SDG Updates | ปรับระยะโฟกัส SDGs ในบริบทประเทศไทย ผ่านเวทีเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน

ประเด็นสำคัญ 

  • SDGs เป็นเรื่องของทุกขั้วการเมืองทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น จะอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้าก็ควรร่วมกันขับเคลื่อน
  • การมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อน SDGs ไม่ควรจำกัดแค่ระยะการขับเคลื่อน แต่ควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ระยะการตัดสินใจ
  • ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ได้รับผลกระทบจากความมั่นคงทางอาหารพร้อม ๆ กันได้อย่างไร
  • การศึกษาด้าน SDGs ควรมีการผนวกและปลูกฝังให้คนในทุกกลุ่มวัยตามความเหมาะสม เพราะทุกช่วงวัยมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

เวทีเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย ‘SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน’ ซึ่งจัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดพื้นที่แห่งการถกสนทนาและทบทวนการขับเคลื่อน SDGs ในบริบทประเทศไทย พร้อมข้อเสนอเชิงรูปธรรมที่มุ่งมองการเคลื่อนไปข้างหน้าของครึ่งทางที่เหลือเพื่อหวังเข้าใกล้เส้นบรรลุเป้าหมายระดับโลกให้ได้มากที่สุด ภายใต้โจทย์คิดหลัก “ทำอย่างไรจึงจะแปลงเป้าหมายทั้งหมดให้เป็นความมุ่งมั่นและการดำเนินการที่เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง? เพื่อแปลงแนวคิดและความท้าทายที่อยู่เบื้องหลังเป้าหมายเหล่านี้ให้คนเข้าใจได้ง่ายและลงมือปฏิบัติได้”


ทำไมต้องรับเอา SDGs มาใช้?

ตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนที่นั่งล้อมวงแลกเปลี่ยนหัวข้อ “SDGs, หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ได้แก่ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Mr. Renaud Meyer, UNDP Resident Representative to Thailand ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)คุณวนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ก่อตั้ง ReReef และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล

วงสนทนาเพ่งความสนใจไปที่ความสำคัญของการรับเอา SDGs มาใช้ โดย Mr. Meyer ให้ความเห็นว่า “การรับเอา SDGs มาใช้ก็เพื่อพัฒนาชีวิตของประชากรโลก ภายในปี 2573 ให้ปัจเจกชนมีชีวิตที่ดีขึ้น” ด้าน ผศ.ชล มองถึงหัวใจสำคัญของ SDGs ว่า “เป็นเป้าหมายที่วางอยู่บนฐานคิดว่าเราต้องการจะเหลือโลกที่ยั่งยืนไว้ให้ลูกหลานของเรา โดยการพยายามทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกันก็ให้ผู้คนได้ประโยชน์จากการพัฒนา มีการพัฒนาที่ครอบคลุม สิ่งแวดล้อมก็ฟื้นฟูกลับมายั่งยืนได้” 

ผศ.ชล ยังตั้งคำถามชวนฉุกคิดว่า “ทำไมคนธรรมดาอย่างเราต้องสนใจ SDGs เพราะเราต้องตระหนักว่า SDGs ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือด้วย เพราะตอนนี้เป็นบรรทัดฐานการพัฒนาที่ใช้ร่วมกันทั้งโลก และทุกภาคส่วน จึงเป็นเครื่องมือมาส่งเสริมการถกสนทนาของเราเวลาที่จะผลักดันนโยบายบางอย่างรวมถึงการพัฒนาระดับท้องถิ่น” 

ขณะที่ ดร.ธัชไท เสริมต่อว่า “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะองค์กรภาครัฐ ที่ผ่านมา ได้พยายามบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงการจำว่ามี 17 เป้าหมาย แต่อยากให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่าความยั่งยืน คืออะไร  ซึ่งพยายามบอกแก่ทุกคนว่าเส้นทางสู่ความยั่งยืนของเรานั้น คือหมุดหมายและเส้นทางเดียวกันในการมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น”

