SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่

ขณะที่การศึกษาใหม่ต้นปีนี้ชี้ว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรโลกในปี 2564 เป็นอุณหภูมิสูงที่สุดที่มีการบันทึกมา 6 ปีติดต่อกัน โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกระทำโดยกิจกรรมของมนุษย์ เป็นอีกประเด็นใหญ่สะท้อนผลกระทบที่ตามติดกันมาอย่างพัลวัน ทั้งอากาศสุดขั้วบนบกและที่เกิดขึ้นจากมหาสมุทร ตัวเร่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ การก่อกวนระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัย การคร่าสปีชีส์สิ่งมีชีวิตในทะเล ถึงความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร กระนั้น ทะเลและมหาสมุทรยังเผชิญกับการปนเปื้อนมลพิษอย่างไม่ขาดสาย จากน้ำเสีย ขยะ เม็ดไมโครพลาสติก และล่าสุดในกรณีของอ่าวไทยที่จำต้องโอบรับคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากกิจการปิโตรเลียมในทะเล ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยหากนับจากปี 2517 จนถึงเหตุการณ์นี้ เฉพาะน่านน้ำทะเลไทยเองได้ประสบกับเหตุน้ำมันรั่วไหลอย่างน้อยที่สุด 240 ครั้ง ตามข้อมูลที่ Greenpeace รวบรวมไว้

เช่นเดียวกับการปรองดองสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศบนบกและระบบน้ำจืดบนแผ่นดิน ทะเลและมหาสมุทรที่มีคุณภาพและมีผลิตภาพ โดยเฉพาะตามมิติการประเมินของ Ocean Health Index ย่อมจะนำมาซึ่ง “ความปลอดภัย” และศักยภาพในการเติบโตเช่นกัน เพราะทะเล มหาสมุทร และพื้นที่ชายฝั่งมีพื้นที่คิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นผิวโลกและเป็นผืนน้ำ 97% ของน้ำทั้งหมดบนโลก เป็นหนึ่ง “ระบบนิเวศ” ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

SDG Updates ฉบับนี้ ชวนสำรวจดูบทบาทและประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทรที่มีต่อประเด็นการพัฒนา รวมถึงความคืบหน้าของการลงมือทำ เพื่อย้ำใจความหลักของ #SDG14 ว่า จะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู ไปพร้อมกับ “การใช้ประโยชน์” จากทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ตามย่อหน้าที่ 158 ของเอกสารผลลัพธ์ในฐานะตัวกำหนดวาระการพัฒนา 2030 ที่เรียกว่า “The Future We Want”


เอกสารผลลัพธ์การประชุม Rio+20 “The Future We Want” ย่อหน้าที่ 158

“ เราตระหนักว่ามหาสมุทร ทะเล และพื้นที่ชายฝั่ง เป็นองค์ประกอบสำคัญและบูรณาการกับระบบนิเวศของโลก ดังนั้น จึงสำคัญยิ่งที่จะต้องรักษาให้ยั่งยืน ตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) เป็นกรอบกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรอย่างยั่งยืน เราเน้นย้ำความสำคัญของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรของมหาสมุทรและทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายรวมถึงบทบาทที่มีต่อการขจัดความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร ความเป็นอยู่และงานที่มีคุณค่า ไปพร้อมกับการปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการจัดการกับปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เราจึงให้คำมั่นที่จะปกป้อง ฟื้นฟู และให้มหาสมุทรและระบบนิเวศทางทะเลคงไว้ซึ่งสุขภาพ ผลิตภาพ และความสามารถในการพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง [เราให้คำมั่นที่จะ] รักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและสำหรับคนรุ่นอนาคตอย่างยั่งยืน [เราให้คำมั่นที่จะ] ใช้แนวทางตามระบบนิเวศและวิธีการป้องกันในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และ [เราให้คำมั่นที่จะ] ดำเนินการทั้ง 3 มิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน ”

บทบาทความสำคัญและประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทร

| ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีของมนุษย์

ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตยารักษาโรค คิดเป็น 16% ของแหล่งโปรตีนเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกที่อุดมไปด้วยโภชนาการอาหารที่ดี และเป็นแหล่งอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงพืชผลและสัตว์ซึ่งมนุษย์บริโภคเป็นอาหารด้วย เท่ากับไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารจากทะเลหรือแหล่งอาหารจากบนบก และไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ล้วนอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่สัมพันธ์กับทะเลและมหาสมุทร และกล่าวได้ว่า อุบัติการณ์หรือปรากฏการณ์ใดที่กระทบต่อสุขภาพของทะเลย่อมจะย้อนกลับมากระทบต่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ของมนุษย์

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบการผลิตอาหารจากสัตว์บกที่ต้องใช้ปริมาณน้ำและอาหารเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก แต่ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนจำนวนไม่น้อย หากมีการบริหารจัดการและรักษาสภาพทะเลและมหาสมุทรให้ดี จะเป็นอีกแหล่งการผลิตอาหารที่ช่วยเติมเต็มให้กับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

| ความเป็นอยู่และงานที่มีคุณค่า เศรษฐกิจ พลังงาน และเส้นทางขนส่ง

ประชาชนมากกว่า 3 พันล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลและพื้นที่ชายฝั่งในการดำรงชีวิต ทะเลและมหาสมุทรจึงสัมพันธ์กับวิถีความเป็นอยู่และอาชีพ โดยการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรจากทะเลและมหาสมุทรสามารถช่วยขจัดความยากจนลงได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังชี้ว่าภายในปี 2573 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทรจะสร้างงานให้กับประชากรโลกมากกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการประมง ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กระแสน้ำและคลื่นลมตามชายฝั่งยังช่วยกังหันลมผลิตไฟฟ้า แร่ธาตุในท้องทะเลที่เข้มข้นกว่าพื้นดินอยู่มากกลายเป็นที่ต้องการในการผลิตแบตเตอรี่ ทะเลและมหาสมุทรยังถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งโลจิสติกส์ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ โดยสินค้าที่ค้าขายระหว่างประเทศ 80% ได้ใช้เส้นทางนี้ อย่างไรก็ดี ภาพฝันของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์จากทะเลและมหาสมุทรจะหยุดชะงักลง หากไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพและผลิตภาพของทะเลและมหาสมุทร

| วัฏจักรน้ำ ออกซิเจนที่เราใช้หายใจ และอ่างกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งของออกซิเจนในโลก และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าชั้นบรรยากาศถึง 50 เท่า โดยเป็นผลมาจากแพลงก์ตอนและพืชน้ำในมหาสมุทรที่ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สังเคราะห์แสง และปล่อยออกซิเจนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ

ขณะที่น้ำในทะเลและมหาสมุทรจะระเหยเมื่อรับความร้อนจากแสงอาทิตย์และคลื่นความร้อน เป็นการเพิ่มอุณหภูมิของอากาศ (air) เพิ่มความชื้น ทำให้เมฆก่อตัว และทำให้เกิด “สภาพอากาศ” (weather) โดยก้อนเมฆเหล่านั้นจะเคลื่อนย้ายไปยังผืนดิน และกลายเป็นฝนที่ตกลงมา เป็นน้ำที่ถูกดูดซับไว้หมุนเวียนในผืนดินก่อนที่จะไหลกลับสู่มหาสมุทรอีกครั้งเป็น “วัฏจักรน้ำ” และควบคุมให้ “วัฏจักรคาร์บอน” อยู่ในจุดสมดุล หากไม่มีกระบวนการที่ว่านี้แล้ว หลายพื้นที่ในโลกอาจกลายร่างเป็นทะเลทราย

| ตัวควบคุม “ภูมิอากาศ” (climate)

นอกจากทะเลและมหาสมุทรสัมพันธ์กับวัฏจักรน้ำและสภาพอากาศตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังเป็นที่ดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ถึง 98% ตามข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (US National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุว่า “ความร้อนมากกว่า 90% ที่โลกรองรับไว้ในห้วงมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา มีทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งรองรับ” โดยความร้อนที่ทะเลและมหาสมุทรไม่ว่าจากจุดใดของโลกได้ดูดซับไว้ จะเคลื่อนย้ายไปตามคลื่นทะเลจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ จากเส้นศูนย์สูตรจนถึงขั้วโลก ทำให้เกิดเป็นรูปแบบของ “ภูมิอากาศ”

| แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ

บทบาทและประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทรไม่ได้สะท้อนผ่านการมี “อาหารทะเล” ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมเสิร์ฟบนจานแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์น้ำ และการค้นหา “กำเนิดของชีวิต” (origin of life) กระนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของทะเลและมหาสมุทรที่กว้างใหญ่และลึก ยังเป็นพื้นที่ลึกลับที่จะต้องมีการสำรวจ ศึกษา และทำความเข้าใจอีกมาก เช่น คำถามว่ามีสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลกี่ชนิดและมีอยู่จำนวนเท่าใด เป็นต้น

| สถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่พักผ่อน

เช่นเดียวกับการศึกษาที่ชี้ว่า การอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวสามารถช่วยเยียวยาสุขภาพกายและจิตใจได้ การอยู่ใกล้ชิดกับทะเลและมหาสมุทรก็ทำให้เรามีความสุข สงบ ความเครียดลดลง และสุขภาพดีขึ้น จากภูมิทัศน์และเสียงของคลื่นที่ช่วยผ่อนคลาย ตลอดจนการใช้ทะเลและมหาสมุทรเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำหรือการพายเรือคายัค

องค์ความรู้สมุทรศาสตร์กับการทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

สังเกตได้ว่า เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจสภาพความเป็นไป ความสำคัญ และประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทรได้หากปราศจากองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะล้วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในตัวของทะเลและมหาสมุทรเอง การมีอยู่ของวัฏจักรน้ำและคาร์บอน รูปแบบของสภาพอากาศและภูมิอากาศ ไปจนถึงการมีอยู่ของอาหาร โดยที่ปัญหายังมีมากมายทั้งความเป็นกรดในมหาสมุทร และการทำให้เกิดพายุไซโคลนและเฮอร์ริเคน เป็นต้น

ในทศวรรษสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อันดับแรกที่โลกพยายามจะเคลื่อนหน้าไปอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับมหาสมุทร (Ocean Literacy) กล่าวคือ การตระหนักว่าทะเลและมหาสมุทรส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร และผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อทะเลและมหาสมุทรเป็นอย่างไรไปจนถึงการพัฒนาองค์ความรู้สมุทรศาสตร์ (Ocean Science) ที่เป็นการบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทร (oceanography) ชีววิทยา เคมีวิทยา ฟิสิกส์ วิศวกรรม ธรณีวิทยา และโบราณคดี โดยที่เริ่มมีพัฒนาการทาง “เทคโนโลยี” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ในการทำความเข้าใจทะเลและมหาสมุทรได้ดีขึ้น และตั้งแต่ทศวรรษที่ 2533 รัฐบาลและนักวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาได้ให้ความสำคัญกับการติดตามทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นพร้อมกับพัฒนาเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะต่างตระหนักว่าจะไม่สามารถตัดสินใจในประเด็นการพัฒนาได้โดยไร้ข้อมูล หรือเป็นการตัดสินใจที่ในท้ายที่สุดอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและต่อความเป็นอยู่ของประชากร การมีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์จะช่วยให้รู้ว่ามนุษย์จะต้องปกป้องอะไร ควรขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPAs) ออกไปในบริเวณใด และอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งใดอย่างไร รวมทั้งจะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้อย่างรัดกุมโดยเฉพาะหากเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภายในมหาสมุทร หรือวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างการรั่วไหลของน้ำมัน ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการขององค์ความรู้

กระนั้น มากกว่า 80% ของมหาสมุทรยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการออกสำรวจและทำการศึกษา ดร. Gene Carl Feldman นักสมุทรศาสตร์ประจำศูนย์ Goddard Space Flight ของ NASA กล่าวว่า “การส่งคนไปอวกาศยังง่ายกว่ามาก มากกว่าที่จะส่งคนไปยังพื้นมหาสมุทร” เพราะมหาสมุทรมีความลึกมากและอยู่ในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ทั้งอุณหภูมิที่เย็นยะเยือก และมีแรงดันมหาศาลหรืออาจจะมากกว่าแรงดันผิวทะเลถึง 1,000 เท่า ในแง่นี้ ทะเลและมหาสมุทรได้กลายเป็นพื้นที่เปราะบางจาก “ความไม่รู้” ของมนุษย์ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงความพยายามในการศึกษาระยะยาว การทำวิจัยทางทะเลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ย่อมมีข้อจำกัดในด้านขีดความสามารถและเงินทุนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นอกจากความพยายามในระดับประเทศและความร่วมมือในระดับภูมิภาค SDGs ตระหนักถึงข้อนี้โดยได้ระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่มีขีดความสามารถมากกว่า ควรให้การสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและเงินทุนเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลทางทะเลและมหาสมุทร

3 เทรนด์การลงมือทำสะท้อนว่าทะเลและมหาสมุทรคือความหวังใหม่

01 – เข้าใจโลกโดยการออกสำรวจที่พยายามไปให้สุดถึงท้องทะเลลึก (deep sea / deep ocean)

ข้อมูล (information) ที่ได้จากการสำรวจจะช่วยให้เรามี Ocean Literacy มากขึ้น ส่วนข้อมูลเชิงลึก (insights) ก็จะช่วยให้เข้าใจว่าจะต้องตอบสนองต่ออุบัติการณ์อย่างการเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ และภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไร ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า 90 – 95% ของทะเลลึกยังไม่มีการสำรวจ และเรียกได้ว่าเป็น “ปราการสุดท้าย” ของโลก (planet’s final frontier)

คำว่า “ทะเลลึก” สำหรับนักวิทยาศาสตร์ หมายถึง ส่วนที่ต่ำที่สุดหรือลึกที่สุดของมหาสมุทร ซึ่งอยู่ใต้เส้นเทอร์โมไคลน์ (thermocline) ที่เป็นเส้นกั้นน้ำอุ่นกับน้ำเย็น แต่อยู่เหนือพื้นทะเลหรือก้นทะเล (sea floor) นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่าทะเลลึกเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยส่วนที่ลึกที่สุดของทะเล คือ แชลเลนเจอร์ดีป (Challenger Deep) ที่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ซึ่งมีระดับความลึก 10,994 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หากเปรียบเปรยเป็นการยกภูเขาเอเวอเรสต์ (Mount Everest) ไปวางไว้ที่แชลเลนเจอร์ดีป คาดว่าจะยังมีพื้นที่เหลืออีกมากกว่า 1.6 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการเริ่มออกสำรวจทะเลลึกและเทคโนโลยี ที่
Deep Sea Exploration History and Technology (ThoughtCo)
มนุษย์สำรวจจุดลึกสุดของทะเลน้อยกว่าเหยียบดวงจันทร์ แต่นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำ (a day)

คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ (Intergovernmental Oceanographic Commission: IOC) ย้ำถึงความจำเป็นว่า การสำรวจและพัฒนาองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศทะเลลึกให้มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนแต่ก็มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในขาของการปกป้องความอุดมสมบูรณ์และในขาของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่กิจกรรมเปิดรับข้อเสนอ “โซลูชันด้านสมุทรศาสตร์” ก็มีโจทย์ว่าด้วยการออกสำรวจทะเลลึกด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากหัวข้อการจัดการกับมลพิษทางทะเลและเทรนด์การศึกษาความเชื่อมโยงของมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไม่นานมานี้ การขยับตัวของ NASA เป็นอีกหนึ่งสลักสำคัญสะท้อนว่า เราอาจรู้จักดาวอังคารและดวงจันทร์มากกว่าพื้นทะเลที่อยู่บนโลกของเราเอง ในทางหนึ่ง การหันมาให้ความสำคัญกับทะเลลึกมากขึ้นเป็นการทะลายขีดจำกัดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วที่สุดบนโลกอย่าง “ทะเลลึก”

02 – การพยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยใช้มหาสมุทรเป็นเครื่องมือ

ตามปกติแล้วการพยากรณ์อากาศจะประเมินจากความแปรปรวนอากาศ อย่างไรก็ดี ความแปรปรวนของมหาสมุทร (ocean variability) หรือ “สภาพอากาศมหาสมุทร” (ocean weather) อาทิ อุณหภูมิผิวทะเล ความเค็ม และความหนา สามารถส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของมนุษย์และระบบนิเวศทางทะเลและบนบกอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การก่อให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่ง การก่อกวนโครงสร้างพื้นฐานรอบชายฝั่งทั่วโลก การเคลื่อนที่ของน้ำแข็งทะเล (sea ice) ย่อมกระทบต่อการขนส่งโลจิสติกส์ และคลื่นความร้อนจากทะเลยังรบกวนชุมชนชาวประมงในบริเวณนั้น เป็นต้น ดังนั้น การทำความเข้าใจสภาพอากาศมหาสมุทรเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการพยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ “ล่วงหน้า” จะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้ เป็นการอนุรักษ์และรักษา “ความปลอดภัย” ของทุกสิ่งมีชีวิต

