SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 10 – 16 กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้รับรองข้อแนะนำด้านงานฝึกหัดที่มีคุณภาพปี 2023 (ฉบับที่ 208) เป็นข้อมูลชี้วัดใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้จากการทำงาน (Work-Based Learning : WBL) และอาชีวศึกษา ซึ่งพบว่าการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในสังคม โดยทั่วโลกมีเพียงสัดส่วนคนรุ่นใหม่ อายุ 15 ถึง 24 ปี ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อยู่ในระบบการศึกษาและการฝึกอบรม มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยอัตราการเข้าร่วมในระบบการศึกษามีตั้งแต่เพียงร้อยละ 20 ไปจนถึงเกือบ 80% ในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งการฝึกงานและฝึกอบรมในแต่ละประเทศยังมีความสำคัญแตกต่างกัน ดังนั้น รายงานฉบับนี้  เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนรู้จากการทำงานนั้นมีประสิทธิภาพและครอบคลุม 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.3 สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษา อาชีวศึกษาในราคาที่สามารถจ่ายได้  4.4 เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน  และ 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม และ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.6 ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม

เข้าถึงได้ที่ : ‘คนหนุ่มสาว’ และการมีส่วนร่วมกับ ‘การเรียนรู้จากการทำงาน’ – ประชาไท

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ไทยได้เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) วาระปี 2568  – 2570 แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลเชิงประจักษ์หลายอย่างค้านสายตา การสำรวจของ Freedom House ในการจัดลำดับ Freedom in the World ไทยอยู่ในหมวด Not Free ด้วย เนื่องจากการคุกคามและจับกุมนักกิจกรรม ผู้เห็นต่างทางการเมือง การใช้กฎหมายมาตรา 112 แม้มีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเสรีภาพในแสดงออกจะแคบลงกว่าเดิม ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่า ไทยมีความเหมาะสมแค่ไหนกับการเป็นสมาชิก UNHRC 

สถิติจากรายงานการศึกษาเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ พบว่าระหว่างปี 2544 ถึง 2564 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าหมายถึงขั้นเอาชีวิตร้อยละ 30 ซึ่งระหว่างปี 2540 จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2565 มีคดีที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคดีฟ้องปิดปากโดยภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ รวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คดี โดยในไทยมีทั้งคดีแพ่งและอาญา หากจำแนกให้เห็นชัด สามารถแบ่งได้เป็นคดีอาญา 74 เปอร์เซ็นต์ และคดีแพ่ง 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในบรรดาผู้ทำการฟ้องประชาชน พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทเหมืองแร่ที่ริเริ่มดำเนินคดีมากที่สุด 34 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคืออุตสาหกรรมปศุสัตว์ 21.1 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจพลังงาน 13.8 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติชี้ให้เห็นว่าในคดีฟ้องปิดปากทั้งหมดในไทย เป็นประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินครึ่ง หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี  ผลกระทบของการฟ้องคดีปิดปากสร้างภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ จิตใจ และหน้าที่การงานของผู้ถูกฟ้อง รวมถึงความกลัวให้เกิดขึ้นต่อผู้ถูกฟ้องและกลุ่มบุคคลที่จะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมและสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

เข้าถึงได้ที่ : ไทยอยากเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN แต่สถิติการฟ้องปิดปากและคุกคามถึงตายยังพุ่งสูง – thairath plus

