SDG Updates | การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร: หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หนึ่งประเด็นที่จะขาดไปจากสารบบของการพิจารณาไม่ได้เลยคือ “จำนวนประชากร” การคาดการณ์การเพิ่มขึ้น/เติบโตของจำนวนประชากร (population growth) จึงนำมาประกอบการมองสถานการณ์และแนวโน้มด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ กับโจทย์สำคัญของการสร้างหลักประกันให้ทุกคน (ที่มีจำนวนมากขึ้น) “มี” และ “เข้าถึง” ทรัพยากรที่จำกัดและบริการขั้นพื้นฐานจำเป็นได้ แม้ว่าการเติบโตของจำนวนประชากรจะไม่ได้ถูกระบุเป็นคำสำคัญชัดเจนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก็ตาม แต่มีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อที่ย้ำถึง “หลักประกันถ้วนหน้าในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และการวางแผนครอบครัว” ตาม SDG3.7

เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยแม้ว่าการเติบโตขึ้นของประชากรจะช้าลงมากตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่จำนวนประชากรโลกก็กำลังจะแตะถึง 11 พันล้านคนภายในปี 2100 หรือสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ ตามการประมาณการณ์ของสหประชาชาติ SDG Updates วันนี้ จึงนำเสนอพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและสถานการณ์การเติบโตของประชากรว่าสำคัญและสัมพันธ์ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมไปถึงข้อเสนอแนะของการพัฒนาโซลูชันที่ร่วมตระหนักถึงประเด็นจำนวนประชากร “การแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม” และบทบาทของประเทศที่มีรายได้ต่ำ – รายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ประเทศที่มีรายได้สูง – ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง


01 – การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร?

การเพิ่มขึ้นหรือการเติบโตของจำนวนประชากรที่รวดเร็ว (rapid population growth) เป็นลักษณะของแนวคิดการเปลี่ยนผ่านประชากร/การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร (demographic transition) ในทางประชากรศาสตร์ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรตามธรรมชาติจากอัตราการเกิดและอัตราการตายในระดับสูงไปสู่ระดับต่ำ (เกิดน้อยและตายน้อย) โดยไม่นับรวมปัจจัยอื่นอย่างการย้ายถิ่นของประชากร ปัจจุบันพบว่าบางประเทศที่สามารถเปลี่ยนผ่านประชากรเสร็จสิ้นแล้ว จำนวนประชากรของประเทศนั้นเติบโตโดยเป็นไปอย่างช้า ขณะที่ประมาณ 40 ประเทศและพื้นที่หรือราว 20% จากทั้งหมดซึ่งยังอยู่ในระยะแรกเริ่มหรือระหว่างการเปลี่ยนผ่านประชากร จะพบว่าจำนวนประชากรของประเทศกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในแง่นี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจึงเป็นทั้งภาพสะท้อนผลลัพธ์ความสำเร็จของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาด้านสาธารณสุข โภชนาการ สุขอนามัยของปัจเจกบุคคล และยารักษาโรคที่ทำให้มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ได้ยาวนานมากขึ้นและตายน้อยลง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผลลัพธ์สะท้อนความล้มเหลวของการสร้างหลักประกันให้ทุกคนในทุกแห่งหนมีความรู้ มีความสามารถ และมีเครื่องมือที่จะนำไปสู่การตัดสินใจว่า จะมีลูกหรือไม่และจะมีลูกเมื่อไร หมายความว่า เมื่อปราศจากข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนครอบครัวแล้ว ย่อมส่งผลให้อัตราการเกิดมีเพิ่มมากขึ้น

กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่รวดเร็วจึงเป็นทั้งสาเหตุและเป็นลักษณะของการพัฒนาที่เชื่องช้า เป็นหนึ่งสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจนั้นยังไม่บรรลุผล ในทางกลับกันก็เป็นความท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจด้วย เพราะเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจบนหลักการความยั่งยืนและความครอบคลุม (inclusive) ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในเมื่อขนาดของจำนวนประชากรมีเพิ่มมากขึ้น

