ตึกไม้ระฟ้า – ทางเลือกใหม่เพื่อสร้างเมืองยั่งยืน

UN คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จำนวนประชากรถึง 68% ของโลกจะใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมือง นั่นหมายถึงจำนวนที่พักอาศัย ถนน โครงสร้างพื้นฐานจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัว โดยเฉพาะการก่อสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่เพียงพอกับคนจำนวนมาก อาจเป็นการฉุดรั้งความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกระบวนการผลิตเหล็กและคอนกรีต วัสดุหลักในการก่อสร้าง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 8% ของปริมาณที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด หากต้องมีการขยายตัวของเมือง และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทางเลือกคือ ต้องใช้วัสดุอื่น

ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา สถาปนิกได้ให้ความสนใจกับวิธีการก่อสร้างอาคารไม้สมัยใหม่ ที่ทำความสูงได้มากขึ้น สถิติความสูงของอาคารไหม้ปัจจุบันคือ อาคาร Mjostarnet ในประเทศนอร์เวย์ มีความสูง 85 เมตร (18 ชั้น) สร้างเสร็จเมื่อปี 2019 แต่ก็จะถูกโค่นล้มไป หากโปรเจกต์ River Beech Tower ซึ่งมีความสูง 228 เมตร (80 ชั้น) ริมแม่น้ำชิคาโก เกิดขึ้นและก่อสร้างสำเร็จ

จากการการประชุมประจำปีของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Association for the Advancement of Science: AAAS) เมื่อวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับว่า “ไม้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุดแทนเหล็กและคอนกรีต” แต่ไม่ใช่ไม้ธรรมดาทั่วไป วัสดุที่สถาปนิกสนใจคือ ‘ไม้เอ็นจิเนียร์’ (engineered timber) เป็นไม้ที่มีองค์ประกอบชั้นต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะ เช่น พื้น ผนัง นั่งร้าน และคาน นอกจากสามารถกำหนดรูปร่างตามที่ต้องการแล้ว ยังสามารถเพิ่มเกรนไม้ (Grain) เพื่อให้มีความแข็งแรงเทียบเท่าเหล็กในน้ำหนักที่เบากว่าถึง 80% มากไปกว่านั้น ไม้เอ็นจิเนียร์จะถูกขึ้นรูปเพื่อเป็นส่วนประกอบขนาดใหญ่ของอาคารที่โรงงาน ซึ่งจะช่วยลดเที่ยวการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้างด้วย

Dr. Michael Ramage จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวถึงอาคารไม้สี่ชั้น ขนาด 300 ตารางเมตรที่สร้างขึ้นในเมืองเคมบริดจ์ ว่าการสร้างอาคารดังกล่าวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 126 ตัน หากสร้างด้วยคอนกรีต ปริมาณก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็น 310 ตัน และหากมีการใช้เหล็ก จะเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 498 ตัน เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่ง อาคารนี้อาจเรียกได้ว่า “ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ” เนื่องจากต้นไม้จะดูกซับคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ ซึ่งในกรณีอาคารหลังนี้ ดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ได้ถึง 540 ตัน ที่ถูกลบออกจากออกชั้นบรรยากาศในระยะยาว

หากเทรนด์ในการสร้างอาคารด้วยไม้เพิ่มขึ้น ก็อาจจะเกิดข้อกังวลว่าเราจะมีต้นไม้ไม่เพียงพอและเกิดการทำลายป่า Dr. Ramage ให้ความเห็นว่า สำหรับการสร้างอพาร์ตเมนต์เพื่อหนึ่งครอบครัว ใช้ไม้ประมาณ 30 ลูกบาศก์เมตร เขาประเมินว่า ในป่าไม้ที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนในยุโรปเพียงที่เดียว ก็สามารถผลิตไม้จำนวนดังกล่าวขึ้นได้ภายใน 7 วินาที

ตามรายงานของ Potsdam Institute for Climate Impact Research ประเทศเยอรมนี อาคารที่สร้างด้วย ไม้เอ็นจิเนียร์ มีคุณสมบัติทนไฟได้ดีด้วยการออกแบบทางวิศวกรรม เมื่อถูกไฟไหม้ ผิวชั้นนอกจะกลายเป็นชั้นถ่าน ทำให้ไปวัสดุภายในไม่ไหม้ถูกทำลายไปด้วย

อ้างอิง
https://www.economist.com/science-and-technology/2021/02/13/building-sustainable-cities-with-wooden-skyscrapers

Last Updated on กุมภาพันธ์ 16, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น