บทบาทผู้ว่าฯ ในการขจัดขยะในทะเล จังหวัดตรัง

หากได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ดิฉันจะส่งเสริมประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม (planet) ผ่านบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรัง เนื่องจากดิฉันเล็งเห็นว่าพื้นที่ในจังหวัดตรังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ และในแต่ละอำเภอนั้น มีประชาชนในท้องถิ่นทำอาชีพการประมงเป็นหลักเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าปัญหานี้สอดคล้องต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องที่นี้เป็นอย่างมาก โดยเรียงความชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ความเป็นมาของขยะในทะเล ส่วนที่สอง สถานการณ์ปัญหาขยะในทะเล และส่วนสุดท้าย คือการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด

ขยะทะเลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เนื่องจากมหาสมุทรและทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงเป็นสาเหตุในการมีความเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบก และครอบคลุม 23 จังหวัด แสดงให้เห็นได้ว่าปัญหาท้องทะเลไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องด้วยทรัพยากรทางทะเลที่สร้างประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

ประการแรก คือความเป็นมาของขยะในทะเล ขยะในทะเล (marine debris) เป็นวัสดุแข็งที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมสู่สภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของที่ถูกทำขึ้นหรือถูกใช้โดยมนุษย์ และทิ้งลงสู่ทะเล แม่น้ำ หรือบนชายหาด โดยสามารถพบได้ทุกพื้นที่ของทะเลทั่วโลก เนื่องจากขยะในทะเลสามารถถูกพัดพาไปได้ในระยะทางไกลที่ห่างจากแหล่งกำเนิด ด้วยกระแสน้ำในมหาสมุทรและกระแสลม ส่วนต้นกำเนิดของขยะในทะเลมาจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งที่หนึ่ง ต้นทางของขยะในทะเลที่อยู่บนแผ่นดิน ได้แก่ หลุมฝังกลบขยะชุมชนระบบการเก็บรวบรวม การขนย้ายขยะทั้งทางบก และทางน้ำ หรือแม้กระทั่งในช่วงฝนตกหนักสามารถพัดพาขยะลงสู่ทะเล และการผลิตการจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่เหมาะสม แหล่งที่สอง ต้นทางของขยะในทะเลที่อยู่ในมหาสมุทร อาจมาจากทั้งในทะเลและชายฝั่ง เช่น การขนส่งทางเรือ เรือสำราญ เรือท่องเที่ยว การประมงทะเลและชายฝั่ง แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภัยคุกคามเป็นวงกว้างต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเล จากการรวมกลุ่มของเศษพลาสติกขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น มีขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือซึ่งขยายไปถึงพื้นที่ผิวที่ใหญ่กว่าสเปนและโปรตุเกสรวมกันเสียอีก อีกทั้งความทนทานของพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายทศวรรษ เนื่องจากพลาสติกค่อย ๆ แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” จึงมักถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไป จนสุดท้ายก็เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสารอันตราย และสารเคมี (OceanCare, 2017, n.d.)

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบ่งผลกระทบของขยะทะเลได้ 3 ส่วน ได้แก่

  • หนึ่ง สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบทางลบแก่พื้นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ที่สะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมหรือสายใยอาหารในระบบนิเวศ 
  • สอง สัตว์ทะเลหายาก จากการสำรวจพบสัตว์ทะเลหายากได้รับผลกระทบจากขยะทะเลทั้งสิ้น 155 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของจำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมด 783 ตัว) แบ่งเป็นเต่าทะเล 149 ตัว โลมาและวาฬ 2 ตัว พะยูน 3 ตัว และฉลามวาฬ 1 ตัว และสุดท้าย 
  • สาม ระบบนิเวศแนวปะการังทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะตกค้างในแนวปะการังมากที่สุด คือ กิจกรรมชายฝั่งและนันทนาการ (ร้อยละ 57) รองลงมาคือ กิจกรรมทางน้ำและการประมง (ร้อยละ 38) นอกนั้นเป็นประเภทขยะที่เกิดจากกิจกรรมการทิ้ง รวมถึงการพิจารณาตามพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บริเวณหมู่เกาะสีชังและหมู่เกาะล้าน เป็นพื้นที่กิจกรรมการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวมาก ขยะที่พบในแนวปะการังส่วนใหญ่จึงเกิดจากกิจกรรมชายฝั่งและนันทนาการ ส่วนแนวปะการังในพื้นที่จังหวัดระยอง สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ขยะที่พบส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมทางน้ำและการประมง ส่วนใหญ่เป็นพวกขวดแก้ว จำนวน 167 ชิ้น (ร้อยละ 22.5) และเชือก จำนวน 125 ชิ้น (ร้อยละ 16.9) (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.)

