SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  24  –  28 ตุลาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

กสศ. เผยเด็กไทยอยู่ใต้เส้นความยากจน 2.8 ล้านคน ชี้เด็กเล็กมีทักษะลดลง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 เปิดเผยว่ามีเด็กไทยอยู่ใต้เส้นความยากจนถึง 2.8 ล้านคน ในขณะที่ปี 2563 ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านด้วยซ้ำ และแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ อยู่อย่างแร้นแค้น พบข้อมูลรายได้ครัวเรือนยากจนพิเศษเหลือ 34 บาทต่อวัน น้อยกว่าเกณฑ์สากล 80 บาท ขณะที่เด็กเล็กมีทักษะทางคณิต-การฟังลดลง ย้ำชัดว่าไทยลงทุนในเด็กไม่พอ พร้อมเสนอแนะให้ภาครัฐออกนโยบายลงทุนเพื่อการศึกษาในทุกช่วงวัย เพื่อยุติวงจรความจนข้ามรุ่น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 4  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573 และ 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : กสศ. เผยเด็กอยู่ใต้เส้นความยากจน 2.8 ล้านคน เด็กเล็กทักษะลดลง ชี้รัฐยังลงทุนไม่พอ – The Active  

‘ก้าวไกล’ ชวนลูกจ้างลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง คกก. ประกันสังคม ภายใน 31 ต.ค.นี้

สำนักงานประกันสังคม เปิดลงทะเบียนผู้รับสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง-ผู้ประกันตน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นวันแรกที่มีการเปิดลงทะเบียนผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งด้านนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และได้แสดงความกังวลว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้ง ทำให้วันที่ 25 ตุลาคม มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียง 82,355 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 12 ล้านคน หรือเพียง 0.69% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดเท่านั้น จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกันตนทุกมาตรามาใช้สิทธิลงทะเบียนก่อน 31 ตุลาคมนี้ เพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปดูแลและจัดการกองทุนที่ทุกคนส่งเงินของตัวเองเข้ามา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG8  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

เข้าถึงได้ที่ : ‘ก้าวไกล’ ชวนลูกจ้างลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม ภายใน 31 ต.ค.นี้ ล่าสุดลงเพียง 0.69% – ประชาไท

ชงกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เข้า ครม. สมัยประชุมหน้า

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2028 และส่งเสริมงาน Pride Parade การขยายสิทธิบัตรทองเพื่อคนข้ามเพศ โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยคาดว่าจะนำเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะบรรจุเป็นวาระแรกที่จะเข้าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ต่อไป ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : ชงกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้า ครม.31 ต.ค. – Thai PBS News 

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งดำเนินการนำเจ้าหน้าที่เอี่ยวสลายชุมนุมตากใบ-ก่อนหมดอายุความ

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เร่งดำเนินการสอบสวนการสลายการชุมนุมของประชาชนใน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ครบวาระ 19 ปี และนำตัวเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มารับผิดก่อนที่จะครบกำหนดหมดอายุความในปีหน้า พร้อมกับรัฐบาลไทยต้องปฏิรูปกฎหมาย และการปฏิบัติของรัฐ เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้นส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหารส่งผลให้มี 78 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุแล้วคนที่ถูกควบคุมตัวถูกส่งไปตามค่ายทหารต่าง ๆ เพื่อควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่ : แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งดำเนินการนำเจ้าหน้าที่เอี่ยวสลายชุมนุมตากใบมารับผิดก่อนหมดอายุความ  – ประชาไท

รายงานของ UN เตือนว่าโลกกำลังเผชิญ ‘จุดพลิกผัน’ ด้านความเสี่ยงเกิดภัยคุกคามครั้งใหม่

รายงานของสหประชาชาติฉบับใหม่ที่เผยแพร่ ระบุข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับจุดพลิกผันด้านความเสี่ยง ซึ่งกำลังกลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยรายงานความเสี่ยงจากภัยพิบัติปี 2566 พบว่าโลกกำลังเข้าใกล้จุดพลิกผันความเสี่ยงในหลายด้านอย่างรวดเร็ว เช่น เสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบนิเวศ ธารน้ำแข็งบนภูเขากำลังละลาย ความร้อนที่มากเกินไปทำให้บางพื้นที่อาจใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก ในอนาคตอาจไม่มีบ้านในราคาที่สามารถซื้อได้ โดยรายงานได้นำเสนอกรอบการทำงานใหม่ที่จัดหมวดหมู่การแก้ไขปัญหาการลดความเสี่ยงออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยง หรือป้องกันความเสี่ยง) 2) ปรับตัว หรือจัดการกับความเสี่ยง 3) ชะลอการลุกลามของความเสี่ยง และ 4) การพลิกโฉม (transform) ซึ่งกรอบการทำงานนี้จะช่วยในการประเมินผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของแนวทางการแก้ไขปัญหา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : ‘Tipping points’ of risk pose new threats, UN report warns – UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น