SDG Updates | สำรวจศตวรรษแห่งความเหลื่อมล้ำผ่านรายงาน World Inequality Report 2022

ภัทราวุธ ภาหา

ปัจจุบัน (ข้อมูลปี 2564) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กำลังขยายช่องว่างห่างออกจากกันมากขึ้น กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของโลก ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดกำลังครอบครอง 52% ของรายได้ทั้งหมดของโลก ขณะที่กลุ่มคนที่จนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือกว่า 2.5 พันล้านคน กลับครอบครองเพียง 8.5% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของทั้งโลกแล้วพบว่า กลุ่มที่รวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 5 เท่า หากนั่นยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าตื่นตระหนกมากพอ เราควรตระหนักว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงด้าน “รายได้” แต่ได้ขยายขอบเขตไปยัง “ทรัพย์สิน” “เพศ” ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ระหว่างประเทศและภูมิภาค หรือกระทั่ง “ความเหลื่อมล้ำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ด้วยเช่นกัน กระนั้นสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้

SDG Updates ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านสำรวจสถานะและความเคลื่อนไหวของความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ของโลก ผ่านรายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2565 หรือ World Inequality Report 2022 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย World Inequality Lab ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงได้ จากการทำงานของเครือข่ายนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลก เพื่อฉายภาพสถานการณ์ ผลกระทบ และแนวโน้มทางด้านความเหลื่อมล้ำในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์ของโลกและรายภูมิภาค พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินระหว่างเพศ ความเหลื่อมล้ำกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการพิจารณามาตรการต่าง ๆ สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำ


World Inequality Lab เป็น think tank ที่ทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อมูลความเหลื่อมล้ำรายประเทศ ตั้งแต่เรื่องรายได้ ทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และรวมถึงสัดส่วนการปลดปล่อย CO2 ของแต่ละกลุ่มรายได้ นอกจากนั้น ยังมีแบบจำลองสำหรับการตั้งอัตราภาษีทรัพย์สิน หรือ Global Wealth Tax Simulator ซึ่งสามารถแสดงผลลัพธ์จำนวนเงินภาษีที่ได้ในรูปแบบต่าง ๆ

เข้าชมฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำได้ที่ World – WID – World Inequality Database
เข้าชมแบบจำลองสำหรับการตั้งอัตราภาษีทรัพย์สินได้ที่ World Wealth Tax Simulator – WID – World Inequality Database

| ความเหลื่อมล้ำทาง “รายได้และทรัพย์สิน” โดยรวมของโลก

จากข้อมูลในปี 2564 ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของโลก (จำนวนเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมด) ครอบครอง 52% ของรายได้ทั้งหมดของโลก หรือโดยเฉลี่ยแต่ละคน จะมีรายได้สูงถึง 122,100 USD ต่อปี ในขณะที่ กลุ่มคนที่จนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด (จำนวนกว่า 2.5 พันล้านคน) ครอบครองเพียง 8.5% ของรายได้ทั้งหมด หรือโดยเฉลี่ยแต่ละคนมีรายได้เพียง 3,920 USD ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของทั้งโลก กลุ่มที่รวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 5 เท่า

ด้านทรัพย์สิน [1] กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของโลก ครอบครอง 76% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของโลก (โดยเฉพาะทรัพย์สินทางการเงินอย่างหุ้นและพันธบัตร) หรือโดยเฉลี่ยจะครอบครองสินทรัพย์ถึง 771,300 USD ต่อคน ในขณะที่ กลุ่มคนที่จนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ครอบครองเพียง 2% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของโลก หรือโดยเฉลี่ยจะครอบครองสินทรัพย์เพียง 4,100 USD ต่อคนเท่านั้น และถ้าแยกทรัพย์สินที่กลุ่มคนรวยในประเทศพัฒนาแล้วถือครอง ส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์สินทางการเงินมากกว่าครึ่ง รองลงมาจะเป็นทรัพย์สินในที่อยู่อาศัย และธุรกิจอื่น ๆ ตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต หากอัตราช่องว่างของทรัพย์สินยังเพิ่มขึ้นในระดับเดิมตั้งแต่ปี 2538 และไม่มีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น (สงคราม, วิกฤตเศรษฐกิจ, ภัยธรรมชาติ) ภายในปี 2613 กลุ่มคนเพียง 0.1% จะครอบครองทรัพย์สินมากถึง 1 ใน 4 ส่วนของทรัพย์สินทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 50% ยังคงครอบครองไม่ถึง 3 – 4%

