เด็กในเมืองที่ได้อาศัยและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ป่า จะมีพัฒนาทางสติปัญญาและสุขภาพจิตที่ดีกว่า

การศึกษาใหม่ที่พิมพ์ใน Nature Sustainability พบว่า หากเด็กที่เติบโตในเมืองได้ใกล้ชิดกับป่าเป็นประจำทุกวัน จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญา (cognitive development) ที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมน้อยกว่า

นักวิจัยใช้เวลาสี่ปีในการทำการศึกษาเด็กและวัยรุ่นตอนต้นอายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวน 3,568 คน จาก 31 โรงเรียนในลอนดอน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กับ พัฒนาการด้านสติปัญญา สุขภาพจิต และสุขภาวะที่ดีโดยรวมของเด็ก ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลการได้สัมผัสใกล้ชิด ‘พื้นที่สีเขียว’ เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า และสวนสาธารณะ และ ‘พื้นที่สีน้ำเงิน’ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเล ที่อยู่ภายในระยะ 50 เมตร 100 เมตร 250 เมตร และ 500 เมตรจากบ้านและโรงเรียนของเด็กในแต่ละวัน โดยใช้แหล่งข้อมูลพืชพรรณที่ตรวจจับจากดาวเทียม

การศึกษาค้นพบว่า เด็กและวัยรุ่นที่ได้สัมผัสหรืออยู่ใกล้พื้นที่ป่าไม้ในแต่ละวันมากกว่า จะมีคะแนนพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สูงกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมลดลง 17% ในอีกสองปีต่อมา ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการปรับตัวแปรที่อาจส่งผลต่อผลการศึกษา เช่น อายุ ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ เพศ อาชีพผู้ปกครอง ประเภทของโรงเรียน และมลพิษทางอากาศ ไว้ด้วยแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีขึ้นของเด็กกับการได้เข้าถึงพื้นที่สีน้ำเงินและพื้นที่สีเขียวประเภททุ่งหญ้า นักวิจัยได้อธิบายไว้ว่า ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับความเชื่อมโยงระหว่างการได้ใกล้ชิดป่าไม้กับพัฒนาการด้านความรู้คิดและสุขภาพจิตของเด็ก อาจเป็นเพราะการได้ซึมซับภาพและเสียงของความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์ที่พบจากการอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ป่า อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต

ผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นกว่า การตัดสินใจวางผังเมืองควรพิจารณาเลือกลักษณะของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่จะสร้างประโยชน์ทั้งทางระบบนิเวศและการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและสุขภาพจิตของเด็กไว้ด้วยอย่างรอบคอบที่สุด

สุขภาพจิตของเด็กในเมืองและการได้อยู่ใกล้ชิดพื้นที่ป่า เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
- #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็กคนชราและผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย

ที่มา : City children have better mental health and cognition if they live near woodlands (CNN)

Last Updated on กรกฎาคม 21, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น