SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนกันยายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  17  –  22 กันยายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงาน ILO ชี้ 13 ล้านคนบกพร่องทางการมองเห็นเนื่องจากอาชีพ

องค์การเเรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เเละองค์การระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันการตาบอด (IAPB) เผยเเพร่รายงาน  ‘Eye Health and the World of Work’ ระบุเนื้อหาสำคัญ เช่น 1) มีผู้คนทำงาน 13 ล้านคน ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพของตน โดยมีอาการบาดเจ็บที่ดวงตาประมาณ 3.5 ล้านครั้งเกิดขึ้นในที่ทำงานทุกปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1% ของการบาดเจ็บจากการทำงานที่ไม่ถึงแก่ชีวิตทั้งหมด 2) คนทำงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางประสบปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูงประมาณ 4 เท่า และ 3) ความบกพร่องทางการมองเห็นมากกว่า 90% สามารถป้องกันหรือรักษาได้ด้วยวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ เเละ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน

เข้าถึงได้ที่ : คนทำงาน 13 ล้านคนทั่วโลก บกพร่องทางการมองเห็นเชื่อมโยงกับอาชีพของตน (ประชาไท)  

ภาคประชาสังคมชี้ถ้อยเเถลงใน SDG Summit ของนายกฯ หลายประการส่อฟอกเขียว

ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)  ล่าสุดภาคประชาสังคม ล่าสุดองค์กรอนุรักษ์ กรีนพีซ ประเทศไทย เเละคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.) ได้เเสดงความเห็นต่อถ้อยเเถลงของนายกรัฐมนตรี โดยกรีนพีซระบุ 7 ประเด็นวิพากษ์ เช่น การเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2583 นั้นช้าเกินไป เเละการผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับจะเพียงพอที่จะต่อกรกับโลกเดือดได้หรือไม่

ด้าน กป.อพช. ชี้ว่าการจัดสรรที่ดินและป่าไม้จำนวนมหาศาล (ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ) ให้กับกลุ่มทุนเพื่อนำเข้าสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต แท้จริงแล้วมันคืออะไร มันแค่การ “ฟอกเขียว” ใช่หรือไม่ ซึ่งคิดว่านายกฯเศรษฐาต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่แค่สานต่อสิ่งที่คนอื่นทำไว้เท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย เเละ SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน

เข้าถึงได้ที่ : กป.อพช.-กรีนพีซวิพากษ์แรง “คำแถลงลดโลกร้อนนายกเศรษฐา ณ ยูเอ็น” (GreenNews)  

รายงานกรีนพีซเผยมหาสมุทรถูกคุกคามเพิ่มขึ้น

วันที่ 16 กันยายน 2566 องค์กรอนุรักษ์ กรีนพีซ ประเทศไทย เผยเเพร่รายงาน30×30: From Global Ocean Treaty to Protection at Sea ระบุสาระสำคัญ เช่น 1) การทำประมงในทะเลหลวงมากขึ้น 8.5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 8.5 ล้านชั่วโมง ในปี 2561-2565 และนับเป็น 22.5 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้างเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร 2) เบ็ดราวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือประมงทำลายล้าง กลับมีการใช้กันถึงสามในสี่ของการทำประมงทั้งหมดในทะเลหลวงทั่วโลก และ 3) ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษพลาสติก ทะเลกรด และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น เหมืองทะเลลึก หรือการขนส่งน้ำมัน ยังคงคุกคามมหาสมุทรต่อไป 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เเละ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ  เป้าหมายย่อยที่ 14.4 ภายในปี พ.ศ. 2563 ให้กำกับการทำการประมงอย่างมีประสิทธิผล และยุติการประมงเกินขีดจำกัด เเละเป้าหมายย่อยที่ 14.c เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรอย่างยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : รายงานใหม่กรีนพีซเผยภัยคุกคามมหาสมุทรเพิ่มขึ้น (ประชาไท)

เครือข่ายเเรงงานร้องกระทรวงเเรงงานขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน

วันที่ 21 กันยายน 2566 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สมาชิก 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เเละสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เดินทางมายังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน  เพื่อยื่นหนังสือถึงพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 450 บาทต่อวัน ยกระดับสิทธิผู้ประโยชน์ผู้ประกันตน และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องให้เเก้ระเบียบกีดกันเเรงงานข้ามชาติ โดย ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่ากฎหมายไม่ได้จำกัดสัญชาติ แต่ระบุว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกบอร์ดประกันสังคม 1 สิทธิ์ เท่ากับ 1 เสียง ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติส่งเงินสมทบ และเขาควรจะมีสิทธิ์เลือกผู้แทนของเขาไปดูแลสิทธิประกันสังคม

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ เเละเป้าหมายย่อยที่  8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ เเละ  SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน เเละเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค

เข้าถึงได้ที่ : เครือข่ายแรงงาน ร้อง ‘พิพัฒน์’ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บ.จี้จัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โละมรดก คสช.

ภาคประชาชนร้องนายกฯ ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สร้างเขื่อนปากเเบง

วันที่ 17 กันยายน เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ทำหนังสือด่วนถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบง เนื่องจากความกังวลใจหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากน้ำเท้อ จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่าเป็นการลงนามสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เลย และหน่วยงานรัฐไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของประชาชนที่มีมาตลอดระยะเวลาหลายปีไปประกอบการตัดสินใจก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ด้าน สฤณี อาชวนันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ชี้ว่ากรณีเขื่อนปากแบง หลวงพระบาง ปากลาย จะต้องพึ่งกลไกทางกฎหมายหรือไม่ เพราะมีความผิดปกติอยู่พอสมควร สฤณีกล่าว่า “คือถ้าเราลองเทียบทำความเข้าใจวิธีกระบวนการที่ผ่านมา ก็ไม่ควรจะรวดเร็วขนาดนี้ ยกตัวอย่าง ร่างสัญญา PPA ต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จากข่าวเป็น Tariff MOU  (ลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้า) ซึ่งเป็นเพียงเค้าโครงเท่านั้น ไม่ใช่ตัวร่างสัญญา อันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง น่าจะมีการตั้งคำถามทางกฎหมาย ว่าลัดขั้นตอนหรือไม่ อย่างไร”

ทั้งนี้ การลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และ CDTO ที่ดำเนินโครงการ Pak Beng ได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก เเละ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด เเละ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม 

เข้าถึงได้ที่ : ยื่นหนังสือด่วน “ทบทวนลงนามซื้อไฟเขื่อนปากแบง” ชี้ไม่เป็นธรรม-อาจโดนปรับ (GreenNews)

ผู้นำโลกหารือเเนวทางปฏิรูปสถาปัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุน SDGs

วันที่ 20 กันยายน 2566 ผู้นำประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการหารือถึงปัญหาทางการเงินเเละหนี้ที่ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญ ซึ่ง 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤติทางการเงิน ส่งผลให้ไม่สามารถสนับสนุนเงินเพื่อขับเคลื่อน SDGs ได้ 

Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่าการขยายการสนับสนุนเงินุนเพื่อ SDGs จำเป็นต้องอาศัยวิธิการเชิงนวัตกรรม (innovative approches) การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ชัดเจน เเละเเหล่งเงินทุนใหม่ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก UN ได้ตอบรับเเผนกระตุ้นทางการเงินเพื่อ SDGs อย่างน้อย 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเพิ่มการจัดหาเงินทุนระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังหารือถึงการเเก้ปัญหาเงินทุนอย่างเป็นระบบผ่านการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน พร้อมทั้งเรียกร้องให้เกิดช่วงเวลาใหม่ของระบบ ‘Bretton Woods’ ที่ประเทศต่าง ๆ สามารถมารวมตัวกันเพื่อตกลงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลกใหม่ที่สะท้อนถึงความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางอำนาจในปัจจุบัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม เป้าหมายย่อยที่ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เเละเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

เข้าถึงได้ที่ : UN sets out bold solutions to rescue SDG finance (UN News)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 25, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น