ขณะที่ ดร.เพชร ได้สรุปทบทวนความต่อจาก  Mr. Meyer ว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกคิดขึ้นมาบนพื้นฐานที่ว่าจะนำมาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น ภายในปี ค.ศ. 2030 เพราะฉะนั้น SDGs จึงเป็นความหวังของผู้คนที่จะมีสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่การศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของ SDGs เพราะท้ายที่สุด ประชาชนทุกคนมีสิทธิหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง SDGs ทำให้เรามองเห็นเส้นทางนั้นได้ชัดเจนว่าเราจะเร่งกระบวนการปรับปรุงนโยบายที่จะทำให้ SDGs บรรลุตามหมุดหมายได้อย่างไร เพราะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการคิดแบบ ‘think globally’ คือ มองถึงเป้าหมายใหญ่ในระดับโลก และย้อนกลับมามองต่อว่าจะทำอย่างไรให้ระดับชุมชนและท้องถิ่นรู้เเละสามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปฏิบัติได้ด้วย”


ประเด็นท้าทายการขับเคลื่อน SDGs ภายใต้บริบทประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้ SDGs จะถูกหยิบนำมาวางกลางวงเวทีระหว่างประเทศด้วยนัยยะว่าเป็นกรอบคิดการพัฒนาที่สำคัญร่วมกัน แต่เมื่อส่องมองการขับเคลื่อนในระดับชาติ พบว่าภายใต้บริบทประเทศไทยยังมีความท้าทายที่ต้องเร่งรัดจัดการ เช่นที่ ผศ.ชล สะท้อนว่า “ประเด็นท้าทายย่อยที่ SDG Move สังเคราะห์มา ได้แก่ 1) ระบบผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 3) เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน 4) การตั้งรับปรับตัวต่อภัยพิบัติ 5) ระบบอภิบาลและกลไกขับเคลื่อน 6) สุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ”

ดร.ธัชไท ชวนตอบตั้งคำถามต่อว่า7 ปีที่เดินมา ยังคงมีประเด็นใดที่ยังต้องก้าวไปให้ถึง ซึ่งอีก 7 ปีสู่ 2030 ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร เราต้องกลับมาทบทวนสถานะ เมื่อรู้สถานะแล้วจะได้ทราบว่าควรก้าวไปต่อเช่นไร มุมส่วนราชการที่มีส่วนในการทำหน้าที่บูรณาการส่วนต่าง ๆ เราได้ว่า ทำอย่างไรให้เสริมจุดแข็งที่มีอยู่ ซ่อมแซมจุดอ่อนในขั้นวิกฤต  ขณะที่ ประเทศไทย เราใช้การขับเคลื่อนในประเทศเป็นหลัก โดยมี 4 เรื่องหลักที่ สศช. ได้มีการตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากมีสถานะที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต อาทิ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 ลด NCDs ลดการเสียชีวิตการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป้าหมายที่ 14 ลดมลพิษทางทะเล และเป้าหมายที่ 15 บริการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า โดยทิ้งท้ายประเด็นนี้ไว้ว่า “ผู้เล่นหลักในการสร้างความยั่งยืน คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนในแบบมุมมองทั่วไป เกิดคำถามขึ้นมาประการหนึ่งว่า ในเมื่อประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากร ทำไมเราเดินมาถึงจุดที่เป็นผู้ผลิต และผู้ได้รับผลกระทบจากความมั่นคงทางอาหารพร้อม ๆ กันได้อย่างไร

คุณวนัน ให้ความเห็นว่า “แทนที่จะมองว่า SDGs คือของโลก จริง ๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องระบุคำว่า SDGs ก็ได้ เพราะหากเราสนทนากับคนในพื้นที่ เช่น เกษตรกร ก็จะพบว่าสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำ คือ SDGs อยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการนำ SDGs ของโลกหรือว่าของประเทศมาครอบพวกเขาเหล่านั้นไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญว่า คุณจะทำอย่างไรให้เรียนรู้สิ่งที่เขาทำ คือ ความยั่งยืนอยู่แล้วพลิกขึ้นมาให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้รับทราบ” 

อีกประเด็นหนึ่ง คุณวนัน ชวนให้คิดคือ “หากมองว่า SDGs กับภาวะโลกร้อน เป็นเป้าที่ดำเนินการไปให้ถึง เราจึงจำเป็นต้องมองว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร เช่น ร้อนทำให้แสบผิว จะจัดการอย่างไร อนาคตอาจมีนโยบายเป็นหนึ่งแนวทางในการป้องกันและปรับตัว เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ไหม เพราะการปรับตัวผลกระทบจากโลกร้อน และพยายามพูดถึงความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อการปรับตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ และยิ่งคุณช้ากับการรับมือและการปรับตัว เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจเลวร้ายขึ้น ซึ่งถ้ามันเลวร้ายขึ้นจนปรับตัวไม่ได้ คุณต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านั้นที่เกิดขึ้น”

