11 บริษัทไทยติดอันดับ Gold Class ‘ธุรกิจที่มีความยั่งยืน’ ของ The Sustainability Yearbook 2021 จากการประเมินให้คะแนนตาม ESG – สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

11 บริษัทไทยติดอันดับ Gold Class ‘ธุรกิจที่มีความยั่งยืน’ ของ The Sustainability Yearbook 2021 จากการประเมินให้คะแนนตาม ESG – สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

S&P Global จัดทำ ‘The Sustainability Yearbook 2021’ ซึ่งเป็นการประเมินความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Assessment) โดยมีการให้คะแนนตาม ‘การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล’(Environmental, Social and Governance: ESG) ประเมินบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายร่วม 61 กลุ่ม อาทิ ธุรกิจการบิน ยานยนต์ ธนาคาร เครื่องดื่ม ซอฟแวร์ ร้านค้าปลีก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสิ้น 7,032 บริษัทใน 40 ประเทศทั่วโลก และจัดอันดับการให้รางวัลเป็นประเภท Gold Class, Silver Class, Bronze Class, Industry Mover และ Member

โดยสำหรับไทย มีบริษัทจดทะเบียนในไทย 10 บริษัท และบริษัทไทย 1 บริษัทที่ได้รางวัลระดับ Gold Class ได้แก่

  1. บมจ.บ้านปู (BANPU) – ประเภท: อุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิงพลังงาน
  2. บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) – ประเภท: การคมนาคมและโครงสร้างการคมนาคม
  3. บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) – ประเภท: อุตสาหกรรมการกลั่นและการตลาดน้ำมันและก๊าซ
  4. บมจ.ปตท. (PTT) – ประเภท: อุตสาหกรรมการกลั่นและการตลาดน้ำมันและก๊าซ
  5. บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) – ประเภท: อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซขั้นต้น
  6. บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) – ประเภท: เคมีภัณฑ์
  7. บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) – ประเภท: วัสดุก่อสร้าง
  8. บมจ.ไทยออยล์ (TOP) – ประเภท: อุตสาหกรรมการกลั่นและการตลาดน้ำมันและก๊าซ
  9. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) – ประเภท: การให้บริการโทรคมนาคม
  10. บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) – ประเภท:  สินค้าอาหาร และบริษัทไทย ได้แก่
  11. บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) – ประเภท: เครื่องดื่ม

และนอกจาก 11 บริษัทนี้ ยังมีบริษัทไทยที่ได้รางวัลตามประเภทอื่นที่เหลืออีก 18 บริษัท รวมทั้งหมดมีบริษัทไทย 29 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับใน The Sustainability Yearbook 2021 มากเป็นลำดับที่เจ็ดของโลกรองจากประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และไต้หวัน

โดย Yearbook นี้มีการเปิดเผยข้อมูลและบทความที่ช่วยให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ในด้านการลงทุน บริษัท และเศรษฐกิจ อาทิ การใช้บรรจุภันฑ์พลาสติก แรงงานและความเท่าเทียมทางเพศ การคมนาคมที่ใช้กระแสไฟฟ้า รวมถึงการใช้ ‘ESG’ เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงหรือบริหารจัดการ ’มิติความยั่งยืน’ ของบริษัท – ผลการดำเนินงานในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งนี้ การที่บริษัทได้รางวัลและมีรายชื่อปรากฎอยู่ใน Yearbook จะต้องเป็นบริษัทที่จัดอยู่ในอันดับ 15% แรกของอุตสากรรมนั้น และจะต้องได้คะแนน S&P Global ESG ในช่วง 30% ของบริษัทที่มีผลการดำเนินการเป็นเลิศในอุตสาหกรรมนั้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยและภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing) และ ESG เพื่อช่วยจัดทำรายงานให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประกอบการวิเคราะห์และดำเนินการต่อไป และมีผลประกอบการที่ดีไปพร้อมกับการเติบโตอย่างสมดุลระหว่างธุรกิจและสังคม (Balanced Growth) ด้วย

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้บริษัทคำนึงถึงความยั่งยืนและใช้ ESG มาช่วยประเมินและจัดทำรายงาน เกี่ยวข้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 12 ในฐานะผู้ผลิตเพื่อความยั่งยืน เป้าประสงค์ที่ 12.6 ว่าด้วยการสนับสนุนให้บริษัทรับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนในวงจรการรายงานของบริษัท

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
Environmental, Social and Governance: ESG ตัวชี้วัดที่นำมาช่วยวัดผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อสรรค์สร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน

แหล่งที่มา:

https://www.spglobal.com/esg/csa/yearbook/
https://www.spglobal.com/esg/csa/yearbook/ranking/

#SDGWatch #ihpp #SDG12

Last Updated on กุมภาพันธ์ 16, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น