เมืองเมเดยิน ปรับภูมิทัศน์สร้างพื้นที่สีเขียว ผ่านโครงการ ‘Green Corridors’  – เพื่อสร้างร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิของเมือง

ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island: UHI) ที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้วิธีแก้ปัญหาจากธรรมชาติเพื่อลดอุณหภูมิร้อนภายในเมือง ตัวอย่างเช่น เมืองเมเดยิน (Medellín) เมืองที่ใหญ่อันดับสองของประเทศโคลอมเบีย สามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองลงได้ 2 องศาเซลเซียส ผ่านการดำเนินการของโครงการ ‘Green Corridors’ หรือ แนวทางสีเขียวในพื้นที่เมือง เป็นการปลูกต้นไม้คู่ขนานไปกับแนวทางสาธารณะในเมือง ซึ่งพบว่าพื้นที่ในเมืองมีความร้อนมากกว่าในพื้นที่ชนบท เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างและพื้นถนนที่เพิ่มมาก ขณะที่ต้นไม้ในเมืองนั้นลดลง 

เมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย ได้ดำเนินโครงการ Green Corridors ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเมือง โดยการใช้วิธีปลูกต้นไม้คู่ขนานไปกับแนวทางสาธารณะปรับปรุงทางเท้าและเกาะกลางถนนให้ปกคลุมไปด้วยพื้นที่สีเขียวจากพันธุ์ไม้นานาชนิดหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีมูลค่าโครงการถึง 16.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6 ร้อยล้านบาท) และมูลค่าในการบำรุงรักษา 625,000 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 22 ล้านบาท) เพื่อช่วยลดดอุณหภูมิของเมือง จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เมืองเมเดยิน สามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองลงได้ 2 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 22-24 องศาเซลเซียส รวมสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศได้

‘Green Corridors’ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างร่มเงาตามธรรมชาติให้พื้นที่เมือง โดยลดระดับความร้อนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การคายระเหยของน้ำ (evapotranspiration) เป็นการเปลี่ยนสภาวะจากน้ำระเหยกลายเป็นไอ จนก่อให้เกิดเป็นความชื้นในอากาศ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของเมืองนั้นลดลง

นอกจากเมืองเมเดยิน ประเทศสิงคโปร์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจในการดำเนินการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง เนื่องจากสิงคโปร์  เป็นประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนที่ดินและประชากรหนาแน่น แม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่ก็ได้พัฒนาระบบถนน ที่เรียกว่า ‘Nature Ways’ ซึ่งเรียงรายไปด้วยต้นไม้และพุ่มไม้นานาพันธุ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิแล้ว ยังช่วยปกป้องคุ้มครองสัตว์และลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์ จึงเป็นเมืองที่ติดอันดับสองในดัชนีภูมิทัศน์เขียว (Green View Index) ของ Treepedia ที่มีสัดส่วนความหนาแน่นของต้นไม้ในเมืองสูงมาก

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ และคาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกในอนาคต ตามรายงาน BiodiverCities ของ World Economic Forum ที่ระบุว่าเมืองศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก 576 แห่ง มีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศทั้งจากมลภาวะ อากาศร้อนจัด และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เมืองในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา :  
How cities from Medellín to Düsseldorf are using nature to tackle extreme heat – World Economic Forum 
Cities100: Medellín’s interconnected green corridors –  c40knowledgehub
Beat the Heat ทำกรุงเทพฯ กลับมาเย็นอีกครั้ง – Urban Creature 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น