ทบทวนวาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เศรษฐกิจประชาธิปไตย อาจเป็นทางออกของความเท่าเทียม

SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่านหนังสือปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 19 จัดขึ้นโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ ‘ถอดรหัสวาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล เป็นการกล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาของไทยที่ไม่ยั่งยืนและซ้ำร้ายยังแย่ลงในทุกมิติ สืบเนื่องจากการกระจุกตัวของอำนาจเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่า ‘ระบอบอุปถัมภ์ผูกขาด’ ที่เข้ามาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสังคม

ปาฐกถาในหัวข้อดังกล่าว ได้พยายามฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ที่ได้กลายเป็นแนวทางการพัฒนากระแสหลัก ถูกอ้างอิงในแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท รวมถึงบริษัทเอกชนทุกระดับ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจสะท้อนว่าสังคมกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืน จะเห็นได้ว่าจากรายงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย ในปี 2566 พบว่าสถานการณ์ความยั่งยืนในไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ ได้คะแนน 74.7 คะแนน ถือเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเหมือนจะคืบหน้าไปด้วยดี 

แต่หากพิจารณาในเป้าหมายย่อยยังพบปัญหาและความไม่ยั่งยืนในหลายมิติ เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิผล อันดับข้อนี้ของไทยในดัชนีนิติธรรม (Rule of Law Index) จัดทำโดย World Justice Project ลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 30 อันดับ จากอันดับที่ 72 ในโลก (ทั้งหมด 142 ประเทศ) ในปี 2558  มาอยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) และ SDG 16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) หรือในเรื่องระบบนิเวศบนบกที่แสดงผ่านดัชนีบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List Index) มีทิศทางแย่ลงอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.76 ในปี 2566 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก) อย่างไรก็ดี ความไม่ยั่งยืนเหล่านี้ ไม่เพียงกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หนังสือข้างต้น ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจในหัวข้ออื่น ๆ  เช่น 

  • เผด็จการตัวชี้วัด กับวาทกรรม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ กล่าวถึงการกำหนดตัวชี้วัดที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อทิศทางของการกำหนดนโยบาย รวมถึงเป็นการตีกรอบที่บางครั้งทำให้ลืมการตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป แต่เป็นเพียงการหาหนทางทำให้ดีขึ้นเท่านั้น เช่น เรื่องที่ “ดีแล้ว” ไม่ได้แปลว่า “ดีพอ” ตามรายงาน “Sustainable Development Report (SDR)” ได้ระบุว่า SDG1 การขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ อยู่ในสถานะบรรลุแล้ว (สีเขียว) ทว่าความเป็นจริง เช่น การประเมินสถานะของ SDG1 โดยใช้เส้นความยากจนนานาชาติ (international poverty line) ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของไทย ไม่อาจสะท้อนปัญรายได้และค่าครองชีพที่แท้จริงของคนไทย
  • ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด Net Zero พลังงาน และธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง หากไม่มีการรับมือกับความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดต่อนโยบายรัฐและการดำเนินธุรกิจของบางกลุ่มทุน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ เช่น นโยบาย Net Zero ที่ยังคงมีความก้าวหน้าที่ล่าช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ให้คำสัญญาไว้ 
  • เศรษฐยาธิปไตย หรือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อธิบายถึงเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนส่วนมาก มากกว่าพยุงความมั่งคั่งของกลุ่มคนส่วนน้อย โดยให้ประชาชนมีอำนาจจัดการทรัพยากรในชุมชนตนเอง มีเสรีภาพและโอกาสอย่างเท่าเทียมที่จะค้าขายในสนามแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดนโยบายของรัฐ ไปพร้อมกับการร่วมประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ช่วงสุดท้ายจากการปาฐกถาในหัวข้อนี้ได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน คือความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นนั้นการที่ลดความอยุติธรรมในมิติเหล่านี้ได้ ย่อมทำให้เพิ่มความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.4) นำนโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกแก่ความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย 

Last Updated on มีนาคม 11, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น