รายงานของ WHO ระบุว่า แม้ประเด็นสุขภาพจิตได้รับความสนใจมากขึ้น แต่มีการใช้เงินลงทุนเฉลี่ยแค่ 2% จากรายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐ

รายงาน ‘Mental Health Atlas 2020‘ ขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด เผยให้เห็นความล้มเหลวบางประการของบริการสุขภาพจิตทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนต้องการการดูแลทางด้านจิตใจมากขึ้นและเร่งด่วนขึ้น แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตทั่วโลกยังคงไม่มากพอ

Mental Health Atlas หรือ แผนที่ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตระดับโลก คือ รายงานที่ฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบันของระบบสุขภาพจิตทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูล/สถิติด้านบริการสุขภาพจิต นโยบายด้านสุขภาพจิต กฎหมาย การจัดสรรเงินทุนงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำขึ้นทุก ๆ 3 ปี โดยฉบับล่าสุดนี้มีได้รวบรวมข้อมูลของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 171 ประเทศ (จากทั้งหมด 194 ประเทศ/รัฐ) มีข้อค้นพบที่สำคัญ ระบุว่า ทั่วโลกให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การบริการด้านสุขภาพจิตยังขยายตัวไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนงบประมาณเงินทุนที่ใช้จ่ายเพื่อพัฒนางานด้านบริการสุขภาพจิต จากข้อมูลพบว่ารายจ่ายสาธารณะ (public expenditure) ด้านสุขภาพจิตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องค่าเฉลี่ยระดับโลกของรายจ่ายของรัฐด้านสุขภาพจิตยังคงที่อยู่ที่ประมาณ 2% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของรัฐบาล และต่ำลงไปกว่านี้ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

นอกจากนี้ แม้จะมีถึง 80% ของประเทศที่มีการรวบรวมข้อมูลในเอกสารนี้ รายงานว่าการดูแลและรักษาผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตขั้นรุนแรงนั้นครอบคลุมในระบบประกันสุขภาพของชาติหรือระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาคืนและในประกันของบริษัทเอกชนสำหรับบริการสุขภาพจิตผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก แต่อุปสรรคใหญ่อีกประการในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต คือสัดส่วนของบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดระหว่างกลุ่มประเทศแต่ละระดับรายได้ โดยจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 13 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศรายได้น้อย อยู่ที่น้อยกว่า 2 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่มีถึงมากกว่า 60 คนต่อประชากร 100,000 คนในประเทศรายได้สูง

เอกสาร Mental Health Atlas 2020 เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2021 อ้างอิงจากข้อมูลระดับชาติของปี 2019 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ประเทศในการพัฒนาและวางแผนการบริการด้านสุขภาพจิตให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น

อ่านข้อค้นพบอื่น ๆ ของรายงาน ‘Mental Health Atlas 2020’ ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
- (3.c) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

ที่มา :
WHO report highlights global shortfall in investment in mental health (WHO)
WHO Atlas Sets Benchmarks for 2030 Targets on Mental Health (SDG Knowledge Hub)

Last Updated on ตุลาคม 15, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น