เพื่อการแก้ไขปัญหาช่องว่างที่ไปไม่ถึง คุณวนัน อธฺิบายว่า “เราควรกลับมาทบทวนว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบนโยบาย เพราะภาคประชาชนมีความหลากหลาย ทำให้หนึ่งองค์กรไม่สามารถให้ความเห็นที่ครอบคลุมต่อภาคประชาสังคมทั้งหมดได้ เราจึงอาจมองเรื่องนี้ใหม่ด้วยว่า จะทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการมีส่วนร่วม แต่ต้องมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม และมีความหมาย สามารถติดตามตรวจสอบได้”

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอีกโจทย์ความท้าทายของ SDGs ส่วนนี้ ดร.เพชร ให้ความเห็นว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องที่คนอาจะมองข้าม เพราะมองว่าเป็นนามธรรม ซึ่งวิกฤตด้านธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความรุนแรงกว่าภาวะโลกร้อนด้วยซ้ำไป ซึ่งมีขีดความสามารถในการรองรับของโลก (planetary boundaries) จึงควรมองว่าขอบเขตใดที่จะไปต่อได้” ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นอีกความท้าทายสำคัญที่ผ่านมา  ดร.เพชร ระบุว่า “ที่ผ่านมา แม้เราจะมีนโยบายมากมายที่ถูกกำหนดไว้ แต่ก็ถูกพบว่ามักถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะหากไม่มีการติดตาม ไม่ส่งเสียง รวมถึงสื่อมีการปล่อยผ่าน อาจทำให้ทุกอย่างที่กำหนดไว้ไม่ได้รับการแก้ไข เราอยากจะเห็นการเมืองใหม่ ที่มีความรับผิดชอบ หรือ การมีส่วนร่วมและถูกติดตาม พร้อมนำไปใช้ได้จริง

ขณะที่ ดร.เดชรัต มองผ่านแว่นพรรคการเมืองจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลว่า “เรื่อง SDGs พรรคก้าวไกลก็คิดหนักเหมือนกันว่าเราจะผลักดันได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย และจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล พรรคเราพบ 8 ประเด็นใหญ่ ๆ ที่ต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ประเด็นแรก การศึกษา โดยเฉพาะ ‘ความเท่าเทียม’ ในแง่โอกาสและคุณภาพ และ ‘ความเท่าทัน’ ประเด็นปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเด็นที่สอง สุขภาพ นอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่น่ากังวลแล้ว ก็คือเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งเรามองว่ามันเป็นภาพตัดขวางที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ และจะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ประเด็นที่สาม การพลิกโฉมด้านพลังงาน ให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เปลี่ยนผ่านมาใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ประเด็นที่สี่ ความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตร ประเด็นที่ห้า เมืองและชุมชน เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลาย ๆ เรื่อง ประเด็นที่หก ‘Digitalization’ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้และทำให้หลาย ๆ เรื่องเป็นไปในระบบดิจิทัล ซึ่งพรรคเราตั้งใจนำมาใช้กับระบบสวัสดิการเพื่อช่วยให้ไม่มีใครตกหล่นด้วย ประเด็นที่เจ็ด การอนุรักษ์เชิงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าที่มีการเผาไหม้อย่างมาก เราต้องสนับสนุนคนทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ประเด็นที่แปด โครงสร้างอำนาจ เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องตัดขวางกับทุกประเด็น ตรงนี้หมายถึงเรื่องการปรับแก้กฎหมายและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ภายใต้โจทย์ที่ว่าท้องถิ่นจะมีขีดความสามารถรับเอา SDGs ไปปรับใช้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ยังไม่มีกรอบชัดเจน พร้อมกันนั้นก็ต้องเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมให้เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนด้วย

ต่อประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ดร.เดชรัตน์ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงกลไกเศรษฐกิจเรามักพูดถึงแต่มุมที่เป็นผลประโยชน์เพิ่ม เช่นที่เราตื่นเต้นกับคาร์บอนเครดิตเป็นพิเศษ แต่เราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับการคุยกันเรื่องภาษีคาร์บอน ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศเราก็อยู่ในประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ

ความรับผิดชอบของพวกเรามันควรอยู่ในระดับไหน และผู้ที่จะรับผลจากพวกเราก็ไม่ใช่ใคร ลูกหลานของเรา เช่นนั้นการตั้งคำถามลักษณะนี้ยังน้อยไป จึงควรตั้งคำถามในเชิงเศรษฐกิจที่เราควบคุมตัวเราเองให้ดีขึ้น

