SDG Updates | เตรียมตัวสำหรับ HLPF 2023 ในปีครึ่งทางของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) หรือ ‘HLPF 2023’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 กรกฎาคม 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นอีกกิจกรรมสำคัญของการทำงานด้านพัฒนาระดับโลกที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ณ จุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อโลกของเรากำลังจะก้าวผ่านครึ่งทาง หรือ 8 ปีของการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 (2030 Agenda) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แล้ว

เวทีการประชุม HLPF ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีเป็นแพลตฟอร์มกลางของสหประชาชาติเพื่อการติดตามและทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และ SDGs ในระดับโลกของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่ลงนามรับรองลงนามรับรองวาระการพัฒนาดังกล่าว โดยมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม

... และสำหรับ HLPF ปี 2023 นี้ ยังมีความพิเศษในแง่ของการเป็นเวทีเพื่อเตรียมการไปสู่อีกเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ นั่นคือ การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ประจำปี พ.ศ. 2566 หรือ SDG Summit 2023

ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมาในเดือนกันยายน โดยการประชุม SDG Summit นั้นเกิดขึ้นทุกสี่ปี (ปีนี้เป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่การรับรองวาระการพัฒนา 2030 เมื่อปี ค.ศ. 2015) โดยปีนี้ถือเป็น “Mid-term review” เพื่อทบทวนความก้าวหน้าอย่างครอบคลุมของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย และเป็นการประชุมในระดับผู้นำของรัฐ ในขณะที่เวที HLPF ประจำปีนั้น แต่ละประเทศจะส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีให้เป็นผู้เข้าร่วม

ซ้าย: ภาพบรรยากาศระหว่างตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลงบนเวทีการประชุม HLPF 2022
ขวา: พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ การประชุม SDG Summit 2019
ที่มาภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ


HLPF 2023 Theme และ SDGs in Focus

การประชุม HLPF 2023 จัดขึ้นในธีมหลักที่ยังคงกล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤติการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เหมือนสองปีที่ผ่านมา คือ

Accelerating the recovery from the coronavirus disease (COVID-19) and the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development at all levels” หรือ “เร่งการฟื้นตัวจากโควิด-19 และเร่งการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ในทุกระดับอย่างเต็มรูปแบบ”

โดยจะเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ประเมินผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกต่อการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาปี 2030 ทั้งวิกฤติด้านพลังงาน อาหาร ด้านมนุษยธรรมที่เป็นผลพวงจากสงครามในยูเครน ทับซ้อนกับความเสียหายอย่างต่อเนื่องที่เป็นเหตุจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา และนับรวมไปถึงวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการเจรจาหารือที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม/จากระดับรากฐาน (transformation) เกิดนโยบายที่จำเป็นเพื่อเอาชนะวิกฤติเหล่านี้ และทวงคืนความก้าวหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายที่เสียไปมาให้ได้


ธีมการประชุม HLPF ที่ผ่านมา

  • HLPF 2016 – Ensuring that no one is left behind
  • HLPF 2017 – Eradicating poverty and promoting prosperity in a changing world
  • HLPF 2018 – Transformation towards sustainable and resilient societies
  • HLPF 2019 – Empowering people and ensuring inclusiveness and equality
  • HLPF 2020 – Accelerated action and transformative pathways: realizing the decade of action and delivery for sustainable development
  • HLPF 2021 – Sustainable and resilient recovery from the COVID-19 pandemic that promotes the economic, social and environmental dimensions of sustainable development: building an inclusive and effective path for the achievement of the 2030 Agenda in the context of the decade of action and delivery for sustainable development
  • HLPF 2022 – Building back better from the coronavirus disease (COVID-19) while advancing the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development

นอกจากเวทีภาพใหญ่แล้ว ทุกปีในการประชุม HLPF จะมีการทบทวนความก้าวหน้าเชิงลึกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในบางเป้าหมายเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่า “SDGs in Focus” ซึ่งในปี 2023 นี้ มีทั้งหมด 5 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อหารือด้านนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รวมไปถึงพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายที่โฟกัสกับ SDGs เป้าหมายอื่น ๆ ด้วย