ประการที่สอง คือสถานการณ์ปัญหาขยะในทะเล โดยสถานการณ์ปัญหาขยะในทะเลของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและไหลลงสู่ทะเล โดยมีแหล่งกำเนิดจากบนบก ร้อยละ 80 และในทะเล ร้อยละ 20 โดยข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องก็มีแนวโน้มดีขึ้นจากการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการกำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ แสดงให้เห็นได้จากการมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกับ “แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025)” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.) ซึ่งแผนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการประสานงานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในหลายๆ ระดับ เพื่อตอบสนองการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลในการจัดการกับปัญหาขยะในทะเล จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า “ในปีงบประมาณ 2564 ได้มีการดำเนินงานโครงการการจัดการขยะทะเลที่สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม (ประมาณ 444 ตัน) รวมจำนวนขยะ 3,950,904 ชิ้น โดยองค์ประกอบของขยะตกค้างชายฝั่งที่พบมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (ร้อยละ 13) ถุงพลาสติกอื่น ๆ (ร้อยละ 11) เศษโฟม (ร้อยละ 8) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (ร้อยละ 8) ถุงก๊อปแก๊ป (ร้อยละ 8) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 7) เศษพลาสติก (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ (ร้อยละ 4) กล่องอาหาร/โฟม (ร้อยละ 4) และกระป๋องเครื่องดื่ม (ร้อยละ 3) รวมคิดเป็นร้อยละ 73 ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 27) และในจำนวนขยะตกค้างชายฝั่ง ที่เก็บได้ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก (ร้อยละ 83) ” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.)

จังหวัดตรังตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,917.519 ตารางกิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลําดับที่ 4 ของภาคใต้ และลําดับที่ 33 มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลตลอดแนวเขตจังหวัดยาว 135.03 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ จํานวน 54 เกาะ โดยมีเกาะที่สําคัญ เช่น เกาะลิบง ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เกาะมุก เกาะกระดาน จังหวัดตรัง โดยขอบเขตความรับผิดชอบเชิงพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในท้องที่จังหวัดตรัง มีทั้งสิ้น 28 ตําบล 5 อําเภอ คือ อําเภอสิเกา อําเภอกันตัง อําเภอย่านตาขาว อําเภอหาดสําราญ และอําเภอปะเหลียน เนื้อที่ 1,097,102 ไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561, น.1-2) ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ เช่น พะยูน โลมา และเต่าทะเล เป็นต้น ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมี “มาตรา 23 การกำหนดมาตรการคุ้มครอง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มุ่งคุ้มครองประกอบด้วย หญ้าทะเล ปะการังธรรมชาติ ปะการังเทียม เกาะ ป่าชายเลน พื้นที่ปากแม่น้ำ พะยูน โลมา เต่าทะเล” (พื้นที่คุ้มครอง ทช. “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”, ม.ป.ป.) 

ประการที่สาม คือการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 14 โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดร่วมกัน เนื่องด้วยจังหวัดเป็นระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ที่ได้รับมอบอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของราชการส่วนบริหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นการบริหารราชการที่มีผลโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และเป็นองค์การเชื่อมต่อระหว่างนโยบายของรัฐกับการบริการสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเชื่อมถึงประชาชน (พินิจ บุญเลิศ และคณะ, 2558, น.1290-1291) อย่างไรก็ดี หากดิฉันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเสนอการแก้ไขปัญหาตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 14 ดังนี้   

