การศึกษาพบแรงงานหญิงในจีน เผชิญ ‘การเลือกปฏิบัติและอัลกอริทึม’ ที่เน้นผู้ชายเป็นศูนย์กลาง  ในการทำงานแบบ Gig Economy 

ผู้หญิงจีนกำลังเข้าสู่การทำงานรูปแบบที่เรียกว่า “Gig Economy” มากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจแบบกิ๊ก เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากระบบการทำงานแบบครั้งคราว การรับงานเป็นชิ้น ๆ ผู้ประกอบอาชีพจะเป็นการรับจ้างแบบอิสระ (freelance) ซึ่งดูเหมือนจะส่งผลในทางบวกมากกว่าลบ แต่ผลการศึกษาจากจีน พบว่าผู้หญิงจีนที่ทำงานในระบบนี้ ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ (gender pay gap) การควบคุมโดยอัลกอริทึมที่เน้นผู้ชายเป็นศูนย์กลาง และความท้าทายด้านอื่น ๆ ที่เพิ่มปัญหาช่องว่างทางรายได้ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ตามที่ China Labour Bulletin ได้ทำการศึกษา Gig Economy ในประเทศจีน พบว่า ระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง โดยผู้หญิงจีนได้เข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊กมากขึ้น ทั้งรูปแบบงานขับรถรับจ้าง งานส่งอาหาร และงานส่งของ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีชายสัดสวนผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานในระบบนี้ ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ช่องว่างค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน การควบคุมแรงงานโดยใช้อัลกอริทึมที่เน้นชายเป็นศูนย์กลาง โดยมองข้ามประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันตามเพศสภาพ ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้ประกอบอาชีพในระบบเศรษฐกิจนี้ ไม่มีสัญญาจ้างงานและประกันสังคม ทำให้เสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่เลวร้าย การบาดเจ็บจากการทำงาน และการค้างจ่ายค่าจ้าง นอกจากนี้ China Labour Bulletin ยังชี้ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เเรงงานหญิงในระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ 

ที่ผ่านมา สังคมมักมีมายาคติว่างานที่ต้องใช้ร่างกายไม่ใช่งานที่เหมาะสำหรับผู้หญิง จึงนำมาสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศและการตีตราสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ สะท้อนได้จากข้อมูลการศึกษาของวารสาร Gender & Development ในปี 2565 เกี่ยวกับผู้หญิงที่ทำงานให้กับบริการเรียกรถ รายงานพบว่าคนขับผู้หญิงถูกผู้โดยสารเลือกปฏิบัติ ทั้งการแสดงความคิดเห็นเชิงลบและให้คะแนนต่ำ หรือแม้แต่ยกเลิกการโดยสารเพราะมักถูกมองว่า “ผู้หญิงขับขี่ไม่ปลอดภัย” ซึ่งการเลือกปฏิบัติในลักษณะเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความไม่พอใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อค่าจ้างอีกด้วย

ขณะเดียวกัน อัลกอริทึมก็มีโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัลกอริทึมถูกป้อนข้อมูลการใช้งานโดยผู้ชาย หรือมีข้อมูลนำเข้าสะสมที่มีอิทธิพลมาจากผู้ชาย ทำให้อัลกอริทึมเข้าใจว่าคนทำงานทุกคนเป็นผู้ชายหรือมีมาตรฐาน ลักษณะทำนองเดียวกัน จึงทำให้เกิดมาตรฐานการทำงานที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ยกตัวอย่าง การศึกษาผู้หญิงที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์มส่งอาหารในปี 2565 พบว่า คนส่งอาหารหญิงกว่า 60% มีรายได้น้อยกว่า 5,000 หยวนต่อเดือน ขณะที่คนส่งอาหารชายราว 70% มีรายได้มากกว่า 5,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งคนทำงานให้กับแพลตฟอร์มที่เป็นผู้หญิง มักถูกบังคับให้เลือกระหว่างความปลอดภัยกับรายได้ที่น้อยลง เพราะหากคนขับรถผู้หญิงได้รับงานไปยังพื้นที่ห่างไกล มักเพิ่มโอกาสในการทำเงินมากขึ้น แต่ต้องแลกมาด้วยความไม่ปลอดภัย ดังนั้น คนขับรถผู้หญิงจึงมักหลีกเลี่ยงการรับผู้โดยสารที่ไปหรือกลับจากพื้นที่ห่างไกล แม้จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ China Labour Bulletin ชี้ว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ ล้มเหลวในการคำนึงถึงประสบการณ์การทำงานของผู้หญิง และสิ่งนี้เลวร้ายลงด้วยการเลือกปฏิบัติทางสังคม การแบ่งงานที่ไม่เป็นธรรมในครัวเรือน บริษัทต่าง ๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่เพียงแค่การสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคนเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบอัลกอริทึมและมาตรฐานการทำงานที่คำนึงถึงประสบการณ์ของพนักงานทุกคนด้วย ซึ่งสหภาพแรงงาน ควรมีบทบาทที่ชัดเจนและกระตือรือร้นมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ว่าเพศใดก็ควรได้รับการสนับสนุนการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้หญิงเด็กผู้หญิงที่มักจะถูกมายาคติของสังคมกดทับ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง 
งานวิจัยในสหรัฐฯ เผยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘กิ๊ก’ ผู้ชายทำเงินได้มากกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 48 เกิดเป็นช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ
ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) มีทั้งย่ำแย่ลง ดีขึ้นแต่ยังใช้เวลานานเกินไป และถูกกระทบเพราะโควิด-19
แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ 
ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’
SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ 
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

แหล่งที่มา: แรงงานหญิงใน ‘Gig economy’ ที่จีน เผชิญกับ ‘การเลือกปฏิบัติ-อัลกอริทึมที่เน้นผู้ชายเป็นศูนย์กลาง’ | ประชาไท Prachatai.com

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น