ฝุ่น PM2.5 คุกคามสุขภาพประชาชนอย่างหนัก ผลตัวชี้วัดแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ พุ่งสูงขึ้นในปี 2566

เช้าวันนี้ PM 2.5 กระจายโซนแดง-ส้มพุ่งทั่วกรุงเทพหมานคร แม้ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่กลับรุนแรงขึ้นทุกปี จากการคำนวณของ Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่าฝุ่นมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าในปี 2566 กรุงเทพมหานคร มีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็นร้อยละ 8.52 ของทั้งปี นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า ที่มีอากาศดี 49 วัน ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันปัจจุบันก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการจัดการ แม้มีมาตรการ จากคณะรัฐมนตรีเป็นข้อสั่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ

มลพิษทางอากาศ PM2.5 นับเป็นอีกภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากร โดยเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 คือเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวหรือวันที่มีอากาศดีเลย เนื่องจากเป็นช่วงหน้าแล้ง มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศแห้งทำให้ฝุ่นละอองสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น ซึ่งในปี 2566 ได้ขยายระยเวลาะเดือนที่มีอากาศเลวร้ายนานติดต่อกันเพิ่มขึ้น 

ขณะที่งานวิจัยของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้คำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ ระบุว่า ในแต่ละวันของปี 2566 ประชากรในกรุงเทพมหานคร สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,370.09 มวน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นถึง 154.32 มวน หรือเฉลี่ยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7.7 ซองจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,224.77 มวน อาจกล่าวได้ว่าอากาศปี 2566  เลวร้ายมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนผ่านเดือนที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและสีแดงที่เพิ่มจำนวนเดือนขึ้น 

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นปัญหาที่วนเวียนซ้ำและรุนแรงขึ้นทุกปี และแม้ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นพิษขึ้น ผ่านการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.… หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่ได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัจจุบันยังคงไม่สำเร็จ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2567 พบว่าการกำหนดตัวชี้วัด 3 ข้อกำหนดไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน

จากการสรุปตามตัวชี้วัด พบว่า ใน ตัวชี้วัดที่ 1 การวัดจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากที่ผ่านคุณภาพอากาศกลับแย่ลง โดยเฉพาะในปี 2565 และปี 2566 ส่วน ตัวชี้วัดที่2 จำนวนจุดความร้อนภายในประเทศลดลง พบว่าปี 2566 มีจุดความร้อนเพิ่มสูงกว่า 4 ปีก่อนหน้า และตัวชี้วัดที่3 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศลดลง จากข้อมูลของกระทรงสาธารณสุขพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงในปี 2565 จำนวน 911,453 ราย และเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 จำนวน 2,293,667 ราย จะเห็นได้ว่าจากตัวชี้วัดทั้ง 3 ข้อในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าแผนวาระฝุ่นแห่งชาติยังไม่สามารถดำเนินการได้ประสบความสำเร็จตามที่วางไว้

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลปัจจุบัน จะกำหนดแผน 11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่ยังพบว่าเป็นการวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง แต่มีความชัดเจนขึ้นคือกำหนดว่าต้องควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ แต่พบว่าในประเด็นนี้เป็นเพียงการกำหนดว่าให้ลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใดเพียงเท่านั้น ดังนั้น การกำหนดมาตรการหรือนโยบายออกมาแต่ยังคงต้องติดตามการดำเนินการให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น