ภาพที่ 1 สัดส่วนการครองครองรายได้ และทรัพย์สินของคน 4 กลุ่ม (กลุ่มคนรวยที่สุด 1%, กลุ่มคนรวยที่สุด 10%,
กลุ่มชนชั้นกลาง 40% และกลุ่มคนจนที่สุด 50%) ซึ่งแบ่งตามระดับรายได้ในปี 2021

| ความแตกต่างด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค

จากข้อมูลระดับรายได้ที่กระจายตามแต่ละภูมิภาค จะเห็นได้ว่าภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีสัดส่วนรายได้น้อยที่สุดอยู่ที่ 31% ของค่าเฉลี่ยรายได้ของโลก ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 50% ของค่าเฉลี่ย ในส่วนละตินอเมริกา เอเชียตะวันออก รัสเซียและเอเชียกลาง สัดส่วนรายได้จะอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลก ในขณะเดียวกัน ทวีปยุโรปกลับมีสัดส่วนรายได้มากถึง 2 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก และทวีปอเมริกาเหนือครอบครองสัดส่วนรายได้กว่า 3 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก จากข้อมูลชิ้นนี้ จึงบอกได้ว่ากลุ่มประเทศอเมริกาเหนือมีสัดส่วนรายได้มากกว่าภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา กว่า 6 – 10 เท่า 

ภาพที่ 2 สัดส่วนการครอบครองรายได้ของแต่ละภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายได้ของทั้งโลกในปี 2021

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในแต่ละภูมิภาค จะพบว่าตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (MENA) เป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนรวยที่สุด 10% มีรายได้รวมกว่า 58% ของรายได้ทั้งหมดของทวีป หรือมีสัดส่วนระยะห่างของรายได้ประมาณ 32% โดยเมื่อเทียบกับทวีปยุโรปที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด คนรวยที่สุด 10% มีรายได้รวม 36% ของรายได้ทั้งหมด หรือมีสัดส่วนระยะห่างของรายได้ประมาณ 10% 

ภาพที่ 3 สัดส่วนระยะห่างของรายได้ระหว่างคนรวยที่สุด 10% กับคนจนที่สุด 50% ของแต่ละภูมิภาคในปี 2564

ภาพที่ 4 สัดส่วนการครอบครองรายได้ของแต่ละกลุ่มรายได้ตามแต่ละภูมิภาคในปี 2564

นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลความเหลื่อมล้ำของแต่ละภูมิภาคและประเทศยังแสดงให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัว (average national incomes) ไม่สามารถใช้เป็น “ตัวชี้วัด” ที่จะสะท้อนระดับความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่ถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง แต่ระดับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศก็ยังอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน

กลับมาดูที่ความเหลื่อมทางทรัพย์สิน จะยิ่งพบความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคมากกว่ากรณีของรายได้ โดยภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และละตินอเมริกา ครอบครองทรัพย์สินเพียง 20 – 50% ของค่าเฉลี่ยของโลก แต่ในกลุ่มอเมริกาเหนือครอบครองทรัพย์สินเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก และเมื่อดูที่รายกลุ่มประชากร กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ในทุกภูมิภาคจะครอบครองทรัพย์สินของแต่ละภูมิภาค เฉลี่ยประมาณ 60 – 80% ในขณะที่กลุ่มคนจนกว่าครึ่งครอบครองทรัพย์สินของแต่ละภูมิภาค เพียงไม่ถึง 5%

