องการของนายกยิ่งลักษณ์ที่ให้เปิดประตูระบายน้ำ 1 เมตร (Daniel, 2011; James & Khaikham, 2019)

การเปลี่ยนเส้นทางน้ำของรัฐบาลและการขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนสับสน จนก่อให้เกิดภาพน้ำท่วมโบราณสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ในปีนั้น มีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่า 13 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 884 รายใน 66 จังหวัดทั่วประเทศ (Boonyabancha & Archer, 2011) ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงประมาณ 22.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง 4.81% มีการคาดการณ์ว่าความสูญเสียนี้อาจส่งผลระยะยาวจนถึงปี 2030 รวมทั้งสิ้น 55,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการฟื้นฟูประเทศ (Head, 2012; Tanoue et al., 2020; World Bank, 2012)

มหาอุทกภัยกลายมาเป็นฝันร้ายที่กลับมาหลอกหลอนประชาชนชาวไทย ทุกปีเมื่อฤดูฝนมาเยือนคนไทยต่างกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะรุนแรงเหมือนในปี’ 54 หรือไม่ ? สัญญาณอันตรายได้ใกล้เข้ามาแล้วจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วโลกและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วไทย ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตก และปริมาณน้ำสูง จึงเกิดภาวะน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งในหลายพื้นที่ ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชระบุว่า จากสถิติในระยะเวลาห้าปีตั้งแต่ปี 2007-2012 (พ.ศ. 2550–2555) พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชต้องเผชิญกับน้ำท่วมที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น ระยะเวลายาวนานขึ้น พื้นที่ที่ประสบภัยกว้างขึ้น และมูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชยังไม่มีพัฒนาการในการรับมือกับน้ำท่วมได้ ประกอบกับภาวะโรคระบาดทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชสูญเสียศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติที่ทับซ้อนในเวลาเดียวกัน

ความรุนแรงทางธรรมชาติและประสิทธิภาพในการรับมือกับน้ำท่วมของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่แปรผกผันกัน สะท้อนให้เห็นปัญหาทางการเมืองท้องถิ่นที่สำคัญคือ การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ดิน และการขาดทรัพยากรในการบริหารการจัดการน้ำของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การขยายเมืองที่ผิดรูปแบบ การวางผังเมืองที่ไม่ได้วางแผน การสร้างสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ จำนวนต้นไม้ลดน้อยลง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีถนนกีดขวางทางน้ำ และมีสะพานหลายจุด และมีระบบระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ (Thai PBS, 2560) ผนวกกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

การให้ความช่วยเหลือในเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เผยให้เห็นความซับซ้อนของพื้นที่ จังหวัดตากเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้สัญชาติมากกว่า 31,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับสามของประเทศไทย อำเภอแม่สอดเองเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายจากภูมิประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมืองเมียวดี  ประเทศเมียนมา คนเมียนมาและคนไทยต่างเดินทางข้ามรัฐ ณ ด่านพรมแดนแม่สอดอยู่เป็นประจำด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม แต่สถานการณ์โรค COVID-19 ทำให้อำเภอแม่สอดกลายเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าพื้นที่อื่น รัฐบาลจึงต้องปิดด่านข้ามพรมแดนอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสองด้านคือวิกฤติโรค COVID-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพจากรัฐบาล ทำให้สภาพเศรษฐกิจของแม่สอดซบเซาลง ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราว อีกทั้งสถานการณ์น้ำท่วมได้ตอกย้ำความเสียหายทางเศรษฐกิจมากขึ้น (ประชาชาติธุรกิจ, 2564)

ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันส่งผลให้พื้นที่ 5 อำเภอแนวชายแดนจังหวัดตากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวบ้านทั้งคนไทยและคนเมียนมาหลายร้อยครัวเรือนต้องอพยพออกนอกพื้นที่ไปยังสำนักสงฆ์มณีวังทองที่กลายเป็นศูนย์อพยพชั่วคราว เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเชื่อว่าน้ำท่วมครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ในฐานะหน่วยงานปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงรีบส่งเรือท้องแบนไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการเฉพาะหน้า (Matichon, 2564) ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแนวทางให้ความช่วยเหลือใดให้แก่ชาวแม่สอดในการรับมือกับน้ำท่วมหนักในรอบ 10 ปีนี้และวิกฤตโรค COVID-19

ภาพที่ 3: ชาวบ้านช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบนหลังคาในจังหวัดเชียงราย
ที่มา: (ข่าวสด, 2564)

เหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนในท้องถิ่น รัฐบาลไม่ได้สนใจหรือระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาทำได้เพียงประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเท่านั้น ในระดับชุมชนชาวบ้านอาศัยทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกันเอง เช่น ช่วยกันก่ออิฐบล็อกกั้นน้ำ หนีขึ้นไปอยู่บนหลังคา หรือใช้รถแทรกเตอร์เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แม้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่เร่งเข้าช่วยเหลือแต่ด้วยสถานการณ์ที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยข้อจำกัด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับมือกับอุทกภัยขนาดใหญ่เองได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายมหาศาล ในเบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายระดมกำลังช่วยเหลือและนำข้าวกล่องไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน เมื่อน้ำท่วมลดลงจึงจะทำการสำรวจความเสียหาย ซ่อมแซม และทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ, 2564) แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับการกระจายอำนาจในการจัดการสาธารณภัยในท้องที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะหมดความรับผิดชอบต่อการคุ้มครองชีวิตประชาชน


รัฐบาลไทยกับการรับมืออุทกภัย

เมื่อครั้งน้ำท่วมปี’ 54 รัฐบาลไทยต้องรับมือวิกฤตหลายพื้นที่ในระยะเวลาที่ต่าง ๆ รัฐบาลพยายามป้องกันพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ให้น้ำท่วม ทำให้พื้นที่ในต่างจังหวัดกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เมื่อต่างจังหวัดได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว แต่กรุงเทพฯ กำลังถูกน้ำท่วมหนัก สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศได้ เพราะปัญหาการขาดกำลังคนและอุปกรณ์ ความยากลำบากในการขนส่ง และไม่ตอบสนองต่ออันตรายที่มากับน้ำ เช่น สารเคมีรั่วไหล การจัดการของเสีย และภัยโรคระบาด (Kamolvej, 2014) เมื่อน้ำลด รัฐบาลยังคงไม่มีแผนการรับมือกับภัยพิบัติในระยะยาวเพราะความขัดแย้งทางการเมืองและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้พยายามริเริ่มกระบวนการพิจารณาแผนฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ การจัดตั้งโครงการป้องกันอุทกภัย (a flood protection scheme) และระบบการเตือนภัยล่วงหน้าให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบขององค์กรใดเพียงองค์กรเดียว (Sarnsamak, 2013) แต่โครงการดังกล่าวกลับต้องหยุดชะงักเมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ตั้งแต่ปี 2018 ประเทศไทยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี  ตั้งแต่ปี 2018- 2037 (พ.ศ. 2561-2580) และเริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี ระหว่างปี 2015-2026 (พ.ศ. 2558-2569) มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (2018) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้สอดคล้องกันในทุกมิติ สมดุล และยั่งยืน ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีการพยายามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำเพื่อบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2014-2018) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง วิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลที่ตรวจวัด และจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early warning system) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562)

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ การบรรเทาสาธารณภัยจากน้ำท่วมทั่วโลกต้องประสบกับความยากลำบากที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดไปพร้อมกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศเปราะบาง เช่น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (LDCs) ที่มีประชากรมาก มีรายได้ต่ำ และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสาธารณสุข จึงส่งผลให้ประเทศเหล่านี้รับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ได้ย่ำแย่ ยิ่งไปกว่านั้นการขาดแคลนวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวช้าลง (Grace Li, 2021) และยิ่งช้ามากขึ้นด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ในบทความถัดไปเราจะพิจารณาถึงการปรับตัว ความยืดหยุ่น (resilience) และการฟื้นฟูหลังน้ำลดท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดต่อไป


สรุป

ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสถานการณ์ฝนค่อนข้างสูง โดยปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยมีมากกว่าปกติและน้อยกว่าปกติสลับกันถี่มากขึ้น ในปี 2011 ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี กลับเกิดภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่อง 2 ปีระหว่างปี 2014 – 2015 เพราะมีพื้นที่ฝนตกน้อยเป็นประวัติการณ์ คือลดลงร้อยละ 14.73 (รอยล จิตรดอน, 2560) ความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนจากการรับมือ เป็นการป้องกันที่เน้นในเชิงมาตรการมากกว่าเชิงโครงสร้าง (Singkran, 2017) แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลไทยมักให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในภาคเกษตรกรรมมากกว่าน้ำล้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังมีน้ำท่วมขังชั่วคราวหรือ “น้ำรอการระบาย” ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และบางจังหวัดในฤดูฝนทุกปี (Prachachat, 2020) เมื่อผนวกกับสถานการณ์โรค COVID-19 ทำให้เราเห็นว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการรับมือกับภัยพิบัติทั้งสองด้าน

อุทกภัยกับการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทย เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal: SDGs ดังนี้
○ SDG 3.9 ที่พยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศน้ำและดิน และการปนเปื้อนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
○ SDG 6.4 ที่เน้นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะสามารถมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืนในทุกช่วงเวลา และ SDG 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ
○ SDG 11.5 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ที่พยายามลดจำนวนการตายและคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ
○ SDG 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ
○ SDG 16.6 ที่พยายามพัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส โดยมีตัวชี้วัดคือ สัดส่วนประชากรที่พึงพอใจกับการบริการสาธารณะ


เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร


[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] น้ำท่วมฉับพลัน เกิดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิต หนองคาย เลย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม


เอกสารอ้างอิง

BBC News. (2004, December 30). Tsunami among world’s worst disasters. BBC News. Retrieved from http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/4128509.stm

Benfield, A. (2012). 2011 Thailand Floods Event Recap Report. Chicago: Impact Forecasting LLC.

Boonyabancha, S., & Archer, D. (2011, November 2). Thailand’s floods: Complex political and geographical factors behind the crisis. Retrieved February 3, 2021, from International Institute for Environment and Development website: https://www.iied.org/thailands-floods-complex-political-geographical-factors-behind-crisis

Botzen, W. J. W., Deschenes, O., & Sanders, M. (2019). The Economic Impacts of Natural Disasters: A Review of Models and Empirical Studies. Review of Environmental Economics and Policy13(2), 167–188. https://doi.org/10.1093/reep/rez004

CSIRO. (2014). Climate Variability, Extremes andChange in the Western Tropical Pacific: New Science and Updated Country Reports 2014. Canberra: Australian Bureau of Meteorology and Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation.

Daniel, Z. (2011). PM orders opening of Bangkok floodgates. BC News. Retrieved from https://www.abc.net.au/news/2011-10-20/thai-pm-to-open-bangkok-floodgates/3581758?nw=0

Eccles, R., Zhang, H., & Hamilton, D. (2019). A review of the effects of climate change on riverine flooding in subtropical and tropical regions. Journal of Water and Climate Change10(4), 687–707. https://doi.org/10.2166/wcc.2019.175

Fredrickson, T. (2010, October 18). Floods worsen. Bangkok Post. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/learning/advanced/201960/floods-worsen

Grace Li. (2021). Nikkei COVID-19 Recovery Index. Nikkei Asia. Retrieved from https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Nikkei-COVID-19-Recovery-Index

Head, J. (2012, September 4). Has Thailand learned from last year’s floods? BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-asia-19462160

Hirabayashi, Y., Mahendran, R., Koirala, S., Konoshima, L., Yamazaki, D., Watanabe, S., … Kanae, S. (2013). Global flood risk under climate change. Nature Climate Change3(9), 816–821. https://doi.org/10.1038/nclimate1911

Ionita, M., & Viorica, N. (2021). Extreme Floods in the Eastern Part of Europe: Large-Scale Drivers and Associated Impacts. Water13, 1122. https://doi.org/10.3390/w13081122

James, H., & Khaikham, L. (2019). Socio-Political Transformation After the 2011 Floods in Thailand.

Kamolvej, T. (2014). Has Thailand Disaster Management, from Tsunami to Flood, Been Better? วารสารการเมืองการปกครอง4(2), Tavida Kamolvej.

Matichon. (2564). จมมิด! ฝนถล่มหนักน้ำทะลักท่วมตลาดริมเมย-เกาะโนแมนแลนด์ แม่สอด คนต่างด้าวหนีตายโกลาหล. Retrieved from https://mgronline.com/local/detail/9640000073326

Milly, P. C. D., Wetherald, R. T., Dunne, K. A., & Delworth, T. L. (2002). Increasing risk of great floods in a changing climate. Nature415(6871), 514–517. https://doi.org/10.1038/415514a

Natanson, P. (2019, November 13). Venice is being flooded by the highest tide in more than 50 years. Retrieved August 2, 2021, from ABC News website: https://abcnews.go.com/International/venice-flooded-highest-tide-50-years/story?id=66968754

Nunez, C. (2019, April 4). Learn about how floods happen and the damage they cause. Retrieved August 2, 2021, from National Geographic: Environment website: https://www.nationalgeographic.com/environment/article/floods

