Global Women’s Health Index ครั้งแรกของดัชนีชี้สุขภาพของผู้หญิงจากหลากมิติ

สุขภาพของผู้หญิงต้องพิจารณาจากหลากมิติ (multidimensional) บริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพ Hologic จึงร่วมกับ Gallup World Poll พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อศึกษาสุขภาพของผู้หญิงในระดับโลก Global Women’s Health Index 2020 เป็นครั้งแรก โดยศึกษาความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 60,000 คนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจาก 116 ประเทศ เพื่อสรุปภาพรวม 5 มิติที่ส่งเสริมอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของผู้หญิง ได้แก่ การป้องกันโรค ความต้องการพื้นฐาน ความเห็นด้านสุขภาพและความปลอดภัย สุขภาพของปัจเจกบุคคล และสุขภาพอารมณ์ กับการจัดอันดับด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน

เพราะสุขภาพของผู้หญิงเป็นรากฐานของมนุษยชาติ ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพที่ตระหนักถึงสุขภาพของผู้หญิงจึงสำคัญ ตัวชี้วัดนี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สรุปภาพรวมช่วยให้ผู้นำประเทศและผู้กำหนดนโยบายตระหนักถึงสภาพปัญหา สามารถนำไปใช้ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ สื่อสารประเด็นที่ซับซ้อน ตลอดจนหาวิธีปรับปรุงเพื่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีอายุยืนยาว

โดยการได้มาซึ่งข้อมูลของ 5 มิติที่ทำการศึกษานั้น อาศัยการตอบคำถามการสำรวจ ดังนี้

  • การป้องกันโรค (Preventive Care) – ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา คุณได้รับการตรวจว่ามีโรคดังต่อไปนี้หรือไม่: ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs/STIs)
  • ความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) – ใน 12 เดือนที่ผ่านมา คุณเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับซื้อหาอาหารที่จำเป็นเพื่อตัวเองและครอบครัวหรือไม่ และในสถานการณ์ที่ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับหาที่พักอาศัยหรือบ้านเรือนเพื่อตัวเองและครอบครัวหรือไม่
  • ความเห็นด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Opinions of Health & Safety) – ในเมืองหรือพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัย คุณพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจกับระบบสุขภาพที่มีอยู่ / คุณคิดว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ในเมืองหรือพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูงในช่วงของการตั้งครรภ์หรือไม่ / คุณรู้สึกว่าปลอดภัยเมื่อต้องเดินคนเดียวตอนกลางคืนในเมืองหรือพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยหรือไม่
  • สุขภาพของปัจเจกบุคคล (Individual Health) – คุณมีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคทำให้คุณไม่สามารถทำอะไรที่ตามปกติแล้วคนในรุ่นอายุของคุณทำหรือไม่ / เมื่อวานนี้ คุณเผชิญกับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาหรือไม่ / คุณมีความเจ็บป่วยทางกายภาพหรือไม่
  • สุขภาพอารมณ์ (Emotional Health) – เมื่อวานนี้ คุณเผชิญกับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาหรือไม่ ความกังวล เสียใจ เครียด และโกรธ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอย่างไร

จากข้อคำถามสำหรับการสำรวจข้างต้น พบว่าในภาพรวม คะแนนโดยเฉลี่ยของทุกประเทศที่ทำการสำรวจอยู่ที่ 54/100 โดยไต้หวันเป็นประเทศที่มีคะแนนสูงสุดที่ 69/100 เปรูเป็นประเทศที่มีคะแนนน้อยที่สุดที่ 36/100 ส่วนประเทศไทยมีคะแนน 59/100

ภาพจาก World Economic Forum / Hologic

ตัวอย่างข้อค้นพบสำคัญของดัชนีดังกล่าว พบว่า

  • ผู้หญิงในเกือบทุกภูมิภาคที่ทำการสำรวจ ตั้งครรภ์เมื่ออายุต่ำกว่า 19 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าการตั้งครรภ์นี้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่
  • โรคมะเร็งยังคงเป็นหนึ่งในโรคภัยที่น่ากังวลมากที่สุด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของโลกรองจากโรคหัวใจ โดยโรคมะเร็งที่มักเกิดขึ้นมากที่สุดและคร่าชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปอด (1.8 ล้านคนที่เสียชีวิต) มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวาร (935,000 คนที่เสียชีวิต) และมะเร็งตับ (830,000 คนที่เสียชีวิต) อย่างไรก็ดี สำหรับโรคมะเร็งแล้ว ยังคงมีผู้หญิงในหลายประเทศน้อยกว่า 10% ที่ได้รับการตรวจ/วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง
  • ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 75 ปีมักจะประสบกับความรู้สึกด้านลบเช่นเดียวกับผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 19 ปีที่ตั้งครรภ์
  • โดย 4 ใน 10 คนรู้สึกกังวล 38% รู้สึกเครียด 26% รู้สึกเศร้า และ 23% รู้สึกโกรธ ทั้งนี้ในแง่ของอารมณ์ ผู้หญิงหลายประเทศประสบกับความรู้สึกเช่นเดียวกัน อันที่จริงความรู้สึกเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่ได้รับผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้หญิง
รัฐบาลอังกฤษเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแจ้งประสบการณ์ที่มีกับระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนา ‘ยุทธศาสตร์สุขภาพของผู้หญิง’
เทรนด์ ‘Femtech’ กำลังมาแรง เมื่อการใช้เทคโนโลยีรักษาโรคมี ‘สุขภาพของผู้หญิง’ เป็นศูนย์กลาง
การศึกษาในแคนาดาพยายามหาปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงซึ่งอพยพเข้ามาใหม่ เผชิญกับปัญหาสุขภาพหรือไม่มีความพึงพอใจในชีวิต

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของ โรคติดต่อ
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ การป้องกัน การรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
-(3.8) ส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขจำเป็น ยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
-(5.6) การเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.1) หลักประกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด
-(11.2) ระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน การขยายขนส่งสาธารณะ คำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573

ทั้งนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการบริการขั้นพื้นฐาน (basic services) ที่ครอบคลุมมิติความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิต อาทิ น้ำ การดูแลสุขภาพ การศึกษา

แหล่งที่มา:
Women could lead longer, healthier lives – first global index of women’s health urges action from policymakers (World Economic Forum)
About Women’s Health Index (HOLOGIC)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น