ภาพที่ 5 สัดส่วนระยะห่างของการครอบครองทรัพย์สินระหว่างคนรวยที่สุด 10%
กับคนจนที่สุด 50% ของแต่ละภูมิภาคในปี 2564

ภาพที่ 6 สัดส่วนการครอบครองทรัพย์สินของแต่ละกลุ่มตามแต่ละภูมิภาคในปี 2564

นอกจากนั้น รายงานชิ้นนี้ ได้วิเคราะห์ไว้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ด้วยการสะสมทรัพย์สินจากการออมและลงทุนผ่านรายได้ ซึ่งกลุ่มคนรวยย่อมสามารถทำการออม ลงทุน และได้รับผลตอบแทนที่มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า มากไปกว่านั้น นโยบายของรัฐยังมีส่วนสำคัญต่อความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน ตั้งแต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าเช่าในทรัพย์สิน การควบคุมอัตราค่าตอบแทนของทุน การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน (privatization) และรวมไปถึงนโยบายทางด้านภาษีในทรัพย์สิน

ในกรณีของประเทศไทย ตามฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลกของ World Inequality Lab ไทยมีพัฒนาการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ดีขึ้น โดยในปี 2553 กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ครอบครองรายได้กว่า 55.3% ส่วนกลุ่มคนจนที่สุด 50% ครอบครองเพียง 11.5% ซึ่งในปี 2563 มีช่องว่างลดลง โดยกลุ่มคนรวยที่สุด 10% ครอบครอง 48.8% และกลุ่มคนจนที่สุด 50% ครอบครอง 13.9%

ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน มีพัฒนาการดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในปี 2553 กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ครอบครองทรัพย์สินกว่า 75.4% ส่วนกลุ่มคนจนที่สุด 50% ครอบครองเพียง 1% ขณะที่ในปี 2563 กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ครอบครอง 74% และกลุ่มคนจนที่สุด 50% ครอบครอง 1.7%

และในด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ สัดส่วนการครอบครองรายได้จากการทำงานของผู้หญิงในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 33.5% ในปี 2553 เป็น 34.2% ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำมาก หรือหมายความได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชายภายในประเทศเป็นผู้ครอบครองรายได้มากถึงประมาณ 65% ของรายได้ทั้งหมดในประเทศ

| ประวัติศาสตร์ย่อของความเหลื่อมล้ำโลก

จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นได้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันว่ายังคงอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้ ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำ เราอาจจะได้เห็นพัฒนาการสำคัญ โดยรายงานชิ้นนี้ได้ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ช่วงปี 2363 รายได้เฉลี่ยของคนรวยที่สุด 10% สูงกว่ากลุ่มคนจนที่สุด 50% 18 เท่า และเริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2453 ระยะห่างนี้อยู่ที่ 41 เท่า และขึ้นไปสูงที่สุดกว่า 53 เท่า ในช่วงปี 2523 แต่หลังจากนั้นระยะห่างเริ่มลดลงอยู่ที่ 38 เท่าในปี 2563 จะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของศตวรรษที่ 21 ความเหลื่อมล้ำของทั้งโลกเริ่มลดลง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ กับภายในประเทศ ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศช่วงต้นศตวรรษที่ 21 กลับยิ่งเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่เริ่มลดลง แม้จะมีช่องว่างของรายได้ของคนที่ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แต่เมื่อถึงช่วงปี 1980 ช่องว่างของรายได้ของคนกลับยิ่งถีบตัวสูงขึ้น ต่างจากความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประเทศ ที่ช่องว่างรายได้ของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 1980 จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้รายงานวิเคราะห์ว่า ถึงแม้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไล่ตามกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเหล่านั้นจะลดลงตามระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาพที่ 7 พัฒนาการของช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 10% กับกลุ่มคนจนที่สุด 50%
ตั้งแต่ปี 2363 – 2563