การพยากรณ์อุณหภูมิมหาสมุทรตามฤดูกาลยังเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับระบบนิเวศทางทะเลหรือระบบนิเวศน้ำเค็ม (marine ecosystems) ได้ดีขึ้น ยังเป็นผลดีต่อการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ (aquaculture) รวมถึงการวางแผนเส้นทางและระยะเวลาการเดินเรือ ทั้งนี้ อย่างกรณีของออสเตรเลียพบว่ามีการพยากรณ์อุณหภูมิมหาสมุทรและความเครียดจากความร้อน (thermal stress) อยู่หลายสัปดาห์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับกรณีปะการังฟอกขาวในบริเวณ Great Barrier Reef ด้วย

กลับมาดูตัวอย่างของสหรัฐฯ ซึ่งมีพายุเฮอร์ริเคนเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของมนุษย์ตามพื้นที่รอบชายฝั่ง และยังทำให้สูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจคิดเป็นหลายหมื่นล้านบาทต่อปี การมีองค์ความรู้เฉพาะทางและเทคโนโลยีจึงเท่ากับการมีศักยภาพในการพยากรณ์ปัจจัยที่ทำให้มหาสมุทรปรวนแปรหรือเกิดพายุเฮอร์ริเคนอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบของคลื่น ลม และอุณหภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนตอบสนองและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เริ่มทดลองใช้ “โดรนสำหรับใช้บนผิวน้ำ” ในชื่อ “Saildrone” เพื่อสนองต่อจุดประสงค์ดังกล่าว

ในฟากของเอเชีย นอกจากความตื่นตัวในเรื่องมลพิษทางทะเลและเม็ดไมโครพลาสติก ปลายปี 2562 จีน และ 8 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ South China Sea Tsunami Advisory ในทะเลจีนใต้ ที่มีความเปราะบางต่อสึนามิ เป็นความพยายามพยากรณ์ภัยพิบัติล่วงหน้านำโดยจีน โดยศูนย์ดังกล่าวยังเป็น 1 ใน 10 ศูนย์ของ Global Tsunami Warning System ภายใต้องค์การ UNESCO ด้วย

03 – เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue economy)

ทะเลและมหาสมุทรมีคุณประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ รายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ประเมินว่าการส่งออกจากอุตสาหกรรมที่มีฐานจากทะเลและมหาสมุทรมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุตสากรรมที่ใหญ่ที่สุดในปี 2561 ตกเป็นของการท่องเที่ยวทางทะเล ตามมาด้วยเทคโนโลยีระดับสูงทางทะเล และบริการขนส่งทางทะเล

ข้อมูลรวบรวมโดยกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง อธิบายว่าทะเล มหาสมุทร และพื้นที่ชายฝั่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันในหลายมิติและยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นแนวคิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” ที่คำนึงถึงสมดุลของมูลค่า/การเติบโตทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม/ระบบนิเวศทางทะเล และสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะภูมิสังคมของชุมชนที่พึ่งพิงทะเลและมหาสมุทรเป็นวิถีชีวิต เรียกว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตอบโจทย์ทุกใจความสำคัญของ #SDG14 ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และยังเป็นโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “บทบาทและธรรมาภิบาลของภาครัฐ” ในการสนับสนุนเพื่อดูแลและรักษาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากทะเล มหาสมุทร และพื้นที่ชายฝั่ง โดยดำเนินการอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตัวอย่างกรณีของแคนาดา ซึ่งมีแนวชายฝั่งยาวที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของท้องทะเลถึงสามแห่ง เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โดยพยายามปูพื้นฐานให้ประเทศมีองค์ความรู้ในท้องทะเลของตนเอง พัฒนาเครือข่ายการเก็บข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงสู่การออกแบบเศรษฐกิจให้เหมาะสม ทำให้แคนาดามีเครื่องมือสำหรับใช้ประโยชน์ทางทะเล ชุดความรู้ที่พร้อมต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน รวมถึงการสร้างงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจสีน้ำเงินด้วย อย่างไรก็ดี แคนาดาตระหนักดีว่า จะต้องอาศัย “นโยบายสาธารณะ” ที่ฉลาดร่วมกับการสนับสนุนงานวิจัยและการลงทุนในภาคมหาสมุทร


