SDG Updates | สรุปประเด็นการประชุม HLPF 2023  

จบไปแล้วกับหนึ่งกิจกรรมสำคัญของการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) หรือ ‘HLPF 2023’ ภายใต้ธีม “Accelerating the recovery from the coronavirus disease (COVID-19) and the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development at all levels” หรือ “เร่งการฟื้นตัวจากโควิด-19 และเร่งการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ในทุกระดับอย่างเต็มรูปแบบ” เมื่อวันที่ 10-19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 8 วัน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สถานที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากรัฐสมาชิกสหประชาชาติกว่า 130 คนและตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (Major Groups and Other Stakeholders: MGoS) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) กว่า 800 คน มาร่วมกันอภิปราย-ถกเถียง-แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและหาหนทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ทันในอีกเจ็ดปีครึ่งหลังนี้

ในบทความฉบับนี้ SDG Move จะขอสรุปเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจจาก “Summary Report การประชุม HLPF 2023” ที่จัดทำโดย Earth Negotiations Bulletin (ENB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สื่อข่าวสารประจำวันด้านการเจรจาของสหประชาชาติในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The International Institute for Sustainable Development: IISD) เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้อัปเดตผลลัพธ์จากการประชุมที่เพิ่งจบไปนี้

รูปภาพจาก IISD/ENB | Kiara Worth

เวทีประชุมหัวข้อ Overcoming the crises, driving transformation for the SDGs, and leaving no one behind – ก้าวข้ามวิกฤต ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการบรรลุ SDGs และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การประชุมทางการเซสชั่นแรกหลังพิธีเปิดประชุม โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานภายใต้ระบบของสหประชาชาติและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (MGoS) เพื่อร่วมกันระดมความเห็นค้นหานโยบายหรือการริเริ่มดำเนินการใดที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนระดับรากฐาน (transformation) ที่จะเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ช่วยให้ประชาคมโลกเร่งฟื้นฟูจากวิกฤตโรคระบาด ยกระดับการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้จริงให้ทันเวลา โดยผู้ร่วมอภิปรายได้เน้นย้ำถึงสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนจากนี้ไป ประกอบไปด้วย

  • การสร้างระบบผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว ครอบคลุม และยั่งยืนมากขึ้น
  • การทำให้เด็กและเยาวชนเป็นหัวใจของความพยายามเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • มีการตัดสินใจ [ทางนโยบาย] เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่ตระหนักและเข้าใจถึงความเสี่ยง (risk-informed decision) ซึ่งเน้นไปที่การป้องกันความเสี่ยงมากกว่าการจัดการภัยพิบัติ
  • เห็นความสำคัญขการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้นำประเทศ
  • ตระหนักว่าการตอบสนองต่อ SDGs ทั้งในระดับชาติและระดับโลกเป็นสิ่งแยกออกจากกันไม่ได้ (indivisibility) ว่าแบบใดสำคัญกว่ากัน
  • ไม่หลงลืมผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และ
  • มีแนวคิดว่าการทำงานด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล SDGs นั่นเป็นการลงทุนมากกว่าเป็นภาระ

วงหารือ SDGs In Focus ทบทวนความก้าวหน้าของ 5 เป้าหมาย SDGs

อ่าน Factsheets ทำความเข้าใจสถานะปัจจุบันของ SDGs ทั้ง 5 เป้าหมาย

SDG 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล)

จากรายงาน SDG 6 Synthesis Report 2023 พบว่าความก้าวหน้าล่าสุดของเป้าหมายนี้อยู่ในสถานะที่ “ออกนอกลู่นอกทางอย่างน่าตกใจ” (alarming off-track) โดยผู้ร่วมประชุมในเวทีมีข้อเสนอเฉพาะเจาะจงต่อวาระการพัฒนาด้านน้ำระดับโลกที่ควรทำต่อจากนี้ไป อาทิ 

  • จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการแบ่งปันความรู้และแนวทางทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการความไม่มั่นคงทางน้ำ (water insecurity)
  • เสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานระดับท้องถิ่นในกระบวนการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี และ
  • มีกระบวนทัศน์ในการป้องกันความเสี่ยงที่ไปเน้นหนักที่ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายหนักที่จะเกิดจากภัยที่เกี่ยวกับน้ำ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของกลไกการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถ และวิธีการอื่น ๆ ในการดำเนินการ โดยระบุว่าการทำงานตาม SDG 6 นั้นจะสนับสนุนเป้าหมายอื่น ๆ อีกหลายเป้าหมายด้วย เช่น ความมั่นคงทางอาหาร ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพและการศึกษา ที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้ สันติภาพและความปลอดภัย และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้)

