เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) ร่วมกับระบบสถิติของสหประชาชาติ (United Nations Statistical System: UNStats) ได้เผยแพร่ “รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2568” (The Sustainable Development Goals Report 2025) ถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญในช่วงห้าปีสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายปี 2573 โดยระบุว่าโลกยังคงไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ มีเพียง 35% ของเป้าหมาย SDGs เท่านั้นที่มีความก้าวหน้าในระดับปานกลางหรือเป็นไปตามทิศทางที่กำหนด ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของเป้าหมายคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และอีก 18% ถดถอยลง พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและสอดประสานกันท่ามกลางภาวะฉุกเฉินด้านการพัฒนาในระดับโลก
รายงานนำเสนอข้อค้นพบเกี่ยวกับความสำเร็จสำคัญบางประการ ได้แก่
- นับตั้งแต่ปี 2558 เด็กและเยาวชนกว่า 100 ล้านคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้
- อัตราการเสียชีวิตของมารดาและเด็กลดลง และมีแนวโน้มดีขึ้น
- การติดเชื้อ HIV รายใหม่ลดลงเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปี 2553
- ปัจจุบัน ประชากรโลก 92% เข้าถึงและมีไฟฟ้าใช้
- ผู้คนหลายร้อยล้านคนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและระบบสุขาภิบาลได้
- การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 70% ตั้งแต่ปี 2558
นอกจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น รายงานยังสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญหลายประการ ได้แก่
- ยังคงมีผู้คนกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty)
- มีประชากร 1 ใน 11 คนทั่วโลกเผชิญกับความหิวโหย
- ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด และตั้งแต่ปี 2558 จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า
- ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ที่เคยเติบโตต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ลดลง 7.1% ในปี 2567 และคาดว่าจะลดลงอีกในปี 2568
- ผู้หญิง ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในสังคมยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในระบบโครงสร้างต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ช่วงห้าปีสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายปี 2573 การบรรลุเป้าหมาย SDGs ยังคงมีอุปสรรคจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการขาดแคลนเงินทุน โดยในปี 2566 ต้นทุนการชำระหนี้ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ (LICs) และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (MICs) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่องว่างด้านเงินทุนเพื่อสนับสนุน SDGs ในประเทศกำลังพัฒนานั้น อยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกันระบบสถิติแห่งชาติในหลายประเทศประสบปัญหาการขาดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แม้ข้อมูลที่มีความทันสมัยและจำแนกรายกลุ่มอย่างละเอียดถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามความก้าวหน้า การกำหนดเป้าหมายเชิงนโยบาย และการสร้างความรับผิดชอบในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขค่าเฉลี่ยในระดับโลกมักบดบังความก้าวหน้าที่สำคัญในหลายประเทศ เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีถึง 45 ประเทศที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ และภายในสิ้นปี 2567 มี 54 ประเทศที่สามารถกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยอย่างน้อยหนึ่งโรคได้สำเร็จ
ทั้งนี้รายงานระบุถึง 6 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้แก่ ระบบอาหาร การเข้าถึงพลังงานและความยั่งยืน การเชื่อมต่อทางดิจิทัล การปฏิรูปการศึกษา งานและระบบคุ้มครองทางสังคม รวมถึงการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ รายงานยังเรียกร้องให้มีการกำหนดนโยบายที่สอดประสานกัน การจัดสรรเงินทุนอย่างเพียงพอ และการดำเนินงานที่ครอบคลุมในทุกภาคส่วน
รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs Report นี้ เป็นรายงานทางการฉบับเดียวขององค์การสหประชาชาติที่ติดตามความก้าวหน้าตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) นำเสนอข้อมูลล่าสุดทั้ง 17 เป้าหมายที่ได้จากหน่วยงานระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคมากกว่า 50 หน่วยงานทั่วโลก โดยอาศัยข้อมูลและการวินิจฉัยของฐานข้อมูลตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก (Global SDG Indicators Database) มีกำหนดเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี หรือในช่วงก่อนการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF)
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงาน SDGs Report 2024 ของสหประชาชาติระบุว่า SDGs เพียง 17% จะบรรลุทันเวลา ซ้ำพบความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความหิวโหยเพิ่มขึ้น
– SDG Updates | บทสรุป SDG Index 2025 – ครบ 1 ทศวรรษ โลกยังไม่บรรลุ SDGs ใด พบไทยมี 6 เป้าหมายตกอยู่ในสถานะท้าทายมาก
– SDG Updates | สรุปประเด็นสำคัญ รายงานความก้าวหน้า SDGs ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ปี 2568
– SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: Amid Real but Unequal Progress, Breakthrough Still Possible: UN Stats Report (IISD)