WHO เรียกร้องให้จีนเผยข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 – พร้อมส่องมาตรการรับมือของแต่ละประเทศ หลังจีนประกาศเปิดประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission: NHC) ได้ออกแถลงการณ์ว่าทางการจีนจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 หลังจากบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมากว่า 3 ปี ทำให้มีการคาดการณ์ถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่อาจทยอยเดินทางออกนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) จึงออกมาเรียกร้องให้ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศก่อนจะเปิดประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศจีนเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์จริงของโควิด-19 ออกมาน้อยมาก ซึ่งข้อมูลอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากจีนเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ให้ทางการจีนเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ ตามเวลาจริงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลผลกระทบของโรค การรักษาตัวในโรงพยาบาล การรับผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Unit : ICU) และการเสียชีวิต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบและฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพราะปัจจุบันจีนเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์จริงออกมาน้อยมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาจมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงและตอบสนองการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่ ทางการจีนได้ยกเลิก ‘นโยบายโควิดเป็นศูนย์’ อย่างกะทันหันและยังขาดความพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้กับประชากรในจีน ทำให้จีนมีอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับมีการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่แสดงออกมาต่ำกว่าสถานการณ์จริง ซึ่งปัจจุบันจีนรายงานยอดผู้ติดเชื้อ จากรายวันเป็นรายเดือนและนับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจากอาการทางปอดเท่านั้น ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวลที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพากันประกาศใช้มาตรการบังคับตรวจโควิด-19 และจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศจีน หลังจีนประกาศเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

โดยชาติต่าง ๆ ได้มีการประกาศใช้มาตรการรับมือโควิด-19 หลังจีนเปิดประเทศ ดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 5 มกราคม 2566 ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ฮ่องกง และมาเก๊าต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ เนื่องจากกังวลกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในจีน
  • อินเดีย กำหนดให้ผู้ที่เดินทางจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไทย ต้องแสดงต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ
  • ญี่ปุ่น มีมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากจีนหรือผ่านจีนภายใน 7 วันก่อนหน้าต้องตรวจคัดกรองที่สนามบินและหากพบเชื้อโควิด-19 ต้องกักตัว 7 วัน 
  • ไต้หวัน  มีมาตรการให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนต้องตรวจคัดกรองและกักตัวที่บ้านหากพบเชื้อ
  • อิตาลี กำหนดให้ผู้เดินทางจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ และร้องขอให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ออกมาตรการตรวจหาเชื้อผู้เดินทางจากจีนเช่นกัน แต่คณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่ามาตรการดังกล่าว “ไม่สมเหตุสมผล” แต่จะเฝ้าระวังและพร้อมที่จะใช้การระงับฉุกเฉินหากจำเป็น
  • สเปน ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ต้องรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งจะอนุโลมให้กรณีที่ เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้วครบโดส รวมถึงยอมรับวัคซีนสัญชาติจีนด้วย
  • สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 5 มกราคม 2566 ผู้ที่เดินทางมาจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ก่อนออกเดินทาง และตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมเป็นต้นไป หน่วยงานหลักประกันสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรจะเปิดระบบการเฝ้าระวัง โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อในผู้โดยสารที่เดินทางมาจากจีนเมื่อมาถึง
  • ฝรั่งเศส ระบุให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง ทั้งผู้โดยสารที่บินตรงและบินมาต่อเครื่อง โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อในผู้โดยสารบางรายเมื่อมาถึง

ขณะที่ ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เตรียมประชุมร่วมรับมือนักท่องเที่ยวจีนมาไทย วันที่ 5 มกราคม เพื่อพิจารณาว่าจะมีการกำหนดมาตรการรับมือหรือไม่ ซึ่งมาตรการรับมือที่จะเสนอให้พิจารณา เช่น การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด – 19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย เตรียมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น มาตรการป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการ นักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิด -19 ครบ 4 เข็ม เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่าไทยจะมีมาตรการรับมือต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนอย่างไร เพราะในเดือนมกราคมนี้เป็นเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุม เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
พร้อมรับเทอมใหม่ 5 กลยุทธ์ ส่งเสริมสุขภาพจิต ในยุคโควิด-19 หลังพบนักศึกษาเผชิญความเครียดเพิ่มขึ้น
นายกฯ ญี่ปุ่น แต่งตั้ง ‘รมต.กระทรวงความเหงา’ จัดการวิกฤตความโดดเดี่ยว เพื่ดลดอัตราการฆ่าตัวตาย
Merck ให้สิทธิบริษัทยา 27 แห่งผลิตยาต้านโควิด-19 ‘โมลนูพิราเวียร์’ เพื่อขายราคาถูกให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
SDG Updates | สำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อสุขภาพจิตของคนไทยใน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจกันให้มากขึ้นในปี 2564 
ย้อนอ่าน ’10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ’ ของไทยในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

แหล่งที่มา:
Share data, WHO again tells China during COVID surge talks | Coronavirus pandemic News | Al Jazeera 
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป คัดค้าน ‘มาตรการคัดกรอง-จำกัดการเดินทาง’ นักท่องเที่ยวจีน – Thestandard 
อนามัยโลกจี้จีน ก่อนจะเปิดประเทศ ขอให้เปิดข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ก่อน : PPTVHD36 
ทำไมยอดป่วย-ตายจากโควิด-19 ในจีนจึงต่ำกว่าหลายประเทศ – BBC News ไทย 
สเปน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ เอาด้วย! ประกาศมาตรการโควิด-19 รับนทท.จีน : PPTVHD36 
เตรียมประชุมรับมือนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 5 ม.ค.นี้ – Thaipbs

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Last Updated on มกราคม 11, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น