หลายเมืองใหญ่ทรุดตัวเร็วกว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงจมใต้น้ำเพราะผลของกิจกรรมมนุษย์

ข้อค้นพบจากงานวิจัยล่าสุดพบว่า หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก “ทรุดตัว” เร็วกว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยเร่งหนึ่งเป็นมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรน้ำใต้ดินที่มากเกินไป

การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Geophysical Research Letters เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2022 เปิดเผยว่า มีเมืองทั่วโลกอย่างน้อย 33 เมืองที่ทรุดตัวด้วยอัตราเร็วที่มากกว่า 1 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นต่อปีมากกว่า 5 เท่า โดยเมืองที่มีการทรุดตัวเร็วที่สุด 6 ใน 10 เมืองกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม บังคลาเทศ และอินเดีย

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพราะผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้เมืองท่าทั่วโลกเพิ่มความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำ แต่ในหลาย ๆ เมือง กิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการสูบน้ำบาดาลมาเพื่อใช้อุปโภคบริโภคมากเกินไป การขุดเจาะนำ้มันและก๊าซธรรมชาติ และการก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมืองที่มีความหนาแน่นสูง เป็นตัวเร่งที่ทำให้เมืองทรุดตัวเร็วยิ่งขึ้น

แม้การทรุดตัวของพื้นดินที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ แต่การกำหนดกฎระเบียบที่รัดกุมต่อกิจกรรมของมนุษย์สามารถช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายควบคุมการสูบน้ำบาดาลในเมืองจาร์การตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ทำให้การอัตราการทรุดตัวที่เคยสูงถึงปีละ 28 เซนติเมตรเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหลือเพียงปีละ 3 เซนติเมตรในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดรัฐบาลอินโดนีเซียจึงผ่านกฎหมายย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะบอร์เนียวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

จากผลการศึกษานี้ นักวิจัยเตือนว่า แบบจำลองในการจัดการน้ำท่วมชายฝั่งที่มีอยู่ในปัจจุบันและคำนึงถึงเฉพาะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นอาจไม่เพียงพอสำหรับการคาดการณ์ความรุนแรงและความเร็วของอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมอัตราการทรุดตัวของพื้นดินได้

● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

แหล่งที่มา: The world’s coastal cities are sinking, but not for the reason you think (Quartz)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 18, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น