ภาพที่ 8 พัฒนาการของช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 10% กับกลุ่มคนจนที่สุด 50%
โดยแบ่งเป็นภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2363 – 2563

ในส่วนของการครอบครองทรัพย์สิน จะเห็นได้ถึงพัฒนาการสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มคนเพียง 1% ของโลก ครอบครองส่วนเพิ่มของทรัพย์สินกว่า 38% ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 2533 แต่ในขณะที่คนกว่า 50% ครอบครองเพียง 2% เท่านั้น หรือกล่าวได้อีกว่ากลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลกจะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นประมาณ 3 – 9% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2538 แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตทรัพย์สินของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 3% เท่านั้น นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าในขณะที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด – 19 ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มคนรวยกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพที่ 9 ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินโลก และสัดส่วนการถือครองระหว่างกลุ่มรายได้
ตั้งแต่ปี 2533 – 2564

| ประเทศรวยขึ้น แต่รัฐบาลกลับจนลง

เมื่อพิจารณาจากการถือครองทรัพย์สินในภาคเอกชน (บุคคลธรรมทั่วไป, ธุรกิจ, มูลนิธิ, องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ) และของรัฐเอง (รัฐบาลส่วนกลาง และท้องถิ่น) ซึ่งครอบครองทรัพย์สินสาธารณะ เช่น โรงเรียน/โรงพยาบาลของรัฐ ถนน พันธบัตรต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อเทียบสัดส่วนทรัพย์สินต่อรายได้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ภาครัฐในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วครอบครองทรัพย์สินน้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้ถือครองเลย ทำให้เห็นได้ว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การครอบครองของเอกชน ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโต (emerging countries) อย่างรัสเซีย และจีน แม้สัดส่วนการถือครองของรัฐจะลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่ภาครัฐยังคงครอบครองทรัพย์สินอยู่สูงถึง 20 – 30% ด้วยมีมาตรการของภาครัฐที่ยังคงพยายามรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจไว้ที่รัฐ

นอกจากเอกชนจะครอบครองทรัพย์สินต่อทั้งประเทศเพิ่มมากขึ้น ทรัพย์สินของประเทศส่วนใหญ่ยังถูกครอบครองโดยต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี มีสัดส่วนหนี้สินทางการเงินกับต่างประเทศ (financial liabilities) จาก 10% ของหนี้สินทางการเงินในประเทศ ในปี 2523 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25 – 35% ในปี 2558 ทั้งนี้ จะเห็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับจีน โดยสัดส่วนเริ่มสูงขึ้นในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ (2521 – 2533) จนมาถึงหลัง 2538 ที่รัฐบาลเริ่มกลับมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ราว 5% ในปี 2558

ทั้งนี้ แนวโน้มในอนาคต การครอบครองของภาครัฐจะยิ่งลดลง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่รัฐบาลต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากถึง 10 – 20% ของ GDP หรือในทางกลับกันจะต้องลดงบประมาณสาธารณะในการให้บริการทางสังคมต่าง ๆ และปล่อยให้เอกชนเข้ามาครอบครองดำเนินการแทน ทั้งนี้ รายงานได้แสดงความกังวลว่าภายใต้การถือครองทรัพย์สินของภาครัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อศักยภาพของรัฐในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคตต่อไป

ภาพที่ 10 การถดถอยของการครอบครองทรัพย์สินของภาครัฐในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
และประเทศกำลังเติบโต ตั้งแต่ปี 2523 – 2563

