การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม มีสิ่งใดที่ต้องคำนึงถึงบ้าง? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล’

ชวนอ่านงานวิจัย “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (บูรณาการ))” โดย รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมระดับรายสาขา ให้นำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษ ลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (cleaner technology: CT) เป็นแนวคิดและเทคนิคในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด โดยมีการเก็บข้อมูลและตรวจประเมินอย่างเป็นระบบ ทำให้รู้สาเหตุของผลกระทบ และหาทางป้องกันและแก้ไขได้ถูกต้อง ทั้งในด้านบุคลากร วิธีการปฏิบัติ และการจัดการเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของปัญหา ความเหมาะสมในการนำมาปรับปรุงและปฏิบัติใช้ในองค์กร และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา จึงช่วยลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดไปสู่การปฏิบัติใช้จริงให้กับอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้สามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในการดำเนินโครงการ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนโรงงานเข้าร่วมและสำรวจความพร้อมของโรงงานเบื้องต้น โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำมาประกอบในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เช่น จำนวนโรงงาน กำลังการผลิต ชนิดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และประกอบการคัดเลือกวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

โรงงานจากอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 9 โรงงาน ได้แก่

  1. บริษัท โคโคนัท แฟคทอรี่ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
  2. บริษัท โชคมหาชัย เบเวอร์เรจ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้ผสมว่านหางจระเข้
  3. บริษัท เถกิงอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำสับปะรดเข้มข้น
  4. บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
  5. บริษัท โทฟุซัง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำเต้าหู้พร้อมดื่ม
  6. บริษัท แนทฟู้ดส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ เครื่องดื่มสมุนไพร
  7. บริษัท เพชรส้มทอง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้จากน้ำผลไม้เข้มข้น
  8. โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์
  9. บริษัท อำพลฟูดส์ โพรงเซสซิ่ง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม

การเข้าให้คำปรึกษาในแต่ละโรงงาน รศ. ดร.อุรุยา ได้ร่วมจัดตั้งทีม CT ของแต่ละโรงงาน พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานภายใน (in-house training) แก่ทีม CT เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจประเมินโรงงาน ตลอดจนสามารถดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในโรงงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งดำเนินการกำหนดและตรวจวัดปัจจัยหลักที่บ่งชี้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน โดย รศ. ดร.อุรุยา ได้ร่วมกับโรงงานทำการประเมินและรวบรวมวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการป้องกันมลพิษ (CT option) ที่มีศักยภาพ ครอบคลุมประเด็นด้านวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ สารเคมี และ/หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นสำคัญ พร้อมทั้งศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความเป็นไปได้ทางเทคนิคของแต่ละมาตรการ

สำหรับวิธีการและผลประหยัดต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากการดำเนินการดังกล่าว พบว่า มีผลประหยัดรวม 62,827,692 บาทต่อปี เพื่อให้บุคลากรของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเกิดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดได้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องให้ความรู้ ออกแบบ คำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ รวมทั้งร่วมดำเนินการและประเมินผลความคุ้มค่าในการนำ CT Option ที่ได้รับการคัดเลือกไปปฏิบัติจริง และทำการตรวจวัดปัจจัยหลักที่บ่งชี้ประสิทธิภาพของการผลิตก่อนและหลังการปรับปรุง เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของ CT Option ของโรงงานแต่ละแห่งโดยมีผลประหยัดรวม 21,876,389 บาทต่อปี

กล่าวโดยสรุป การนำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ สารเคมี และลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความรู้และจัดอบรมให้แก่บุคลากรของโรงงาน เพื่อให้โรงงานนั้นสามารถดำเนินการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในโรงงานได้อย่างยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น