Whooshh Innovations กับภารกิจ “ลำเลียงปลาผ่านท่อส่ง” ที่ทะลายข้อจำกัดจากสิ่งกีดขวางเส้นทางปลา

“ปลาสายพันธุ์ท้องถิ่น” เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารหนึ่ง ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครอง เช่นเดียวกับกับปลาหลายล้านตัว อาทิ ปลาแซลมอน ที่ต้องอพยพทวนน้ำหลายกิโลเมตรเพื่อไปวางไข่ในทุกปีโดยยังเผชิญกับการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างผลกระทบจากที่ตั้งของเขื่อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

Whooshh Innovations ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐฯ เห็นปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นด่วนที่จะต้องหาทางให้ “ปลา” เหล่านี้เดินทางได้อย่างปลอดภัย จึงได้ออกแบบนวัตกรรม “ท่อปืนใหญ่ส่งปลา” (fish canon tube) เพื่อลำเลียงปลาท้องถิ่นให้สามารถกลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยของตนได้อย่างปลอดภัย โดยที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เขื่อนขนาดเล็กหรือใหญ่ และระดับของน้ำจะไม่เป็นอุปสรรคขวางการอพยพอีกต่อไป ขณะเดียวกับที่ตัวท่อส่งปลาจะสกัดปลาต่างถิ่นออกไปจากเส้นทางนั้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีของ Whooshh ซึ่งพัฒนาบนฐานของงานศึกษาวิจัยเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2556 ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ช่วยเคลื่อนย้ายปลาในพื้นที่เพาะเลี้ยงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำได้ด้วย

อันที่จริง Whooshh Innovations มีรากฐานมาจากภาคเกษตรกรรม จึงเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม น้ำและพลังงาน กระทั่งในปี 2554 ได้เริ่มทดสอบนวัตกรรมของตนเองกับปลา หลังจากนั้นจึงหันมาให้ความสำคัญมุ่งพัฒนาทรัพยากรและนวัตกรรม สร้างโซลูชันในเรื่องของปลาและที่เกี่ยวกับปลาเป็นหลักตั้งแต่ปี 2556

ขณะที่ออกแบบระบบขนส่งปลา Whooshh จะประเมินความสำเร็จของวิธีการท่อส่งปลาดังกล่าวว่าจะช่วยให้ปลา “มีชีวิตรอด” หรือไม่ ระยะเวลาที่ใช้เหมาะสมหรือไม่ ระหว่างการลำเลียงนั้นมีความเป็นไปได้ที่ปลาจะติดเชื้อโรค หรือทำให้ปลาเครียดและมีพฤติกรรมแปลกไปหรือไม่ เป็นต้น โดยท่อส่งที่ออกแบบมานั้น จะต้องเอื้อให้ปลายังคงว่ายในท่อได้ตามธรรมชาติ ภายในตัวท่อส่งมีแรงดันที่เหมาะสมและพื้นผิวที่ “ลื่น” โดยที่ยังปกป้องตัวปลาจากปลาต่างถิ่นอื่น ๆ รวมทั้งสภาพที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างทาง

Whooshh ยังพัฒนาระบบที่เรียกว่า FishL Recognition Scanner ที่จะเก็บรูปภาพและข้อมูลปลายทางเมื่อปลาถูกลำเลียงถึงที่หมาย เพื่อที่จะนำมาศึกษาวิเคราะห์โดยคอมพิวเตอร์ ให้ได้เป็นข้อมูลลักษณะของปลาที่มีอยู่ในแหล่งน้ำ ลักษณะของแหล่งที่อยู่อาศัยนั้น ๆ รวมถึงว่าหากระบบตรวจพบเจอปลาต่างถิ่นที่รุกราน จะสามารถสกัดคัดแยกออกไปไม่ให้ถูกลำเลียงไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยที่จะกระทบกับปลาท้องถิ่น นอกจากนี้ ในกระบวนการของ Whooshh ยังได้พยายามจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังงานน้ำด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดบนแผ่นดิน
-(15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
-(15.8) นำมาตรการมาใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าและลดผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในระบบนิเวศบกและน้ำและควบคุมหรือขจัดชนิดพันธุ์ที่มีลำดับความสำคัญ ภายในปี 2563

แหล่งที่มา:
“Salmon cannon” successor automatically shoots fish up over dams (newatlas)
Better fish passage is important (Whooshh)
This is whooshh innovations (Whoosh)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 17, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น