OECD. (2016). Flood risk in a changing climate. 17–38. https://doi.org/10.1787/9789264257689-5-en

Polka, E. (2018, April 17). Global Flood Risk under Climate Change. Retrieved August 7, 2021, from Public Health Post website: https://www.publichealthpost.org/databyte/global-flood-risk-under-climate-change/

Prachachat. (2020, December 10). ปัดฝุ่นกระทรวงน้ำ 3 รัฐบาล ติดกับดัก ไม่ตอบโจทย์ท่วมแล้งซ้ำซาก. Retrieved from https://www.prachachat.net/politics/news-570429

Ritchie, H., & Roser, M. (2014). Natural Disasters. Our World in Data. Retrieved from https://ourworldindata.org/natural-disasters

Sarnsamak, P. (2013, September 30). Better early warning system is sorely needed. The Nation. Retrieved from https://www.nationthailand.com/national/30215988

Singkran, N. (2017). Flood risk management in Thailand: Shifting from a passive to a progressive paradigm. International Journal of Disaster Risk Reduction25, 92–100. https://doi.org/10.1016/j.ijdrr.2017.08.003

Singkran, N., & Kandasamy, J. (2016). Developing a strategic flood risk management framework for Bangkok, Thailand. Natural Hazards84(2), 933–957. https://doi.org/10.1007/s11069-016-2467-x

Tanoue, M., Taguchi, R., Nakata, S., Watanabe, S., Fujimori, S., & Hirabayashi, Y. (2020). Estimation of Direct and Indirect Economic Losses Caused by a Flood With Long-Lasting Inundation: Application to the 2011 Thailand Flood. Water Resources Research56(5), e2019WR026092. https://doi.org/10.1029/2019WR026092

Thai PBS. (2560). “ผังเมือง” สาเหตุอุทกภัยใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช. Thai PBS. Retrieved from https://news.thaipbs.or.th/content/259296

Thairath. (2012, March 7). น้ำท่วมเอาอยู่ “ปู” รับประกัน ฟุ้งไทยเจ๋งสุด. Thairath. Retrieved from https://www.thairath.co.th/content/243673

World Bank. (2012). Thai flood 2011: Rapid assessment for resilient recovery and reconstruction planning : Overview [Text/HTML]. Washington, DC: World Bank. Retrieved from World Bank website: https://documents.worldbank.org/en/publication/documents-reports/documentdetail/677841468335414861/Overview

Zhou, L., Wu, X., Xu, Z., & Fujita, H. (2018). Emergency decision making for natural disasters: An overview. International Journal of Disaster Risk Reduction27, 567–576. https://doi.org/10.1016/j.ijdrr.2017.09.037

กรมอุตุนิยมวิทยา. (2012). ปริมาณฝนและสภาวะอากาศฤดูฝน 2554. กรมอุตุนิยมวิทยา.

กรุงเทพธุรกิจ. (2564). แม่สลองใน จ.เชียงราย น้ำท่วมฉับพลัน ชาวบ้านปีนหลังคาหนีน้ำ. Retrieved August 19, 2021, from Https://www.bangkokbiznews.com/ website: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/954296

ข่าวสด. (2564). ฝนถล่มเชียงราย น้ำป่าทะลักท่วมแม่สาย ไม่ทันตั้งตัว หนักสุดในรอบ 5 ปี. ข่าวสด. Retrieved from https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6558502

ทวิดา กมลเวชช. (2011). มหัศจรรย์ของอุทกภัยแบบไทยไทย. สถาบันพระปกเกล้า9(3).

ทวิดา กมลเวชช. (2554). คู่มือการจัดการภัยพิบัติท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

ไทยรัฐออนไลน์. (2020, October 18). น้ำท่วมโคราช น้ำจากเขาใหญ่ไหลท่วมปากช่องซ้ำรอบ 2 ระดับน้ำเพิ่มเรื่อยๆ. www.thairath.co.th. Retrieved from https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1955605

ประชาชาติธุรกิจ. (2564). แม่สอดยังวิกฤตระดับน้ำสูง เจ้าหน้าที่แจ้งหวั่นล้นท่วมเมือง. ประชาชาติธุรกิจ. Retrieved from https://www.prachachat.net/local-economy/news-727267

รอยล จิตรดอน. (2560). สถานการณ์ฝนและน้ำประเทศไทย. Journal of Vocational Institute of Agriculture1(1), 1–9.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562. กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

Last Updated on พฤศจิกายน 11, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น