รายงาน VNR ประจำปี 2023

การจัดทำและนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมถือเป็นกิจกรรมสำคัญของ HLPF ทุกปี เพราะแต่ละประเทศจะได้มีโอกาสนำเสนอความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในดำเนินการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 มาแลกเปลี่ยนกับประเทศสมาชิกและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วม โดยการจัดทำและรายงาน VNR นี้ได้กลายเป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นเตือนให้การขับเคลื่อน SDGs ของแต่ละประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2023 นี้ มีผู้แทนจาก 39 ประเทศและ 1 กลุ่มภูมิภาค – สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้รับเลือกนำเสนอรายงานระดับชาติในครั้งนี้ โดยเป็นการรายงานครั้งที่สองของประเทศส่วนใหญ่ถึง 37 ประเทศ โดยประเทศที่จะได้นำเสนอรายงาน VNR ต่อที่ประชุม HLPF 2023 ประกอบด้วย

  • 4 ประเทศจากละตินอเมริกาและแคริบเบียน: บาร์เบโดส ชิลี (นำเสนอครั้งที่สาม) กายอานา และเซนต์คิตส์และเนวิส (นำเสนอครั้งแรก)
  • 14 ประเทศจากยุโรป: เบลเยียม บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย สหภาพยุโรป (นำเสนอครั้งแรก) ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย และแคนาดา*
  • 7 ประเทศจากแอฟริกา: บูร์กินาฟาโซ คอโมโรส สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวันดา แทนซาเนีย และแซมเบีย
  • 15 ประเทศจากเอเชียและแปซิฟิก: บาห์เรน บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ฟิจิ คูเวต มัลดีฟส์ มองโกเลีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ซีเรีย ทาจิกิสถาน ติมอร์-เลสเต เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

หมายเหตุ * แคนาดา จัดอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและอื่น ๆ (Western European and Others Group: WEOG) ตามการแบ่งกลุ่มภูมิภาคขององค์การสหประชาชาติ

หากนับตั้งแต่มีการจัดทำและรายงาน VNR ครั้งแรกเมื่อปี 2016 จนถึงปีปัจจุบัน จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศพบว่ามีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ ไม่เคย จัดทำและนำเสนอ VNR เลย ได้แก่ เฮติ เมียนมา ซูดานใต้ เยเมน และประเทศชั้นนำระดับโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา ด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงต่างประเทศได้มีการนำเสนอรายงาน VNR อย่างเป็นทางการไปแล้วถึงสองครั้งในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา คือเมื่อครั้งการประชุม HLPF ปี 2017 และปี 2021 รวมถึงได้จัดทำรายงาน VNR เพื่อทบทวนการดำเนินงานในระดับประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึง รายงาน VNR ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2017 – 2021 ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่ SEP4SDGs


การรับรองปฏิญญาทางการเมือง
ที่จะเกิดขึ้นใน SDG Summit 2023

ตามปกติของการประชุม HLPF ในวันสุดท้ายของการประชุมทางการระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segments) ที่ประชุมจะลงนามรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ยกเว้นในปีที่จะมีเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองเกิดขึ้นทั้งหมดสองเวที คือ HLPF ในเดือนกรกฎาคม และ SDG Summit ในเดือนกันยายน เวทีประชุมลักษณะนี้จะเกิดขึ้นทุก 4 ปี และปี 2023 ตรงกับรอบวาระนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมทั้งสองเวทีจะมีการรับรองปฏิญญาทางการเมือง (Political Declaration) ที่ได้ผ่านการเจรจาร่วมกันของประเทศสมาชิกหนึ่งฉบับที่จะมีเนื้อหาสอดรับกับประเด็นที่พูดคุยกันทั้งสองเวที ซึ่งในขณะนี้ ทางผู้ประสานงานการจัดเวที SDG Summit ได้เผยแพร่ร่างเอกสารฉบับแรกของปฏิญญาทางการเมืองประจำปี 2023 หรือที่เรียกกันว่า “Zero Draft” แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา และส่งเอกสารเวียนให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเบื้องต้นต่อร่างดังกล่าว ก่อนจะมีการเจรจาและรับรองอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้