สำหรับพรรคก้าวไกลเรื่องนี้เป็นโครงสร้างทางอำนาจแบบหนึ่ง ในความหมายที่ว่าถ้าเราพูดเฉพาะสิ่งที่เราได้ประโยชน์นั่นคือการที่เราใช้อำนาจผลักภาระเหลือให้กับคนรุ่นหลัง


‘ความหวัง’ และ ‘แนวทางขยับ’ ส่งต่อรัฐบาลใหม่

ประเด็นท้าทายข้างต้นต้องถูกทบทวนและเร่งรัดจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ครึ่งหลังของการขับเคลื่อน SDGs ในไทยสามารถขยับเข้าใกล้เส้นความสำเร็จได้มากขึ้น แน่นอนที่สุดว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่ตัวแสดงสำคัญอย่าง ‘รัฐบาล’ ก็ต้องมองไกลและมองให้ขาดว่าจะขยับขับเคลื่อนอย่างไร ซึ่งอีกไม่กี่วันสังคมไทยก็จะได้รัฐบาลใหม่แล้ว ไม่ว่าฟากฝั่งไหนหรือพรรคใดจะได้ครองอำนาจนำในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ท้ายที่สุดก็ควรจริงจังและให้ความสำคัญกับวิธีการบรรลุ SDGs พร้อมกันนั้นก็อาจต้องมองให้พ้นไปถึงบริบทโลกด้วย

คุณวนัน ข้อเสนอต่อความหวังใหม่ เสนอว่า “เรื่องของความชอบธรรมด้านพลังงาน เช่นหากกล่าวถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความลุ่มลึก มีโจทย์อยู่ว่าเราจะทำอย่างไนในการการสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้รับทราบในวงกว้างไม่แค่ในประเทศแต่รวมถึงในต่างประเทศด้วย ซึ่ง หนึ่ง ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานถ้าหากเกิดการปรับเปลี่ยน เราจะดำเนินการได้อย่างไร ในการไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่ เราสามารถก้าวกระโดดไปได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้หากเพียงแค่เปลี่ยนผ่านคงจะช้าเกินไป และ สอง การดำเนินการเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน เราควรมุ่งประเด็นไปสู่การลด ละ เลิกต้นตอของการผลิตก๊าซ ไม่ใช่เพียงแค่โยกย้ายสิทธิหรือใช้เงินซื้อสิทธิเท่านั้น  เพราะฉะนั้นการปล่อยก๊าซที่ต้นตอจะไม่เกิดขึ้น”

ผศ.ชล ให้ความเห็นต่อประเด็นข้างต้นว่าการขับเคลื่อน SDGs เราต้องมองในบริบทของโลกและบริบทของประเทศ เพราะบางครั้งเราคิดเพียงประเทศของเรา ในบริบทที่ไม่มีความขัดแย้งมากนัก แต่ในความเป็นจริงเรากำลังอยู่ในโลกที่มีความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เช่นประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาที่มีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นตัวอย่างสำคัญว่าข้างนอกมีความขัดแย้ง ทั้งนี้ ถ้ามองในภาพที่ใหญ่เรียกว่าเป็นการสร้างพื้นที่ทางอำนาจในฝั่งของขั้วอำนาจนิยมซึ่งนำโดย รัสเซีย-จีน กับ ฝั่งประชาธิปไตยซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เรามีการขยับที่คิดพิจารณาเรื่องขั้วอำนาจเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วการขยับเรื่อง SDGs ไม่ว่าจะสถานการณ์การเมืองเป็นแบบใด ก็ควรเป็นเรื่องของทุกขั้วการเมืองทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น เช่นที่เราเห็นตัวอย่างจากความร่วมมือ ‘COP15’ ที่ทุกขั้วอำนาจตกลงร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลาย

สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม หรือก้าวหน้า SDGs ควรเป็นประเด็นร่วมของพรรคทั้ง 2 ฝั่ง จึงไม่ใช่เวลาที่ต้องมาเถียงกันแล้วว่าควรทำหรือไม่ควรทำ แต่มีเพียงเป้าเดียวกันที่ควรต้องไปสู่คือต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุ แน่นอนในเรื่องเส้นทางสนับสนุนอาจแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถกเถียงกันต่อได้


