‘อัลตราซาวด์ บรา’ เทคโนโลยีพิเศษ ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้ง่ายด้วยตนเอง 

คงจะดีกว่าหากมีอุปกรณ์พิเศษที่ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้ง่ายด้วยตนเอง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อัตราการรอดชีวิต 5 ปี จากโรค ‘มะเร็งเต้านม’ ในกลุ่มประเทศรายได้สูงมีเกินกว่าร้อยละ 90 ขณะที่ในอินเดียมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีเพียงร้อยละ 66 ส่วนแอฟริกาใต้อยู่ที่ร้อยละ 40 ขณะที่สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ระบุว่าหากตรวจพบเร็วและอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่ หากเข้ารับการรักษาได้โดยเร็วและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี อัตราการรอดในช่วงระยะเวลาชีวิต 5 ปี จะอยู่ที่ร้อยละ 99 ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง

อัลตราซาวด์ บรา (ultrasound bra) เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการคิดค้นจาก ดร.จานัน ดาเตวิเริน (Canan Dagdeviren) นักวิทยาศาสตร์ชาวตุรกี ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับคณะทำงานมีเดียแลบของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยเสี่ยงสูงสามารถติดตามอาการได้บ่อยครั้งมากขึ้น ในช่วงระหว่างการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม 

วิธีการตรวจแมมโมแกรม (mammogram) เป็นกระบวนการตรวจโดยใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งทำให้ผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับการรักษาอาจเจ็บปวดบริเวณเต้านม เนื่องจากแรงกดจากแผ่นกดเต้านมที่แตกต่างกัน แต่อาการดังกล่าวจะหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการตรวจแมมโมแกรมในหลายประเทศยังมีราคาแพง หรือไม่ก็ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติไม่ครอบคลุมค่าตรวจ ทำให้มีผลต่อการเข้าถึงต่อการรักษาของผู้หญิงจำนวนมาก

ที่มา : Themountaineer.com

นวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เพราะสามารถช่วยตรวจหาเนื้องอกได้ด้วยตัวเอง มีลักษณะเป็นช่องรูปรังผึ้ง 6 ช่องที่ตัวอุปกรณ์ เป็นแบบแผ่นแปะซึ่งมีไว้เพื่อติดตั้งกล้องฉายคลื่นอัลตราซาวด์ขนาดกระทัดรัดและสามารถปรับตำแหน่งได้ ช่วยให้สามารถตรวจหาสิ่งผิดปกติภายในทรวงอกได้อย่างรอบด้าน ซึ่งถูกคิดค้นให้สามารถใช้งานได้ง่ายด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีผู้ช่วย วิธีการใช้ผู้ใช้สามารถนำแผ่นอุปกรณ์อัลตราซาวด์ บราแนบติดกับเสื้อชั้นในหรือยกทรง โดยที่สำคัญเครื่องนี้ใช้งานได้โดยไม่รู้สึกเหนียวเนอะหนะจากเจลสำหรับอัลตราซาวด์และสามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้งอีกด้วย 

นอกจากนี้ อัลตราซาวด์ บราสามารถตรวจพบซีสต์ขนาดเล็กได้ถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดของเนื้องอกระยะเริ่มต้น และค่อนข้างแม่นยำในการค้นหาความผิดปกติ ซึ่งแม้ว่าจะตรวจพบสิ่งผิดปกติแล้ว การเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมที่โรงพยาบาลซ้ำอีกครั้งก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เบื้องต้นราคาชุดละประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36,000 บาท แต่ทีมพัฒนาบอกว่า ราคาจะลดลงอีกหากผลิตได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 4-5 ปี อัลตราซาวด์ บรา จึงเป็นอีกตัวช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
WHO ริเริ่มกรอบในการทำงาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต จาก ‘มะเร็งเต้านม’ ลง 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
รัฐบาลอังกฤษเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแจ้งประสบการณ์ที่มีกับระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนา ‘ยุทธศาสตร์สุขภาพของผู้หญิง’
Global Women’s Health Index ครั้งแรกของดัชนีชี้สุขภาพของผู้หญิงจากหลากมิติ 
World Cancer Day 2021 – มะเร็งเต้านม แซงหน้ามะเร็งปอดขึ้นอันดับหนึ่ง มะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

แหล่งที่มา:
ทำความรู้จัก “อัลตราซาวด์ บรา” ชุดชั้นพิเศษช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น – BBC News ไทย 
การตรวจแมมโมแกรม – โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น