ภาพที่ 11 พัฒนาการหนี้สินทางการเงินกับต่างประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศจีน
ตั้งแต่ปี 2523 – 2558

| ความเหลื่อมล้ำ “ระหว่างเพศ

ภาพรวมในระดับโลกแล้ว ผู้หญิงมีสัดส่วนการครอบครองรายได้จากการทำงาน (labor income) ประมาณ 30.6% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2533 และในปัจจุบันขยับไปอยู่ที่ 34.7% หรือก็คือผู้หญิงยังครอบครองรายได้เพียง 1 ใน 3 ของทั้งโลก และจะเห็นได้ว่าพัฒนาการในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศระดับโลกยังคงลดลงอย่างเชื่องช้า โดยสัดส่วนการครอบครองรายได้ของผู้หญิงเติบโตเพียง 4% เท่านั้น

เมื่อแยกรายละเอียดในแต่ละภูมิภาค กลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เป็นกลุ่มที่ผู้หญิงมีระดับการครอบครองรายได้ใกล้เคียงกับผู้ชายมากที่สุด เฉลี่ยราว 41% โดยประเทศมอลโดวา มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 45% ของรายได้จากการทำงาน ในขณะที่กลุ่มแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา มีสัดส่วนการครอบครองรายได้ของผู้หญิงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28% และตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% โดยมีสองประเทศที่ต่ำสุดอยู่เพียง 8% คือโซมาเลีย และชาด

ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศมีพัฒนาการของการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศแตกต่างกันไป โดยหลายทวีปมีการลดลงของช่องว่างทางรายได้อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กลุ่มละตินอเมริกาและยุโรปตะวันตก มีระดับการก้าวกระโดดของสัดส่วนรายได้ของผู้หญิง แต่ที่น่าสนใจ คือประเทศจีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับมีสัดส่วนของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศเพิ่มสูงขึ้น โดยสัดส่วนการถือครองรายได้ของผู้หญิงในจีนเริ่มลดลงมาตั้งแต่ช่วงปี 2533 จาก 39% มาเป็น 33% ในปี 2562

ภาพที่ 12 พัฒนาการสัดส่วนการถือครองรายได้จากการทำงานของผู้หญิง ตั้งแต่ปี 2533 – 2563

ภาพที่ 13 พัฒนาการสัดส่วนการถือครองรายได้จากการทำงานของผู้หญิงในแต่ละภูมิภาค
ตั้งแต่ปี 2533 – 2563

| ความเหลื่อมล้ำใน “Climate Change

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินมีความเชื่อมโยงกับสัดส่วนการมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์แต่ละคนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 6.6 ตันต่อปี หรือร่วมกันทั้งหมดแล้วในปี 2564 ปล่อย CO2 ประมาณ 50 พันล้านตัน เมื่อแบ่งตามระดับรายได้แล้ว กลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ของทั้งโลก ปล่อย CO2 มากถึง 48% ในขณะที่กลุ่มคนอีก 50% ของทั้งโลก มีส่วนในการปล่อย CO2 เพียง 12% จากทั้งหมดที่ปล่อยในแต่ละปี

เมื่อแยกออกเป็นภูมิภาค โดยรวมจำนวนที่มีการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่ช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรม (2393 – 2563) ภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นผู้ปล่อยมากที่สุดเป็นยอดสะสมรวม 27% ยุโรป 22% จีน 11% และกลุ่มแอฟริกาใต้ซะฮะราปล่อยต่ำสุดอยู่เพียง 4%  ในยุโรปกลุ่มคนจน 50% ปล่อย CO2 ประมาณ 5 ตัน/คน/ปี แต่กลุ่มคนรวย 10% ปล่อย CO2 ประมาณ 29 ตัน/คน/ปี ในอเมริกาเหนือ กลุ่มคนจน 50% ปล่อย CO2 ประมาณ 10 ตัน/คน/ปี แต่กลุ่มคนรวย 10% ปล่อย CO2 ประมาณ 73 ตัน/คน/ปี และเอเชียตะวันออก กลุ่มคนจน 50% ปล่อย CO2 ประมาณ 3 ตัน/คน/ปี แต่กลุ่มคนรวย 10% ปล่อย CO2 ประมาณ 39 ตัน/คน/ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มทวีปที่มีประเทศกำลังพัฒนา ช่องว่างการปล่อย CO2 ของประเทศร่ำรวยอยู่สูงกว่ามากโดยกลุ่มทวีปเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มคนจนที่สุด 50% ปล่อย CO2 ประมาณ 1 ตัน/คน/ปี แต่กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ปล่อย CO2 ประมาณ 10 ตัน/คน/ปี ซึ่งน้อยกว่ามาก