รัฐราชการ กับการพลิกโฉม ผลักดัน SDGs

สืบเนื่องจากประเด็นการพลิกโฉมส่วนราชการที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน SDGs ดร.ธัชไท ให้ความเห็นว่าสศช. เป็นเลขานุการกลางของ SDGs ตั้งแต่กระบวนการขับเคลื่อน วางแผน และประเมินผล ความท้าทายที่ต้องเผชิญ คือการนำแผนไปสู่แนวทางการปฏิบัติ เช่นหากเรากล่าวถึง การศึกษาเพื่อ SDGs ในปัจจุบัน ยังเป็นแค่การศึกษารูปแบบทางเลือก ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้แก่นักเรียนในทุกระดับและทุกช่วงวัย ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง SDG ยังเป็นเพียงเรื่องการแนะนำ การศึกษาควรมีการผนวกและปลูกฝังให้แก่เด็กในทุกกลุ่มวัยตามความเหมาะสม เพราะแต่ละช่วงวัยนั้นก็มีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน” 

เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ดร.ธัชไท เสริมว่า  “เราควรนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ มาปรับใช้ในการพัฒนาและปิดช่องว่างของ SDGs ไม่เพียงมองว่าเป็นเรื่องของการสั่งสมความรู้ใหม่แต่เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและพร้อมใช้มาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อบริบทของเรา ขณะเดียวกัน การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ก็สำคัญ จำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์เชื่อมโยงบริบทต่าง ๆ  เพื่อเป็นภาครัฐแบบใหม่ ภาครัฐจึงได้พยายามปรับระบบกฎหมายให้ทุกคนสามารถเกาะเกี่ยวสิ่งนี้ไปด้วยกันได้”

ด้วยประเด็นกฎหมายข้างต้น ดร.เพชร ให้ความเห็นประเด็นนี้ว่า “เราจะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อความสมดุลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในบริบทกฎหมาย ซึ่งการเอื้อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ ตามตัวบทฎหมายของเราเอง ควรมองภาพแบบ win-win scenario เพราะหากว่าความหลากหลายทางชีวภาพ คือต้นทุนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น หากนโยบายที่มีปัญหาคือ ภาษีที่ดิน ที่ไปทำลายความหลากหลายทางชีวภาพความรกร้างว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้พื้นที่เหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปขาดความหลากหลายทางชีวภาพ เราอยากเห็นนโยบายที่ขยายผล ทำด้วยความรู้และความเข้าใจมาช่วยกันในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ขณะที่ หากมองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าการทำให้การอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ รัฐบาลมีการลงทุนระดับหนึ่ง  มีการศึกษาวิจัยต่าง ๆ แต่ปัญหาที่ผ่านมาเราไม่เกิดการขยายผล การอนุรักษ์ไม่ได้เป็นเพียง rocket science แต่ต้องมีการสร้างความเข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และขยายผลออกไปด้วย ซึ่งหวังว่าเราจะได้คุยในเรื่องที่ก้าวหน้าต่อไปมากยิ่งขึ้น”

ด้าน Mr. Meyer เผยความหวังต่อการเลือกตั้งที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปว่า “การเลือกตั้งของประเทศไทยที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปคือหมุดหมายสำคัญสำหรับการขยับขับเคลื่อนโดยที่ประชาชนมีโอกาสเฝ้าสังเกตการณ์การขยายขอบเขตข้อผูกพันที่พวกเขาจะได้เห็นจากรัฐบาลชุดใหม่”

อย่างไรก็ดี Mr. Meyer มองว่าการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของรัฐบาลเพียงภาคส่วนเดียว หากแต่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาคประชาชนด้วย โดยโจทย์ท้าทายคือการนำเป้าหมายต่าง ๆ ลงไปขยับขับเคลื่อนในชุมชน เนื่องจากการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ขยับใกล้ความสำเร็จได้มากที่สุด โดยการมีส่วนร่วมนั้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่ระยะการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่ชุมชนควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ระยะการตัดสินใจ ทั้งนี้หากอ้างอิงจากบทเรียนที่รวบรวมโดย UNDP พบว่าการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred development) ยังคงเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงเป็นประโยชน์เชิงบวกแก่ประชาชนเท่านั้น แต่โครงการขับเคลื่อนต่าง ๆ ก็จะมีความยั่งยืนในตัวมันเองด้วย

Mr. Meyer เสนอต่อว่าในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs จึงไม่ควรใช้กรอบการทำงานที่กำหนดจากแนวทางจากบนลงล่าง แต่ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตัดสินใจพิจารณาว่าโครงการหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็สอดรับกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอการกระจายอำนาจอยู่แล้ว

