เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะฯ เข้าพบนายกฯ เสนอ 4 ข้อให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการแลนด์บริดจ์ หวังความครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืนมากขึ้น

ยังคงเป็นข้อถกสนทนาอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการแลนบริดจ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ–กลุ่มคัดค้านแลนด์บริดจ์ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ ศูนย์ดำรงธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง เพื่อยื่นเรื่องและเรียกร้องให้รับฟังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ข้อสังเกตหลักต่อโครงการแลนบริดจ์โดยสรุป ของกลุ่มข้างต้น ได้แก่  

  • กระบวนการศึกษาที่ผ่านมา ถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง
  • โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะไม่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ขาดระบบการประมวลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่แม่นยำ รวมถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่ได้สรุปรายงานไปแล้วนั้นอาจไม่ได้เสนอข้อสังเกตสำคัญที่กลุ่มภาคประชาชนพยายามให้ข้อมูลไปแล้วแต่อย่างใด
  • นายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนาของจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ หากโครงการแลนด์บริดจ์ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ รัฐบาลเคยคิดหรือไม่ว่าจะพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ไปในทิศทางใดนอกจากนี้ ทว่าที่ผ่านมา ภาคใต้ไม่เคยถูกส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่เปล่งประกายได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลควรจะสร้างการพัฒนาที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน

นอกจากนี้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ–กลุ่มคัดค้านแลนด์บริดจ์ ยังได้เสนอแนวทาง 4 ข้อ แก่รัฐบาล ได้แก่

  • นายกรัฐมนตรีต้องตรวจสอบและและสั่งทบทวนกระบวนการศึกษาโครงการที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด โดยการสร้างมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง ทั่วถึง เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  • นายกรัฐมนตรีต้องยกระดับกระบวนการศึกษาภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีกลและกระบวนการศึกษาที่จะทำให้เกิดการประมวลผลการศึกษาภาพรวมโครงการทั้งหมด
  • นายกรัฐมนตรีควรศึกษาทางเลือกในการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่น ๆ ด้วย โดยการใช้นโยบายตามแนวคิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ทำการยกระดับการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าแต่ละมิติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • นายกรัฐมนตรีควรจัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบจากหลากหลายภาคส่วน เช่น นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาคส่วน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เมืองเมเดยิน ปรับภูมิทัศน์สร้างพื้นที่สีเขียว ผ่านโครงการ ‘Green Corridors’  – เพื่อสร้างร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิของเมือง
ครงข่ายถนนที่มีคุณภาพและการก่อสร้างที่ลดก๊าซโลกร้อน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดีย ตอบโจทย์ Net-Zero

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา : 4 ข้อเสนอ “ทางออกแลนด์บริดจ์” จาก “พะโต๊ะ” ถึง “เศรษฐา” ณ ครม.สัญจร (GreenNews)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น