SDGs in Focus for HLPF 2022: โลกหลังโควิดมีเด็กหญิงราว 11 ล้านคนเสี่ยงไม่ได้เรียน ต้องเร่งสร้างคุณภาพทางการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทางเพศ

ตามตารางกำหนดการของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2565 วันที่ 6 และ 7 กรกฎาคม (ตามเวลานครนิวยอร์ก) มีกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับ SDGs in Focus ในสองเป้าหมาย คือ #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) และ #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department for Economic and Social Affairs: DESA) ก็ได้จัดการเสวนานโยบายระดับโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม HLPF เพื่อพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองเป้าหมายด้วย 

การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ผ่านรูปแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านการศึกษา: การสำรวจ SDG 4 และ SDG 5” โดยมีการอภิปรายถึงสองนโยบายที่สำคัญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development expert) และนวัตกร (innovator) ได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองถึงแนวทางการสร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาพร้อมกับการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ 

การเสวนาเริ่มต้นด้วยวิดีโอสั้นจากยูเนสโก (UN Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ซึ่งเน้นย้ำว่าเด็กผู้หญิง 11 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหลังโควิด-19 จากนั้นจึงเริ่มการอภิปรายแรก คือ นโยบายที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บไว้ (data-backed policies) เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งประเด็นสำคัญจากการอภิปราย มีดังนี้

  • Yongyi Min หัวหน้ากลุ่มติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Monitoring Section) แผนกสถิติของ DESA และหัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2565 (Sustainable Development Goals Report 2022) ระบุว่า การปิดโรงเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็ก 147 ล้านคนขาดเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งตั้งแต่เริ่มระบาด และเด็กที่ลาออกจากโรงเรียนนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะได้กลับมาเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 12-17 ปี ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
  • Justine Sass หัวหน้าแผนกการศึกษาเพื่อความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ (Section of Education for Inclusion and Gender Equality) ของยูเนสโก ได้ฉายภาพว่า แม้ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ประเด็นการศึกษากับความเท่าเทียมทางเพศมีความก้าวหน้าขึ้นมาก เพราะพบว่าความเท่าเทียมทางเพศมีระดับเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากการลงทะเบียนเรียนในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย  กระนั้นหากมองในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศอาจจะเห็นภาพที่แตกต่างออกไป Sass ได้เน้นว่าการศึกษาสำหรับเด็กผู้ชายเองก็มีความสำคัญ อีกทั้งย้ำด้วยว่า การศึกษาไม่ควร “เป็นกลางทางเพศ” หรือ “ไร้เพศ” เพื่อจะแน่ใจได้ว่าไม่มีใคร (หรือเพศหนึ่งใด) ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ Sass ขอให้มีการสร้างวิธีการบางอย่างที่ทำให้การศึกษานั้นมีมิติทางเพศสภาวะ เพื่อที่จะการันตีความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งนี้ได้มีการยกเครื่องมือที่ช่วยในการรวมข้อมูลเกี่ยวกับเพศให้เข้ามาหลอมรวมในนโยบายและแผนการศึกษา เช่น UN Girls’ Education Initiative และ the Forum for African Women Educationalist เป็นต้น
  • Eun Mee Kim อธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) เปิดเผยข้อมูลว่าการระบาดโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัลและช่องว่างความยากจนทางเพศที่ถ่างกว้างขึ้น การระบาดนี้ยังส่งผลให้นักการศึกษาหรือนักวิชาการสตรีผลิตผลงานและตีพิมพ์บทความทางวิชาการของตนได้น้อยลง 

นอกจากนี้ ระหว่างการอภิปรายและตอบคำถามจากผู้ฟัง ผู้ร่วมอภิปรายยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องจำเป็นอื่น ๆ อาทิ การจัดการกับการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเพศของเด็กที่เข้ารับการศึกษา และการใช้ “ภาษา/การสื่อสารที่แตกต่าง” เพื่อกระตุ้นให้เด็กผู้หญิงสนใจ STEM หรือการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนการอภิปรายที่สองมุ่งเน้นไปที่การระดมนวัตกรรมและการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPP) เพื่อการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งประเด็นสำคัญจากการอภิปราย มีดังนี้

  • Olumide Ogunlana ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ PrepClassNG นำเสนอ PrepClassNG แพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศไนจีเรีย ที่ช่วยจับคู่ผู้สอนและผู้เรียน เสมือนเป็น “Uber สำหรับการสอนพิเศษ” นอกจากนั้น Ogunlana ยังระบุถึงบทบาทของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลและสถาบันการเรียนรู้บนพื้นฐานของความเชื่อ (faith-based learning institution) ที่จะสร้างเสริมการศึกษาในระดับหลังมัธยมศึกษาในประเทศของเขาด้วย
  • Hayford Siaw กรรมการบริหารของสำนักหอสมุดกานา (Ghana Library Authority) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาด้านเทคนิคที่ครอบคลุม (inclusive technical education) และอธิบายถึงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกานาและกองทุนเพื่อการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของกานา (Ghana Investment Fund for Electronic Communications) ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการศึกษาไอซีที (Information, Communication, and Technology: ICT) ในกลุ่มเด็กนักเรียนผ่านการส่งมอบคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
  • Sarah Foster ผู้ก่อตั้งและประธาน STEM Like a Girl พูดถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดำเนินกิจการโดยอาสาสมัครในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภารกิจ คือ การกระตุ้นและส่งเสริมพลังและบทบาทแก่เด็กผู้หญิงในการศึกษาแบบ STEM สู่การเป็นผู้นำในอนาคต พร้อมกันนั้น Foster ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างองค์กรของเธอกับสมาชิกในชุมชนและผู้ปกครองในการส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีแก่เด็กผู้หญิงอีกด้วย

ในช่วงถาม-ตอบ ผู้ร่วมอภิปรายได้เน้นย้ำถึงประเด็นอื่น ๆ อาทิ การผูกความสัมพันธ์กันในระดับชุมชนเพื่อประกันความสำเร็จของการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือต่าง ๆ บทบาทของความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและองค์กรระดับรากหญ้าในการสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย และการปรับเปลี่ยนการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เป็นต้น

จากนี้ไปสู่อนาคตข้างหน้า ยังมีภาระหน้าที่และความท้ายอีกมากมาย ทั้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนที่จะสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศในการศึกษา ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาบนฐานของข้อมูลเรื่องเพศ และความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคนวัตกรรมจะได้รับการตอบรับให้ความสำคัญอย่างไรใน HLPF 2022 นี้เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ติตตามข่าวสาร HLPF 2022
ได้ที่
 :  https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2022
และ VNRs ที่ : https://hlpf.un.org/vnrs
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
DESA Event Examines Linkages Between Education and Gender Equality (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 7, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น