ด้าน ผศ.ชล กล่าวว่าการขับเคลื่อน SDGs ไปได้ช้ามากในปัจจุบัน แต่จะเร่งเครื่องให้เร็วขึ้นนั้นเร่งได้จริง ๆ หรือไม่ เพราะการมุ่งไปสู่ SDGs นั้น ณ ตอนนี้ไม่ใช่ทางราบอีกแล้ว แต่เป็นการเคลื่อนขึ้นภูเขา เพราะจากการประเมินของ SDG Index โดย SDSN แล้ว SDG Move นำมาแยกประเด็นที่เป็นสีส้ม สีแดง พบว่ามีหลายประเด็นที่ถดถอยลงกว่าเดิมหรือไม่ก้าวหน้า นั่นหมายความประเด็นวิกฤตของ SDGs ของไทย มันมีความท้าทายเป็นพิเศษ เช่นนั้นการเร่งเครื่องคือทำแบบเดิมแต่เพิ่มความเร็วจึงอาจไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว แต่ความเป็นจริงเราต้องเปลี่ยนวิธี กระโดด พลิกโฉม ‘transformation’ จึงเป็นคำสำคัญที่ไม่ใช่แค่การมอง SDGs เป็นกลุ่มประเด็นเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วย

ผศ.ชล เสนอการเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนและประชาสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบายและตัดสินใจ และทำอย่างไรให้ SDGs เป็นประเด็นในความรับผิดชอบของรัฐสภาด้วย 2) SDGs ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางประเด็นอาจขัดกันได้ เพียงต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกันเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยสุดหรือมีการชดเชยอย่างเป็นธรรมมากที่สุด 3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันนโยบายด้านการวิจัยในภาพรวมเน้นไปด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเยอะ ส่วนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นน้อยมาก น้อยในระดับที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยและการวิจัย เช่นนั้น SDGs ควรเป็นวาระสำคัญของ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ 4) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสองภาคส่วน คือ ‘สื่อ’ ต้องผลักดันเรื่องนี้ให้คนได้รู้ว่าปัญหา โครงการ หรือการพัฒนาต่าง ๆ กระทบผู้คนอย่างไร และมีทางออกอย่างไร อีกส่วนคือ ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีอยู่ในนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงเห็นว่าควรถูกผนวกเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ เพื่อช่วยให้คนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น”


นิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field

นิทรรศการภาพถ่าย จุดประกายความสนใจมาจากที่ผ่านมาเราได้มีการถกสนทนากันในทั่วโลก แต่ในบริบทประเทศในบทสนทนาเหล่านี้ ยังคงไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ด้วยเหตุผลที่อาจจะเป็นเนื้อหาเรื่องราวที่ยังคงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนทั่วไป จึงนำมาสู่การเกิดขึ้นของ นิทรรศการภาพถ่าย ‘ภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน’ ที่ต้องการจะใช้ภาพถ่าย ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้คนได้มากกว่า จึงหยิบยกภาพถ่ายมาเป็นเครื่องสะท้อนถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นความท้าทายผ่านการนำเสนอด้วยภาพถ่าย ที่สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ได้รับการพัฒนา และกลุ่มคนที่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง เพราะทุกภาพถ่ายล้วนสะท้อนเรื่องราวและมุมมองของผู้ถ่าย ผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นจากภาพเหล่านั้น

เวทีเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย ‘ภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน’ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Bangkok Tribune/ Decode.plus/ SDG Move และ SEA Junction  ภายใต้สนับสนุนจากมูลนิธิ Konrad Adenauer Stiftung Thailand และ มิวเซียมสยาม

อติรุจ ดือเระ และแพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รัฐมนตรีฯ พลังงาน ผลักดันไทยสู่สังคมพลังงานสะอาด เผยกำลังเตรียมเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำก๊าซมาใช้ 
สรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนาสี่พรรคการเมือง หัวข้อ “นโยบายที่ไทยต้องการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม”
SDG Updates | สรุปเสวนา หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling 
SDG Updates | เศรษฐศาสตร์การเมืองในพลังงาน: การผูกขาดพลังงานสู่การพัฒนาถอยหลัง (EP.17) 

รับชมวิดีโองานเสวนาได้ที่ : SPECIAL FORUM l PHOTO ESSAY EXHIBITION: SDGs l The Depth of Field

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น