หลายประเทศระบุให้ ‘เปิดเผยค่าจ้าง’ แต่ละตำแหน่ง เพื่อความชัดเจนและโปร่งใส – หนึ่งในวิธีลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศสภาพ

‘การทำงานรูปแบบเดียวกัน ควรได้รับค่าจ้างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม’ รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2566 พบว่าต้องใช้เวลาอีก 169 ปีในการปิดช่องว่างระหว่างเพศของเศรษฐกิจโลก ผู้หญิงจึงจะมีรายได้เท่าเทียมกับผู้ชาย เพื่อความโปร่งใสของค่าจ้าง ที่ประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป จึงกำหนดให้มีคำสั่งนำการจ่ายเงินเดือนโปร่งใส (pay transparency) มาใช้ในเดือนเมษายน นั่นหมายความว่าประเทศในสหภาพยุโรป (European Union: EU) จะมีเวลาสามปีในการบังคับใช้กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อลดช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันด้วยเหตุจากเพศสภาพ (gender pay gap) ในระดับประเทศ

ช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันด้วยเหตุจากเพศสภาพยังคงมีอยู่ทั่วโลก ตามรายงานช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ของ World Economic Forum ปี 2566 พบว่าต้องใช้เวลาอีก 169 ปีในการปิดช่องว่างระหว่างเพศในเศรษฐกิจโลก ซึ่งหมายความว่า หากใช้อัตราความก้าวหน้าในปัจจุบัน ผู้หญิงจะต้องใช้เวลาจนถึงปี ค.ศ.  2192 ถึงจะมีรายได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ขณะที่ข้อมูลจากที่ประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย 13% ต่อชั่วโมงในสหภาพยุโรป รวมถึงสถาบันสหภาพแรงงานยุโรป (European Trade Union Institute: ETUI) รายงานว่าทุกปีที่ผ่านไปโดยไม่มีค่าจ้างที่เท่าเทียม ส่งผลให้ผู้หญิงในยุโรปต้องสูญเสียค่าจ้างไปโดยเฉลี่ย 4,639 ดอลลาร์ (ประมาณ 162,690 บาท) 

ความโปร่งใสในการจ่ายเงินเดือน คือ คำสั่งหรือกฎหมายที่บังคับให้นายจ้างต้องระบุเงินเดือนในใบรับสมัครให้ชัดเจน ทั้งค่าจ้างเริ่มต้นขั้นต่ำจนรวมถึงค่าจ้างสูงสุดของตำแหน่งงานที่จะได้รับ ซึ่งหลายประเทศ ถือว่าความโปร่งใสในการจ่ายเงินเดือนเป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดช่องว่างค่าจ้างทั้งในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

  • ประเทศสหรัฐอเมริกา พนักงานประมาณ 1 ใน 5 ได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมายจ่ายเงินเดือนที่โปร่งใส ทั้งนี้ในปี 2566 เพิ่งมีการประกาศบังคับใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่าบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 15 คนขึ้นไปต้องระบุเงินเดือนตามประกาศรับสมัครงาน ขณะที่พนักงานปัจจุบันสามารถระบุขอค่าจ้างเงินเดือนที่ตนควรจะได้รับสำหรับตำแหน่งของตน และบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนจะต้องส่งรายงานข้อมูลการจ่ายเงินในแต่ละเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่าจะไม่สมัครงานที่ไม่ระบุข้อมูลเงินเดือนไว้ในประกาศรับสมัครงาน
  • ประเทศญี่ปุ่น ปี 2563 ญี่ปุ่นมีช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันด้วยเหตุจากเพศสภาพที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 โดยมีส่วนแบ่งรายได้แรงงานหญิงอยู่ที่ 28.2% ทำให้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 จึงมีการกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 301 คน ต้องรายงานอัตราส่วนค่าจ้างระหว่างหญิงต่อชาย จำนวนผู้หญิงในระดับคณะกรรมการบริหาร รวมถึงอัตราการรักษาพนักงานไว้ได้ตามเพศที่รับการจ้างงานมา

ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านระบุว่ากฎหมายจ่ายเงินเดือนที่โปร่งใสเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีแก้ปัญหาในการลดช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันด้วยเหตุจากเพศสภาพระหว่างชายและหญิง และยังคงมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พบว่าการระบุค่าจ้างในการประกาศรับสมัครงานทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้พนักงานที่อยู่ในตำแหน่งงานเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันลาออก เมื่อพบว่าพวกเขาได้ค่าจ้างที่น้อยกว่า อย่างไรก็ดี การปิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศนั้นยังเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะจากการวิจัยพบว่าการปิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศสามารถช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10%  และประเทศเกิดใหม่ได้มากถึง 13% หลายประเทศจึงต่างหามาตรการและกฎระเบียบเพื่อปิดช่องว่างทางรายได้ที่เกิดขึ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาพบแรงงานหญิงในจีน เผชิญ ‘การเลือกปฏิบัติและอัลกอริทึม’ ที่เน้นผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ในการทำงานแบบ Gig Economy
Global Gender Gap Report 2023 ชี้อีก 131 ปี กว่าโลกจะมีความเท่าเทียมทางเพศ – ส่วนไทยติดอันดับที่ 74 ในการประเมินดัชนี
งานวิจัยในสหรัฐฯ เผยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘กิ๊ก’ ผู้ชายทำเงินได้มากกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 48 เกิดเป็นช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ 
ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) มีทั้งย่ำแย่ลง ดีขึ้นแต่ยังใช้เวลานานเกินไป และถูกกระทบเพราะโควิด-19
SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ 
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

แหล่งที่มา: 
Explainer: What are pay transparency laws and are they working? –  weforum
หมดยุคปิดบังเงินเดือน: นิวยอร์ก ออกกฎหมายใหม่ นายจ้างต้องระบุค่าจ้างให้ชัด ตอนรับสมัครงาน – workpointtoday

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น