การบรรลุ SDG 7 ให้ทันภายในปี 2030 เป็น “ความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้ แต่จำเป็นต้องมีนโยบายที่เหมาะสมและปณิธานเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น โดยผู้ร่วมประชุมได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของประเด็นดังต่อไปนี้

  • การสร้างงานในภาคส่วนพลังงานสีเขียว
  • การป้องกันการฟอกเขียว (green washing)
  • การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการจัดการความต้องการพลังงาน
  • เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการบรรลุการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (just transition)

นอกจากนี้ เนื้อหาจากการประชุมยังได้ชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องพลังงานนั้นเชื่อมโยงกับการบรรลุเป้าประสงค์ของ SDGs ถึง 2 ใน 3 จากทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ด้วยเลยทีเดียว

SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม)

การดำเนินการตาม SDG 9 ให้สำเร็จ กล่าวได้ว่า “มีความหวัง” เนื่องด้วยมีความก้าวหน้าที่ชัดเจนในบางเป้าประสงค์แล้ว เช่น การเข้าถึงเครือข่ายมือถือ แต่ยังคงต้องเพิ่มความเร็วในการทำงานกับเป้าประสงค์อื่น ๆ ให้สำเร็จเช่นกัน โดยเฉพาะกับในประเทศพัฒนาน้อยที่สุ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ผู้ร่วมประชุมเล็งเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง จะมีส่วนช่วยให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs อื่น ๆ ได้ด้วย

ผู้ร่วมประชุมยังกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจอื่นอีก อาทิ การตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว ในขณะที่รัฐบาลจะมีบทบาทคู่ขนานกันไปในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (enabling environment) ให้เกิดขึ้น และยังกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องเข้าใจความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นเมื่อโลกวิวัฒน์อย่างรวดเร็วและส่งผลต่อการแข่งขันทางสังคมเศรษฐกิจและปัญหาการกีดกันที่จะรุนแรงขึ้น

SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน)

จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานตาม SDG 11 ยังคงมีความท้าทายหลายประการรออยู่ อาทิ การขยายตัวของเขตเมือง ที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอและไม่สามารถจ่ายได้ รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน ผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอในการสร้างเมืองที่มีความยั่งยืนและจัดการกับวิกฤตที่อยู่อาศัย อาทิ การให้เงินอุดหนุนเพื่อค่าที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัววัยหนุ่มสาวและการควบคุมค่าเช่า และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการปลูกป่าในเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องเมืองและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับกับกลุ่มผู้ลี้ภัยและประชากรที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นด้วย โดยให้ข้อสังเกตว่ากลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ดีเพียงพอ จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่รัฐบาลหลายประเทศยังต้องทำงานใกล้ชิดต่อไป

SDG 17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

ยังมีความท้าทายในบางประเด็น เช่น ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ทั้งทางด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเทคโนโลยี และโดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อย โดยผู้ร่วมอภิปรายได้กล่าวถึงความจำเป็นของการดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อสนับสนุนการบรรลุ SDG 17 แบ่งออกเป็นในด้านการเงิน อาทิ

  • เพิ่มจำนวนและยกระดับการระดมเงินทุนภาคเอกชนและการเงินแบบผสมผสาน (blended finance) ให้มากขึ้น
  • ยกเลิกหนี้ในบางประเทศ
  • จัดหาเงินทุนสำหรับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่านกลไกที่ไม่ก่อหนี้
  • ลงทุนในกลุ่มผู้ที่อยู่แนวหน้าของการเผชิญปัญหา

และในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) อาทิ

  • มีแผน STI สำหรับ SDGs Roadmap
  • การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน STI เพื่อรองรับความท้าทายทางสังคมที่สำคัญ และ
  • การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์และนิวตรอนฟิวชันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เวทีประชุมหัวข้อ Overcoming Middle-income Countries’ Challenges in Advancing the 2030 Agenda – ก้าวข้ามความท้าทายของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในการเดินหน้าตามวาระการพัฒนาปี 2030

ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้เข้าร่วมการประชุมที่ว่าด้วยความท้าทายของ ‘กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง’ (MICs) กลุ่มประเทศที่เป็นบ้านของประชากรโลกถึง 75% รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการจัดเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุม HLPF ที่มุ่งเป้าไปที่การหาทางออกจาก “กับดัก” ที่กลุ่มประเทศนี้ติดอยู่โดยเฉพาะ ด้วยความที่เป็นประเทศที่เติบโตเกินกว่าที่จะได้รับความช่วยเหลือแบบผ่อนปรนจากหน่วยงานด้านการพัฒนาอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังคงประสบปัญหาในการหาเงินทุนเพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนา 2030 ได้มากพอ ทำให้ต้องประสบกับวิกฤตหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคอร์รัปชัน และการขาดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ล้วนก็เป็นความท้าทายระดับชาติที่กลุ่มประเทศนี้ต้องเผชิญ

ในเวทีนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเรียกร้องให้มีกระบวนการทบทวนความก้าวหน้าของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเป็นระยะ ๆ และส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการใช้ดัชนีความยากจนและความเปราะบางหลายมิติ (multidimensional poverty and vulnerability indices) ในการพิจารณาจัดสรรเงินทุนเพื่อการพัฒนา นอกเหนือไปจากการดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงอย่างเดียว ที่อาจเป็นช่องว่างในการเข้าถึงระบบสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มประเทศนี้

การดำเนินการเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในการบรรลุวาระการพัฒนาอื่น ๆ ที่ถูกเสนอขึ้นมา อาทิ

  • มีความร่วมมือใต้ – ใต้ และความร่วมมือแบบไตรภาคี (South-South and triangular cooperation)
  • ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก
  • แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices)
  • ลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ ความโปร่งใส และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
  • เสริมความเข้มแข็งการสนับสนุนทางสังคมให้ผู้เปราะบางและเพิ่มการเข้าถึงงาน
  • สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (economic diversification) และการค้าที่เป็นธรรม
  • สร้างประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล
  • รวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูล และ
  • ปิดช่องว่างทางด้านเพศและดิจิทัล

บทบาทของประเทศไทยบนเวที HLPF 2023

ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง และจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมายในประเทศไทย ได้แก่ SDG 6 SDG 7 SDG 11 และ SDG 17 โดยมีเนื้อหาโดยคร่าว ดังนี้

  • SDG 6 – การดำเนินการโดยยึดมั่นหลักการว่าการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะได้รับ
  • SDG 7 – การดำเนินการใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) สร้างหลักประกันการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก และ (3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลก
  • SDG 11 – การดำเนินโยบาย “บ้านสำหรับทุกคน” (Housing for All)
  • SDG 17 – การสนับสนุนแนวคิดความร่วมมือในการพัฒนา อาทิ การใช้ FinTech และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นต้น

และในช่วงการประชุมทางการระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segments) ในวันสุดท้าย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้ธีมหลัก และแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ภายในประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเน้นย้ำการใช้เศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อ่านถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลง ได้ที่นี่


เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนก่อนการประชุม SDG Summit ครั้งที่สอง จะเกิดขึ้นระหว่าง 18-19 กันยายน นี้ มาติดตามกันว่าผลลัพธ์ของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียน แนวทางนโยบาย การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ตลอดการประชุม HLPF 2023 รอบนี้ จะสร้างโมเมนตัวที่แรงพอในหมู่ผู้นำโลกไปสู่การกำหนดเส้นทางใหม่เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาระดับโลกนี้ให้ทันการณ์ได้หรือไม่

“We have not failed, because that negates all we have accomplished. We knew the Agenda had lofty ideas and we committed to this journey. We have not failed. The deadline is still ahead of us.” – Enrique Manalo, Secretary of Foreign Affairs (Philippines)

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการและพิสูจน์อักษร 
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


ติตตามข่าวสาร HLPF 2023
ได้ที่ :  https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2023
และ VNR ที่ : https://hlpf.un.org/VNR
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
HLPF 2023 Summary report, 10–19 July 2023 (Earth Negotiation Bulletin)
HLPF Debrief Discusses Main Takeaways, Draws Linkages with “Twin Summits” (IISD SDG Knowledge Hub)
HLPF 2023 Builds Momentum Towards SDG Summit (IISD SDG Knowledge Hub)
ประเทศไทยร่วมแสดงจุดยืนในการขับเคลื่อน SDGs อย่างจริงจังในเวที HLPF 2023 ณ สหประชาชาติ (สศช.)

Last Updated on สิงหาคม 16, 2023

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น