Human Rights Watch เรียกร้อง FIFA แก้ปัญหาการละล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นระบบ หลังพบนักกีฬาหญิงยังเผชิญการคุกคามทางเพศ

ก่อนจะทราบว่าทีมชาติใดจะครองถ้วยฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2566 ชวนอ่านความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในแวดวงกีฬาฟุตบอล ซึ่ง Human Rights Watch ออกมาตีแผ่และเรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) หรือ ‘ฟีฟ่า’ จัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้เป็นการแข่งขันที่มีทีมเข้าร่วมรอบสุดท้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 32 ทีม แน่นอนว่าตลอดหนึ่งเดือนมีการแข่งขันที่ชวนให้ตื่นเต้นและน่าสนใจหลายนัด อย่างไรก็ดีสิ่งที่แฟนบอลอาจไม่ได้เห็นปัญหาเบื้องหลังคือการล่วงละเมิดทางเพศ การจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมาการกำกับดูแลที่ไม่ดีและขาดสมดุลเปิดช่องให้เกิดการล่วงละเมิดและใช้ความรุนแรงทางเพศหลายครั้ง โดยข้อมูลจากการบันทึกของ Human Rights Watch ระบุว่าการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในสหพันธ์ฟุตบอลหลายแห่งส่งผลให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดเผชิญกับภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ความพิการทางร่างกาย และการบาดเจ็บตลอดชีวิต แต่การเปิดเผยถึงการถูกล่วงละเมิดก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากอาจถูกกดดันให้ยุติอาชีพในแวดวงกีฬาได้ 

Human Rights Watch นำกรณีการล่วงละเมิดทางเพศร่วมหารือกับฟีฟ่า พบว่าวงการกีฬาฟุตบอลไม่มีระบบการสอบสวนที่เน้นผู้ถูกล่วงละเมิดเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส ขณะที่ฟีฟ่า ยอมรับและสัญญาว่าจะมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายทั่วโลกเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิด และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ได้มีการเผยแพร่รายงานการจัดตั้ง ‘Independent Global Safe Sport Entity’ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระสากลเพื่อความปลอดภัยทางกีฬา โดยข้อค้นพบสำคัญคือฟีฟ่าไม่สามารถตรวจสอบตัวเองและผู้นำองค์กรได้ และความพยายามจัดตั้งองค์กรดังกล่าวยังมีข้อกังวลในเรื่องกระบวนการที่ไม่มีความชัดเจนซึ่งรวมถึงการขอเงินทุนสำหรับจัดตั้งด้วย 

Human Rights Watch และ Sport & Rights Alliance จึงเขียนจดหมายถึงฟีฟ่า เพื่อขอข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับแผนจัดตั้ง ‘Safe Sport Entity’ เพื่อจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศ อารมณ์ และร่างกายอย่างเป็นระบบ ตลอดจนให้การเยียวยาและการสนับสนุนเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากกีฬาฟุตบอล ซึ่งฟีฟ่ายังไม่มีคำตอบ

แม้นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของฟีฟ่าจะระบุว่าสหพันธ์จะมุ่งมั่นรักษาศักดิ์ศรีโดยกำเนิดและสิทธิอันเท่าเทียมของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสหพันธ์ แต่ข้อมูลการวิจัยของ Human Rights Watch ในญี่ปุ่น อัฟกานิสถาน และเฮติ กลับพบว่าฟีฟ่าล้มเหลวในการใช้กฎการปกป้องเด็กและยุติการข่มเหงรังแกในสหพันธ์ฟุตบอลและในสถานศึกษาระดับชาติ นักกีฬาเยาวชนหญิงจำนวนมากจึงเผชิญกับการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์และการล่วงละเมิดระหว่างการฝึกซ้อม 

ฟีฟ่าสนับสนุนเงินอย่างน้อย 1.5 ล้านดอลลาร์ต่อปีแก่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติแต่ละแห่ง มาตรการควบคุมทางการเงินจึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ฟีฟ่าสามารถใช้เพื่อบังคับให้มีการปฏิรูปองค์กรเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ 

ทั้งนี้ Human Rights Watch เรียกร้องให้ฟีฟ่าจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อรายงานการล่วงละเมิดและให้การสนับสนุนในกรณีฉุกเฉินและคุ้มครองผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดรวมถึงผู้แจ้งเบาะแส ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงนัดสุดท้ายจะปิดฉากลง 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ชวนอ่านรายงานความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนของฟุตบอลโลก 2022: จากวิสัยทัศน์เปิดประตูการพัฒนาถึงการผลักดัน 5 เสาหลักเพื่อความยั่งยืน
Human Rights Watch เผยแพร่คู่มือสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สื่อข่าวในมหกรรมฟุตบอลโลก 2022
– Voice of SDG Move | 01 พัฒนาการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: ประวัติศาสตร์ของรากฐานแห่งความยั่งยืน
– ILO รับข้อตกลงแรงงานระดับโลกฉบับแรก เสริมคุณค่าด้านสภาพการทำงานและสิทธิ ให้ครอบคลุมนักฟุตบอลอาชีพทั้งชายและหญิง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา : FIFA Must Show The Red Card To Sexual Abuse (Human Rights Watch)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น