กระนั้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรไม่ได้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่มักพบในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ และยิ่งทำให้ประเทศที่มีรายได้ในกลุ่มนี้ตกอยู่ในสถานะลำบาก เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณภาครัฐและรายได้ต่อหัวของประชากร ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจน ความหิวโหย ทุพโภชนาการ หลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้า การเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนการให้บริการพื้นฐานอื่นให้ครอบคลุมจำนวนประชากรที่มีเพิ่มขึ้น

อัตราการเกิดสูงยังเป็นกับดักทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำยิ่งจมอยู่กับความยากจน โดยหากเป็นครอบครัวที่ยากจนแต่มีขนาดใหญ่ (ขนาดของครอบครัวเป็นปัจจัยของการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า) ย่อมไม่สามารถลงทุนไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กแต่ละคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ อัตราการเกิดสูงยังเกี่ยวพันกับค่านิยมหรือวัฒนธรรมของบางพื้นที่ อาทิ การที่ไม่สามารถมีอำนาจตัดสินใจเลือกหรือควบคุมจำนวนการมีลูกได้ หรือความต้องการมีลูกมากเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ทั้งนี้ ตัวอย่างของผลลัพธ์เชิงลบไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของความยากจนเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงประเด็นอย่างการบังคับเด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนวันอันควร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนภายในครอบครัวด้วย เป็นต้น

ในทางกลับกัน หากอัตราการเกิดสูงเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูง สิ่งที่จะตามมาคือความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่มีมากขึ้นตามจำนวนประชากร และจะขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติอื่นโดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขูดรีดทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ในการผลิตและการบริโภคตอบสนองต่อความต้องการที่มากขึ้นหรือที่ล้นเกิน

มากไปกว่านั้น ประเด็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรยังเกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนความเหลื่อมล้ำภายในประเทศนั้นเอง ทำให้การจัดสรรและกระจายทรัพยากรอย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างถ้วนหน้า ขณะเดียวกับที่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนประชากรซึ่งจะเป็นผู้บริโภคหน้าใหม่ด้วย

02 – อนามัยเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง กับการควบคุมการเติบโตของประชากร

การที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดและการทำแท้งที่ปลอดภัย ย่อมนำไปสู่อัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และอัตราการตายของมารดาที่สูง กล่าวคือ ประเทศที่มีอัตราการตายของมารดาสูงก็คือประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงนั่นเอง แต่อัตราการตายของมารดานั้นอันที่จริงแล้วสามารถป้องกันได้ ซึ่งนอกจากจะจัดการกับระบบสุขภาพโดยเฉพาะด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงยาคุมกำเนิดและการทำแท้งที่ปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงด้านระดับการศึกษา การส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ และการที่ผู้หญิงมีโอกาสในการทำงานด้วย

เพราะการที่ผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่จำเป็น ปลอดภัย และมีคุณภาพสำหรับช่วยตัดสินใจบนฐานของการมีข้อมูลว่า จะมีลูกหรือไม่มีลูก และจะมีในช่วงเวลาใด ย่อมนำไปสู่อัตราการเกิดที่สูง ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบผู้หญิงในประเทศเดียวกัน ผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา มีระดับการศึกษาต่ำกว่า หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่อายุยังน้อยและต้องเลี้ยงดูครอบครัว กับผู้หญิงที่สามารถเข้าถึงการศึกษาและมีระดับการศึกษาสูงกว่า ผู้หญิงในกลุ่มหลังย่อมจะมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเองเหนือร่างกายและชีวิตมากกว่า (autonomy) สิ่งนี้มีผลต่อขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ซึ่งจะนำไปสู่การที่ทั้งมารดาและลูกมีความเป็นอยู่ที่ดีเพราะสามารถเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวได้อย่างทั่วถึง ตัดวงจรความยากจนลง และช่วยเร่งพัฒนา/แก้ปัญหาวิกฤติสังคมและเศรษฐกิจจากการที่ผู้หญิงสามารถตัดสินใจที่จะทำงานได้ ตลอดจนการที่ระบบสาธารณสุขและทรัพยากรธรรมชาติไม่ต้องแบกภาระหรือถูกกดดันจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร

นั่นหมายความว่า การบรรเทาปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรหรือการควบคุมการเติบโตของจำนวนประชากรว่าจะเป็นไปอย่างช้าหรือเร็วนั้น สามารถทำได้โดยการเสริมพลังอำนาจให้ผู้หญิงและเด็กหญิงมีการศึกษา มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเหนือร่างกายของตนเอง และผลักดันความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงอย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยลดกรณีการปฏิบัติที่เป็นอันตรายและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศในทุกรูปแบบลง

03 – แนวโน้มการเติบโตของประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้สูง

จากการศึกษาของ UN พบว่า บรรดาประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่รวดเร็วมากที่สุดเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้นคาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปี 2020 – 2050 โดยที่ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรส่วนใหญ่ในสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกภายในศตวรรษนี้

แม้ว่า “การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร” จะทำให้เราเห็นภาพผลกระทบที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวล “การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว” ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน เพราะนำมาซึ่งการผลิตและการบริโภคที่มากขึ้นและในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน

โดยประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่มีการเพิ่มขึ้นของประชากรที่รวดเร็วเช่นประเทศที่มีรายได้ต่ำ แต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวได้นำมาซึ่งความต้องการบริโภคทรัพยากรในระดับสูงสุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติ 

ประเทศที่มั่งคั่งจึงมีภาระความรับผิดชอบต่อการเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ การใช้ยุทธศาสตร์ “การแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม” (Decouple) ตลอดจนการร่วมกับชุมชนระหว่างประเทศในการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงิน เพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้ต่ำจะสามารถเติบโตขึ้นมาได้พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เป็นการยกระดับการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

04 – “Decouple” หนทางที่แท้จริงของการแก้ปัญหาร่วมกับการลดการเติบโตของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง

ในเชิงโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดสูงในบางภูมิภาคช่วยคงสัดส่วน “ประชากรวัยเด็ก” ในสัดส่วนประชากรทั้งหมดของโลก การมีจำนวนประชากรวัยเด็กเป็นหลักประกันว่าโลกจะยังคงมีประชากรให้เติบโตต่อไปแม้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งที่อัตราการเกิดอาจลดลงฉับพลัน โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเด็กนี้เองคิดเป็นสองในสามของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกระหว่างปี 2020 – 2050

จำนวนประชากรเด็กในทางหนึ่งยังเป็นหน้าต่างสู่โอกาสในการเร่งเครื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว กระนั้น สำหรับประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วหรือเปลี่ยนผ่านประชากรยังไม่เสร็จสิ้นดีนั้น อย่างไรเสียจำต้องมีการควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเด็ก (ซึ่งเป็นประชากรในกลุ่ม “พึ่งพา”) ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การลงทุนในภาคการศึกษา ภาคสุขภาพ การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และเน้นไปที่สัดส่วนจำนวนประชากรในกลุ่มวัยแรงงาน ในภาวะที่มีจำนวนประชากรเด็กลดลง และจำนวนประชากรวัยแรงงานหรือ “กำลังแรงงาน” เติบโตขึ้น “การปันผลทางประชากร” (demographic dividend) เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งโอกาสทองทางเศรษฐกิจ

จริงอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรนำมาซึ่งความท้าทายของปัญหาในโลกที่แก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ด้านศักยภาพของการผลิตในระบบอาหารเพื่อเร่งตอบสนองต่อจำนวนประชากรที่มากขึ้นอันนำไปสู่ปัญหาการใช้ที่ดิน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการแย่งชิงน้ำจนก่อเป็นวิกฤติน้ำในโลก การตัดไม้ทำลายป่าที่มากขึ้น การทำประมงเกินขนาด การปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปะการังฟอกขาว หรือการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นถนนและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเลือกแก้ปัญหาเฉพาะการลดการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเป็นเพียงหนทางเล็กน้อยในการแก้ปัญหารูปแบบการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน กล่าวคือ การจะแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและแรงกดดันที่มีต่อธรรมชาติได้ในระยะยาว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรต้องทำควบคู่กันไปกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของมนุษย์และความตั้งใจที่จะมุ่งเป้าไปที่ความสมดุลของการพัฒนาด้วยการแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม พร้อมกับที่ประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงจะต้องมีความรับผิดชอบและลงมือทำเป็นตัวอย่าง 

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ในการแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถทำได้ มีตัวอย่างดังนี้