ดังนั้น รายงานฉบับนี้จึงได้บ่งชี้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ควรมีมาตรการที่สอดคล้องกับลักษณะของแต่ละกลุ่มรายได้แตกต่างกัน โดยได้ให้ข้อมูลอีกว่า กลุ่มคนจนที่สุด 50% ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ มีสัดส่วนการปล่อย CO2 ต่อคน อยู่ในระดับที่ตั้งไว้ในเป้าหมายของข้อตกลงปารีสภายในปี 2573 (Paris agreement 2030) ดังนั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดอุณหภูมิของโลก กลุ่มคนรวยที่สุด 10% และกลุ่มชนชั้นกลาง 40% ยังต้องเร่งการลดการปล่อย CO2 ตัวอย่างในสหรัฐฯ กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ต้องลดการปล่อย CO2 ต่อคนราว 87% และกลุ่มคนชนชั้นกลาง 40% ต้องลดราว 54% เพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 เช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นประเทศจีน ที่กลุ่มคนจนที่สุด 50% และกลุ่มชนชั้นกลาง 40% มีระดับการปล่อย CO2 ต่อคน เป็นไปตามเป้าหมายภายในปี 2573 ทำให้กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ต้องลดการปล่อย CO2 เฉลี่ย 70%

ภาพที่ 14 สัดส่วนการปล่อย CO2 ของแต่ละกลุ่มรายได้ในปี 2562

ภาพที่ 15 สัดส่วนการปล่อย CO2 ต่อคน ในแต่ละกลุ่มรายได้ และแต่ละภูมิภาค ในปี 2562

| ความเหลื่อมล้ำเป็นเพียงแค่ทางเลือก ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานชิ้นนี้ ได้ย้ำเตือนว่าการเกิดขึ้นของความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นเพียงตัวเลือกหรือเจตจำนงค์ทางการเมือง (political choice) ซึ่งสังคมเลือกที่จะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยรายงานบ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินในหลายที่ทั่วโลก เริ่มถีบตัวสูงขึ้นช่วงทศวรรษที่ 2523 อันก่อตัวไปพร้อมกับนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ ที่มุ่งลดกฎระเบียบ (deregulation) และเปิดเสรีในหลากหลายด้าน (liberalization) โดยแต่ละที่เผชิญกับระดับการเพิ่มสูงขึ้นของความเหลื่อมล้ำแตกต่างกัน อาทิ การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย ที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับยุโรป และจีน

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะช่วยการลดความเหลื่อมล้ำ คือการกระจายทรัพย์สินเพื่อการลงทุนทางสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความพร้อม ในการรับมือกับความไม่แน่นอนของโลกในอนาคต รายงานฉบับนี้ได้พยายามสำรวจนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายรายได้และทรัพย์สิน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยพร้อมรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 โดยมีการให้ข้อมูลว่าถ้ามีมาตรการการเก็บภาษีทรัพย์สินจากกลุ่มคนรวย จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐต่อการส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และการเปลี่ยนผ่านสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ความสำคัญต่อการสร้างรัฐสวัสดิการที่ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมที่เข็มแข็งและยั่งยืน