สรุปยอดรายชื่อหนุน ร่างนิรโทษกรรมประชาชน จำนวนกว่า 35,905 คน โดยมีเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งได้มอบรายชื่อหนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนดังกล่าวให้รัฐสภา วัตถุประสงค์เดิมนั้น ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนย้ำถึงการส่งจดหมายเชิญทุกพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองที่ตอบรับมาร่วมงานและรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนมีเพียง 3 พรรค ได้แก่ ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และกัณวีร์ สืบแสง ตัวแทนพรรคเป็นธรรม อย่างไรก็ดีรายชื่อทั้งหมดที่ยื่นต่อสภา เพื่อหวังได้บรรจุเป็นวาระพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยในปัจจุบัน มีกฎหมายนิรโทษกรรมจากพรรคการเมืองสามฉบับที่ยื่นต่อสภาแล้ว หากกระบวนการยื่นรายชื่อเสร็จเรียบร้อย ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของภาคประชาชนก็จะได้รับการพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายอีกสามฉบับ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ปิดแคมเปญ 35,905 รายชื่อ #นิรโทษกรรมประชาชน – iLaw  และ มอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ‘ส่งรักให้ถึงสภา’ มีแค่ 3 พรรคการเมืองร่วมรับรายชื่อ 35,000 คน –  Thairath Plus 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชี้แพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือทางจิตใจ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (แชตบอท) ช่วยลดต้นทุนการเก็บข้อมูลและประเมินสุขภาพจิต โดยสามารถออกแบบชุดบทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษาดูแล จากนั้น AI จะทำหน้าที่ประมวลชุดบทสนทนาเพื่อใช้โต้ตอบสนทนากับผู้ใช้ระบบ ทำให้นักจิตวิทยามีระบบแชตบอทที่ดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และโรงเรียนกว่า 40 หน่วยงานแล้วนำไปใช้งานจริง ซึ่งลดภาระบุคลากรด้านสุขภาพจิต ที่ยังมีไม่เพียงพอ พร้อมเล็งหาจังหวัดต้นแบบสำหรับนำ AI ไปใช้ประเมินสุขภาพจิตทั้งจังหวัด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี และ 3.8 ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ 

เข้าถึงได้ที่ : เปิดตัว AI แชทบอท เพื่อนคุยบำบัดใจ แก้ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ – The Active 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุม การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง การสร้างการรับรู้การสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการสื่อสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง หลังพบเด็ก เยาวชน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจถึงโทษภัย เนื่องจากห่วงการเสพติด ‘นิโคตินสังเคราะห์’ เพราะเติมได้ไม่จำกัด เตรียมผลักดันรัฐสื่อสารความเข้าใจ เนื่องจากพบสถิติว่าในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2564-2566 การสูบในกลุ่มคนทั่วไปอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคน ในปี 2564 เป็น 7 แสนคน ในปี 2565 หรือเพิ่มถึง 10 เท่า และที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย อายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565 จึงต้องลบมายาคติว่าปลอดภัย ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ พร้อมย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้า รุนแรงเทียบยาเสพติดและผลักดัน 8 ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การแก้ไขปัญหา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573 และ 3.a เพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ

เข้าถึงได้ที่ : นักเรียนไทยติด ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ งอมแงม 2 ปี เพิ่มขึ้น 10 เท่า – The Active  

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เผยแพร่แนวทางและเครื่องมือในการปรับปรุงแหล่งน้ำประปาขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ สร้างการส่งมอบบริการที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงชุมชนที่มีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการลงทุนในแหล่งน้ำประปาขนาดเล็ก มีความสำคัญในการช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บป่วยและการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับน้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อคุณภาพและปริมาณของน้ำ ทำให้ควรเพิ่มความพยายามอย่างเร่งด่วนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย 

นอกจากนี้ แม้จะมีความก้าวหน้าแต่ผู้คน 2.2 พันล้านคนยังคงขาดการเข้าถึงน้ำดื่มที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยในปี 2565 โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนใหญ่ที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ยังขาดการให้บริการที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ดังนั้น WHO จึงสร้างกรอบการทำงานด้านน้ำดื่มปลอดภัย เพื่อสร้างกฎระเบียบและมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่เหมาะสมต่อสุขภาพและบริบท 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 6  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.1 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้  6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง 6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน และ 6.b สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย

เข้าถึงได้ที่ : WHO releases guidelines and tools to enhance small water supplies – WHO

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มีนาคม 18, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น