  1. เมื่อความต้องการใช้พลังงานมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้น จึงต้องลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและพลังงานที่ไม่หมุนเวียน โดยประเทศที่มีรายได้สูงต้องแสดงบทบาทนำในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และสนับสนุนให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานได้ด้วย
  2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการผลิตและการบริโภค
  3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสียตลอดทั้งกระบวน ทั้งจากกระบวนการสกัด (extraction) ผลิต บริโภค และกำจัดของเสีย (disposal)
  4. การขยายวงจรชีวิตของสินค้าผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำให้การนำมาใช้ซ้ำ (reuse) การทำให้การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการชุบชีวิตสินค้าให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่ (re-manufacturing) เป็นมาตรฐานของการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
  5. ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคสินค้าและบริการไปสู่การบริโภคสินค้าและบริการที่ใช้พลังงานน้อยและที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตน้อย

ทิ้งท้าย

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร (ที่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าที่สหประชาชาติคาดการณ์) ในอีก 30 – 40 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่สามารถชะลอตัวลงได้ เพราะแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในโลกจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษต่อจากนี้ แต่คาดว่าจำนวนประชากรโลกในปี 2050 จะมีมากกว่าปี 2020 ถึง 20 – 30% 

หมายความว่าหนทางที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขของการคาดการณ์จำนวนประชากรดังกล่าว จะต้องนับรวมความรู้ความเข้าใจทางประชากรศาสตร์ การนำบทวิเคราะห์/คำแนะนำประกอบการวางแผนที่มีลักษณะเชิงรุกและมองไปข้างหน้า ตลอดจนการปรับวิธีการผลิตและการบริโภคด้วยการลดผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมลง

ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีรายได้ต่ำ – ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ และประเทศที่มีรายได้สูง – ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ต้องตระหนักถึงบริบทและความท้าทายของประเทศตนเอง สำหรับประเทศในกลุ่มแรก การพุ่งเป้าไปที่การขจัดความยากจนและความหิวโหย รวมถึงการพัฒนาภาคสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงงานที่มีคุณค่า และการสร้างขีดความสามารถในการจัดการกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนต้องมุ่งเน้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการเติบโตของประชากร โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มการเข้าถึงพลังงานที่ซื้อหาได้

ส่วนประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง รวมทั้งประชาคมโลก ก็ต้องแสดงความรับผิดรับชอบต่อสิ่งแวดล้อม แสดงบทบาทนำในการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนช่วยกันสร้างหลักประกันว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำจะได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงิน

ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 08 – Modern Family Planning Method – วิธีการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่
SDG Vocab | 15 – Sexual and Reproductive Health – สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
การคุมกำเนิดฟรี ทำให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการทำแท้งในฟินแลนด์ลดลง
การศึกษาพบว่า หากสหรัฐฯ ยุติบริการทำแท้งทั้งประเทศ การเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์อาจสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 21%
ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดที่หายไปช่วงโควิด-19 ทำให้ขาดข้อมูลอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและอัตราการเกิดในอนาคต
SDG Recommends | #MyBodyisMyOwn เพราะสิทธิเหนือเรือนร่างและการตัดสินใจของผู้หญิงเป็นสิทธิมนุษยชน
นโยบายใหม่ให้มีลูกได้ 3 คนของจีนเผชิญแรงต้าน เมื่อการมีลูกมีราคาแพงและผู้หญิงยังประสบกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ
‘Earth Warriors’ หลักสูตรทางเลือกสอนเด็กเล็กในประเทศที่ร่ำรวย ให้รู้รักความยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 (ขจัดความยากจน)
#SDG2 (ขจัดความหิวโหย)
#SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี)
#SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ)
#SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ)
#SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล)
#SDG7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้)
#SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ)
#SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม)
#SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ)
#SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน)
#SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน)
#SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
#SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล)
#SDG15 (ระบบนิเวศบนบก)
#SDG16 (ความสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง)
#SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

แหล่งที่มา:
Why population growth matters for sustainable development (UN DESA) – กุมภาพันธ์ 2565
Global Population Growth and Sustainable Development (UN DESA) – กุมภาพันธ์ 2565
Population and the sustainable development goals (Population Matters)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น