  • หนึ่ง คือการจัดระบบขยะจากความร่วมมือทั้งประชาชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว โดยการลดปริมาณ การคัดแยก การแปรรูป และการนํากลับมาใช้ใหม่ของขยะ เนื่องจากเป็นต้นเหตุหลักที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นมี “การเก็บรวบรวมข้อมูลขยะทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งตามแบบฟอร์มที่ดัดแปลงมาจากการเก็บข้อมูลของ International Coastal Clean Up ระหว่างปี พ.ศ. 2552–2558 ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี นราธิวาส และระนอง พบขยะทะเล จํานวน 363,228 ชิ้น” โดยปริมาณขยะในที่เก็บได้และคัดแยกได้ในท้องทะเลและชายฝั่ง จังหวัดตรัง ปี 2558 ดังนี้
    • ขยะประเภทที่หนึ่ง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร กิจกรรมของนักท่องเที่ยวชายหาด ขยะจากถนนและท่อระบายน้ำ จํานวน 1,930 ชิ้น น้ำหนักรวม 131 กิโลกรัม ขยะขนาดใหญ่ประเภทที่สอง จํานวน 2 ชิ้น น้ำหนักรวม 2.5 กิโลกรัม 
    • ขยะประเภทที่สอง ขยะจากการตกปลา ขยะจากการประมงและกิจกรรมเกี่ยวกับเรือ จํานวน 532 ชิ้น น้ำหนักรวม 119 กิโลกรัม ส่วนปริมาณขยะที่เก็บได้และคัดแยกได้ในท้องทะเลและชายฝั่ง จังหวัดตรัง ปี 2559 ดังนี้ ขยะประเภทที่หนึ่ง พบจํานวน 117 ชิ้น น้ำหนักรวม 10 กิโลกรัม ขยะขนาดใหญ่ประเภทที่สอง จํานวน 21 ชิ้น น้ำหนักรวม 44 กิโลกรัม ขยะประเภทที่สาม พบจํานวน 38 ชิ้น น้ำหนักรวม 22 กิโลกรัม (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561, น. 121)

ในการจัดการขยะทะเลนั้น มีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (2560) “รายงานการเกิดปริมาณขยะในเขตจังหวัดชายฝั่งทะเล ของจังหวัดตรัง ในอัตรา 663 ตัน/วัน มีการกําจัดอย่างถูกต้อง 130 ตัน/วัน นํากลับมาใช้ประโยชน์ 299 ตัน/วัน มีปริมาณขยะกําจัดไม่ถูกต้อง 233 ตัน/วัน ทั้งนี้ ขยะบางส่วนอาจมีการรั่วไหลลงสู่ทะเลได้ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้วิเคราะห์ข้อมูลแม่น้ำ ลําคลองที่ไหลลงสู่ทะเลของจังหวัด พบว่ามี 41 ลําน้ำ” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561, น. 133) จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบขยะให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยดิฉันขอยกกรณีตัวอย่างการจัดระเบียบระบบขยะของประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้ โดยสิงคโปร์ มีกลยุทธ์ระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่ยั่งยืน (Sustainable solid waste management system) จากทุกภาคส่วน เช่น การเริ่มคัดแยกขยะต้นทางจากภาคประชาชน และใช้หลัก 3Rs ในการคัดแยกขยะ และการมีส่วนภาคเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินจัดการขยะ ส่วนภาครัฐภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน Waste Management Departure สังกัด National Environment Agency (NEA) ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส, 2564, น.240) ส่วนเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลได้เป็นจำนวนมากที่สุด จากการจัดอันดับของ Eunomia Research and Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสิ่งแวดล้อม แห่งยุโรป ในปีพ.ศ. 2561 ในภาคส่วนของรัฐบาลได้ “ออกกฎหมายการจัดการขยะ (Waste Control Act.) และ Act of Promotion of Saving and Recycling of Resources ที่มุ่งเน้นการจัดการ การใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเป้าหมายการลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 50 และรีไซเคิลร้อยละ 70 โดยอาศัยความร่วมกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการให้สำเร็จภายในปีพ.ศ. 2573” โดยสามารถจำแนกการดำเนินการจัดการขยะของเกาหลีใต้ ได้ดังนี้ หนึ่ง การคัดแยกและลดขยะ ณ แหล่งกำเนิด สอง การควบคุมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ สาม การตั้งศูนย์ในการใช้ซ้ำ และสุดท้าย สี่ การเก็บขนและการกำจัดขยะ (วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส, 2564, น.241)