เนื้อหาของ Zero draft ฉบับนี้มีส่วนที่กล่าวถึง มติร่วมกันของประเทศสมาชิก ความก้าวหน้า ช่องว่างและความท้าทายที่ยังคงอยู่ และการเรียกร้องให้ลงมือทำ (call to action) เพื่อไปสู่โลกที่วาดภาพไว้ในปี 2030 ให้จงได้ โดยได้กล่าวถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs (transformative actions) ที่เน้นไปที่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษาที่มีคุณภาพ การแปลงไปสู่ดิจิทัล (digitalization) ระบบอาหารที่ยั่งยืน พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด และการลดความเสี่ยงและการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากภัยพิบัติ รวมไปถึงเสนอจุดคานงัด (levers) เพื่อเร่งบรรลุเป้าหมาย SDGs อันได้แก่ การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) และความร่วมมือ การมีข้อมูลความก้าวหน้าของ SDGs ที่มีคุณภาพสูง ทันเวลา และเชื่อถือได้ และการบูรณาการ SDGs เข้ากับกรอบนโยบายระดับชาติ เป็นต้น


เอกสารประกอบการประชุมที่ควรติดตาม

เอกสารและรายงานชื้นสำคัญที่เผยแพร่ก่อนการประชุม HLPF ที่กำลังจะเกิดขึ้น

รายงานความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ประจำปี จัดทำโดยเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลล่าสุดของ SDGs ที่พบว่าจากจำนวน 140 เป้าประสงค์ (targets) ที่มีข้อมูล มีเป้าประสงค์เพียงแค่ประมาณ 12% เท่านั้นที่คาดว่าจะสามารถบรรลุได้ทันในปี 2030 เกือบครึ่งหนึ่งที่แม้จะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าแต่ก็ช้ากว่าเป้ามาก และส่วนเป้าประสงค์อีกประมาณ 30% หยุดนิ่งหรือถดถอยไปจากเส้นฐานในปี 2015 ด้วยซ้ำ

สาระสำคัญ (main messages) จากรายงาน VNR ทั้ง 40 ฉบับ ที่จะขึ้นรายงานบนเวที HLPF 2023 นี้

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก ประจำปี 2023 จัดทำโดยกลุ่มนักวิชาการอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ (Independent Group of Scientists (IGOS) appointed by the Secretary-General) ที่จัดทำขึ้นทุกสี่ปีเพื่อประกอบการประชุม SDG Summit จัดทำขึ้นปีแรกเมื่อปี 2019 โดยฉบับปีนี้จะให้ความสำคัญไปที่การเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ผ่านจุดเข้ากระทำต่าง ๆ และทำให้สามารถใช้ศาสตร์ (science) เป็นหลักฐานสนับสนุนในการดำเนินการ

เอกสารรวบรวมบทสรุปผู้บริหารข้อคิดเห็นแสดงจุดยืนของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (Major groups) 15 กลุ่ม** ต่อการเร่งการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาปี 2030

** 15 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ ผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) องค์กรระดับท้องถิ่น กลุ่มแรงงานและสหภาพแรงงาน กลุ่มผู้ทำงานด้านการศึกษาและนักวิชาการ ตัวแทนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ทำงานอาสาสมัคร กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มองค์กรประชาสังคมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Regional CSOs Engagement) ชุมชนผู้ถูกเลือกปฏิบัติจากการทำงานและเชื้อสาย กลุ่ม LGBTI กลุ่มผู่ทำงานด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา (FfD) ชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR)


ครึ่งหลังของการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีทิศทางเป็นเช่นไร
การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมเพื่อโลกที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ติดตามได้จากเวทีการประชุม HLPF ครั้งนี้


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการและพิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


ติตตามข่าวสาร HLPF 2023
ได้ที่ :  https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2023
และ VNR ที่ : https://hlpf.un.org/VNR
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
High-Level Political Forum on Sustainable Development (UN)
HLPF Prepares to Accelerate Full Implementation of 2030 Agenda (IISD SDG Knowledge Hub)
We Need 7 Years of Accelerated, Transformative Action to Achieve SDGs (IISD SDG Knowledge Hub)
Major Groups Share Views on Accelerating 2030 Agenda (IISD SDG Knowledge Hub)
Zero Draft of SDG Summit Political Declaration Turns Our World Towards 2030 (IISD SDG Knowledge Hub)

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น