ญี่ปุ่นพิจารณาให้บริษัทระบุข้อมูลรายได้เฉลี่ยตามเพศในรายงานประจำปี เพื่อลดช่องว่าง – สร้างความเท่าเทียม

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาข้อกำหนดให้บริษัท/องค์กรเปิดเผยข้อมูลรายได้เฉลี่ยของพนักงานโดยแบ่งตามเพศ รวมถึงสัดส่วนพนักงานหญิงในตำแหน่งระดับผู้จัดการในรายงานผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อส่งเสริมความพยายามในการลดช่องว่างรายได้และสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิง โดยการเปิดเผยข้อมูลนี้คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติจริงเร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะตรงกับเดือนเมษายนในปีดังกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ ระบุว่ารัฐบาลยังกำลังพิจารณาให้บริษัท/องค์กรแสดงตัวชี้วัดด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศในองค์กรอื่น ๆ เช่นกัน อาทิ สัดส่วนของพนักงานเพศชายที่ใช้สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร

“ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศชายและหญิงเป็นหนึ่งในปัญหาการเงินและเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถรับรู้ได้ถึงปัญหานี้” เจ้าหน้าที่รัฐบาลท่านหนึ่งกล่าว โดยการเปิดเผยข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นเพื่อลดความแตกต่างระหว่างรายได้ รวมถึงการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมมากขึ้นให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2563 ได้ระบุว่าพนักงานหญิงที่ทำงานเต็มเวลาได้รับเงินเดือนเฉลี่ยที่ 251,800 เยน (ประมาณ 68,000 บาท) ต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 75% เมื่อเทียบกับเงินเดือนที่พนักงานชายที่ทำงานเต็มเวลาได้รับ เฉลี่ยอยู่ที่ 338,800 เยน (ประมาณ 92,000 บาท)

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจช่องว่างรายได้ระหว่างเพศโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ยังชี้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศชายและหญิงสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ (G7) ซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ตามดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก พ.ศ. 2564 (Global Gender Gap Index 2021) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่มีเกณฑ์ในการวัดช่องว่างระหว่างเพศผ่าน 4 กรอบมาตรฐานอย่างการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพและความอยู่รอดของชีวิต และการเสริมพลังของผู้หญิงในทางการเมืองนั้น ประเทศญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 120 จาก 156 ประเทศทั่วโลกที่ทำการสำรวจ โดยทำคะแนนได้ต่ำในด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ตลอดจนการเสริมพลังของผู้หญิงในทางการเมือง

● อ่านบทความและข่าวที่เกี่ยวข้อง 
SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021
ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) มีทั้งย่ำแย่ลง ดีขึ้นแต่ยังใช้เวลานานเกินไป และถูกกระทบเพราะโควิด-19
Global Gender Gap Report 2021 เผย 10 ประเทศที่ดีที่สุดในการเป็นผู้หญิง
จำนวนผู้หญิง = ผู้ชายในที่ทำงานยังไม่เพียงพอ: สำรวจ 6 ข้อที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายในที่ทำงาน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
Japan considering mandatory disclosure of gender wage, female manager ratio – sources (Reuters)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น