  • สอง คือ การทำประมงอย่างถูกกฎหมาย โดยการพัฒนามาตรการให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นแต่ละอำเภอในจังหวัดตรังเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจากการทำประมง IUU เนื่องจากจังหวัดตรัง มีทั้งการทำประมงแบบพื้นบ้าน และการทำประมงเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งมีผู้ประกอบการประมง จากข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัดตรัง พ.ศ. 2561-2565 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้ ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติ ได้แก่ สัตว์น้ำทะเล 47,713 ตัน มูลค่า 1,431.39 ล้านบาท ส่วนผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง ได้แก่ กุ้งทะเล 18,760 ตัน มูลค่า 2,888 ล้านบาท (จังหวัดตรัง, 2565, น.15-16) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนร่วมด้วยเป็นสำคัญต่อการทำความเข้าใจถึงปัญหาในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและขจัดการทําประมงที่ผิด กฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้บรรลุผลสําเร็จ (กองเกษตรสารนิเทศ, 2565, ม.ป.ป.) และในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) อย่างเช่น Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งเป็นระบบติดตามเรือที่ประมงทั่วโลกนำมาใช้ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยการนำเอาจุดพิกัดดาวเทียม (GPS) และ เครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ (Global Service Mobile : GSM) มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงพิกัดเรือประมง (Vessel Positioning System : VPS) ได้แบบ Real time ผ่านระบบ Application อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบประวัติการเดินเรือประมงย้อนหลังได้ ทำให้สามารถนำข้อมูลการเดินเรือมาวิเคราะห์แนวโน้มเข้าข่าย IUU Fishing ของเรือประมงได้อีกด้วย (พวงทอง อ่อนอุระ, 2561, น.86)

อย่างไรก็ตาม ดิฉันมีความเห็นว่าจากที่ได้เสนอการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 ไว้ข้างต้นทั้งระบบการจัดการขยะ และการทำประมงตามฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลในจังหวัดตรังได้ เนื่องจากทุกกิจกรรมของมนุษย์นั้นสร้างขยะในทะเลได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ในการฟื้นฟูดูแลหญ้าทะเล ปะการังธรรมชาติ ปะการังเทียม เกาะ ป่าชายเลน พื้นที่ปากแม่น้ำ พะยูน โลมา เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่น ๆ สามารถรักษาความอยู่รอด และลดไมโครพลาสติกที่สามารถพบในสัตว์ทะเล เพื่อป้องกันสารที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคได้ แม้ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ในวงการวิทยาศาสตร์

โดยสรุปแล้ว เรียงความนี้ได้เสนอและส่งเสริมในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในจังหวัดตรัง ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ และอาชีพการประมงเป็นสำคัญในท้องที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้สอดคล้องต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องที่เป็นอย่างมาก จึงควรมีการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14  โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรักษาสภาพระบบนิเวศให้มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น จากการเริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การจัดระบบขยะจากความร่วมมือทั้งประชาชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมงอย่างถูกกฎหมายให้ประชาชนในจังหวัดตรังได้เข้าใจถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อันเป็นหนึ่งในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น


อ้างอิง :
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2561). ข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง. https://dmcrth.dmcr.go.th/attachment/dw/download.php?WP=rUqjMT03qmEZG22DM
7y04TyerPMjBJ04qmIZZz1CM5O0hJatrTDo7o3Q
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ความหมายของขยะในทะเล. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_386
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). สถานการณ์ขยะทะเลปี พ.ศ. 2564. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19461
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_398
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19462
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการัง. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19463
กองเกษตรสารนิเทศ. (ม.ป.ป.). กฎ IUU กับการประมงไทย. https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20170301102240_file.pdf
จังหวัดตรัง. (2565). แผนพัฒนาจังหวัดตรัง พ.ศ. 2561-2565 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565. https://ww2.trang.go.th/files/com_news_struct/2021-05_1fc7a7451d85cf5.pdf
วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส. (2564). ถอดบทเรียนความสำเร็จจากการจัดการขยะของ
ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้และไต้หวัน. Journal of Modern Learning Development, 6(1), 240-241. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jomld/article/download/247145/167860/871323
พวงทอง อ่อนอุระ. (2561). การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
(IUU Fishing) ตามหลักการ แนวคิด และบทบัญญัติของตราสารระหว่างประเทศ. การประมง อิเล็กทรอนิกส์, 1(2), 86. https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/202006181415191_pic.pdf
พินิจ บุญเลิศ และคณะ. (2558). บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดไทยในการบริหารการเปลี่ยนแปลง. สาขา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 8(1), 1290-1291. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/32331/30163/82501
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”. (ม.ป.ป.). ความสำคัญของพื้นที่. https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/174/description/48843
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”. (ม.ป.ป.). ข้อมูลเชิงพื้นที่. https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/174/description/48939
OceanCare. (n.d.). Marine debris and the Sustainable Development Goals. https://www.oceancare.org/wp-content/uploads/2017/10/Marine_Debris_CMS.pdf

ผู้เขียน: พิชญ์สินี ศิริพันธ์
สถาบันการศึกษา: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร” 

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น