ทิ้งท้าย

หากตั้งต้นด้วยสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ ก็ไม่อาจบรรลุได้โดยปราศจากการปกป้องและอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งหมดของโลก การจะคงให้ระบบนิเวศทางทะเล มหาสมุทร และชายฝั่งมีสุขภาพและผลิตภาพที่ดี ต้องอาศัยการมองอย่างเป็นองค์รวมกับองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยสามขาของผลประโยชน์ที่จะได้รับ – เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม – จะต้องมาจากการออกไปสำรวจและศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่เป็นการทำลายล้าง

อย่างไรก็ดี บทความจาก Conversation ตั้งข้อสังเกตว่า การตระหนักรู้และความเข้าใจในทะเลและมหาสมุทรในชีวิตประจำวันยังมีไม่มากนัก และไม่มีบทสนทนาหรือความมุ่งมั่นทางการเมืองใดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะ พรรคการเมืองแทบจะไม่ได้พูดถึงโอกาสและความสำคัญของระบบนิเวศนี้ ทะเลและมหาสมุทรกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกพูดถึงภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลทั่วโลก มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกระทรวงซึ่งทำหน้าที่จัดการกับประเด็นทะเลและมหาสมุทรเป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น Ministry of Oceans and Fisheries ในเกาหลีใต้และ Ministry of Fisheries, Oceans, and the Canadian Coast Guard ในแคนาดา ทว่าการมีกระทรวง “มหาสมุทร” อยู่ในโครงสร้างของรัฐบาลย่อมหมายถึงการให้ความสำคัญต่ออนาคตที่จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยมหาสมุทร และจะนำมาซึ่งการอนุรักษ์ไม่ให้ทิ้งขยะ คราบน้ำมัน และมลพิษลงสู่ชายฝั่งและมหาสมุทร การสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำที่ดำเนินการโดยชุมชน ฯลฯ

Vladimir Ryabinin นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเลขานุการบริหารของ IOC ย้ำว่า การจะไปสู่อนาคตโดยใช้มหาสมุทรนั้น สำคัญที่จะต้องเป็นมหาสมุทรที่บริหารจัดการโดยวิทยาศาสตร์ เป็น “The science we need for the ocean we want” เพื่อที่ภายในปี 2573 เราจะมีความรุดหน้าทั้งด้านการขจัดแหล่งมลพิษทางทะเล การปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การเก็บเกี่ยวแหล่งอาหารจากทะเลอย่างยั่งยืน การพยากรณ์และการปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเทคโนโลยีทางทะเล และการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางทะเลและมหาสมุทรได้


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการที่ดี
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี

#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน

#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทะเลและมหาสมุทร ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล เพื่อจะพัฒนาคุณภาพของมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล

แหล่งอ้างอิง
In hot water: Ocean warming hits another record high on climate change (Mongabay)
#น้ำมันรั่วChevronSPRC หายนะทะเลไทย และคำถามสำคัญต่อภาระรับผิดของอุตสาหกรรมฟอสซิล (greenpeace)
Oceans & Seas (UN SDGs)
Here are 5 reasons why the ocean is so important (World Economic Forum)
Why Is the Ocean Important (Ocean Conservation Trust)
Ocean science for sustainable development: Facts and figures (SciDev)
Why does so much of the ocean remain unexplored and unprotected? (oceana)
Why Nasa is exploring the deepest oceans on Earth (BBC)
Why should we care about the ocean? (NOAA US)
Unlocking the ocean’s role driving hurricanes (NOAA US)
The Benefits of Better Ocean Weather Forecasting (eos)
Ocean economy offers a $2.5 trillion export opportunity: UNCTAD report (UNCTAD)
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินในบริบทของประเทศไทย (กรมประมง)
Modern governments all need a ministry of the oceans – here’s why (Conversation)
What is the UN decade of ocean science hoping to achieve? (China Dialogue Ocean)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น