หนึ่งในข้อมูลที่ช่วยบ่งชี้ว่ามาตรการการกระจายรายได้ (redistribution) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ และนโยบายสวัสดิการทางสังคม ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลง จากการเก็บข้อมูลรายได้หลังจากการเก็บภาษีและมาตรการการช่วยเหลือทางรายได้ (transfer system) พบว่าช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 10% กับกลุ่มคนจนที่สุด 50% ในทุกภูมิภาคลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ก่อนมีการเก็บภาษี ตัวอย่างเช่นในทวีปอเมริกาเหนือ กลุ่มคนจนที่สุด 50% มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มคนรวย 10% ประมาณ 17 เท่า แต่หลังจากมีการเก็บภาษีและมาตรการช่วยเหลือทางสังคม กลุ่มคนจนที่สุด 50% มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มคนรวย 10% ลดลงเหลือประมาณ 10 เท่า

ภาพที่ 16 ค่าเฉลี่ยระดับช่องของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 10% กับกลุ่มคนจนที่สุด 50%
ภายหลังจากเก็บภาษีรายได้และมาตรการการช่วยเหลือทางรายได้ ตั้งแต่ปี 2561 – 2564

นอกจากนั้น มีการประมาณการว่าหากปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีทรัพย์สินในกลุ่มเศรษฐี (มีทรัพย์สินระหว่าง 1 ล้าน – มากกว่า 100 พันล้าน USD) เป็นรูปแบบอัตราภาษีก้าวหน้า (progressive wealth tax) โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 คิดอัตราการเก็บช่วง 1% – 3.2% จะได้จำนวนเงินประมาณ 1.6% ของรายได้ทั่วโลก รูปแบบที่ 2 อัตราการเก็บช่วง 1.2 % – 8.3% จะได้จำนวนเงินประมาณ 2.1% และรูปแบบที่ 3 อัตราการเก็บช่วง 3.2 % – 66.6% จะได้เงินจำนวนประมาณ 5.3% ของรายได้ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้สังคมมีเม็ดเงินในการดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้มากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าเงินเหล่านี้สามารถนำมาเพิ่มงบประมาณทางด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าได้เพิ่มขึ้นถึงราว 25% 

ภาพที่ 17 แบบจำลองการคาดการณ์รายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการทางภาษีและนโยบายทางสังคมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ข้อมูลอีกชุดก็ได้บ่งชี้ว่า ระดับของความเหลื่อมล้ำก่อนที่จะมีการเก็บภาษีและมาตรการช่วยเหลือทางรายได้ยิ่งสูง ระดับของการช่วยเหลือทางสังคม (หรือเม็ดเงินสำหรับการจัดสวัสดิการ) ก็จะยิ่งต่ำตามไปด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำก่อนการเก็บภาษีและมาตรการทางสังคมต่ำ ระดับของการช่วยเหลือทางสังคมก็จะยิ่งสูงตามขึ้นไปด้วย ข้อมูลชุดนี้ อาจจะบอกเราได้ว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นก่อนที่จะมีมาตรการเหล่านี้ ยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำ

ภาพที่ 18 การเปรียบเทียบอัตราการกระจายทรัพย์สินกับช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 10%
กับกลุ่มคนจนที่สุด 50% ก่อนมีการเก็บภาษี ตั้งแต่ปี 2561 – 2564


[1] มูลค่าของทรัพย์สินหมายรวมได้ถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น และราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น


พิสูจน์อักษร – ถิรพร สิงห์ลอ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 32 – Inequality – ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ
7 มุมมองของผู้เชี่ยวชาญสู่อนาคตที่เท่าเทียมขึ้น ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทั้ง ‘แนวดิ่งและแนวระนาบ’ (vertical and horizontal inequality)
การวิเคราะห์ข้อมูล เปิดเผยว่าหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต ต้องจัดการกับ SDG ใดบ้าง ?
รายงานธนาคารโลกเผยว่า ความมั่งคั่งโลกใน 20 ปีที่ผ่านมา แลกมาด้วยธรรมชาติและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา:
The World InequalityReport 2022 presents the most up-to-date & complete data on inequality worldwide:
Thailand – WID – World Inequality Database

Last Updated on พฤษภาคม 26, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น