การใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มากเกินในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว ส่งผลต่อการนอนหลับและปัญหาสุขภาพจิต

การศึกษา ‘Interplay between social media use, sleep quality, and mental health in youth: A systematic review’ ซึ่งจะตีพิมพ์ใน Sleep Medicine (เมษายน 2564) เป็นการทบทวนวรรณกรรมโดยการค้นคว้าและประเมินงานศึกษาจากฐานข้อมูล MEDLINE, PsychInfo, EMBASE และ Scopus รวมทั้งงานศึกษาอื่น เพื่อสำรวจหาความสัมพันธ์ของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย คุณภาพการนอน และผลที่มีต่อสุขภาพจิตที่เหมือนกันในงานการศึกษาเหล่านั้น อย่างอาการกังวลกระวนกระวายใจ (anxiety) โรคซึมเศร้า (depression) และความเครียดหรือรู้สึกไม่สบายใจ (psychological distress) โดยมุ่งหาการศึกษาที่เข้าเกณฑ์อายุ ‘วัยรุ่นและคนหนุ่มสาว’ ที่ตั้งไว้ที่ช่วงอายุ 16-25 ปี

การศึกษาได้สำรวจการใช้อินเตอร์เน็ตโดยประมาณ การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ในบรรดาการศึกษาเหล่านั้นมีทั้งที่เน้นประเด็นการเสพติดการใช้เฟสบุ๊ค หรือคุณภาพการนอนหลับเป็น ‘ตัวกลาง’ (mediator) ระหว่างความสัมพันธ์ของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียและผลทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ หรือศึกษาปัจจัยเสี่ยงจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ หลักฐานจากการศึกษาทั้งหมดนำมาสู่ข้อค้นพบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสามประการ: การใช้สื่อโซเชียลมีเดียกับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ – การนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพ (poor sleep) กับสุขภาพจิตที่ไม่ค่อยดี (poor mental health) – การใช้สื่อโซเชียลมีเดียมีส่วนส่งผลทางตรงทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และส่งผลทำให้การนอนหลับไม่ได้คุณภาพในทางอ้อม

อย่างน้อยที่สุด ข้อค้นพบนี้มีประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขที่ทำให้เห็นประเด็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มากเกิน โดยสรุปคือมีผลอย่างยิ่งต่อปัญหาการนอนหลับและปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวในสังคมปัจจุบัน ตลอดจนการเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสามปัจจัยจะนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายด้านสุขภาพและทำให้เราปรับปรุงดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นได้ – ซึ่งประเด็นเรื่องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี เป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ของ #SDG3

ทั้งนี้ การทบทวนวรรณกรรมดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเรื่องคำจำกัดความของเยาวชน (youth) คนหนุ่มสาว (young adult) และวัยรุ่น (adolescent) ซึ่งผู้ทำการศึกษามองว่าควรทำการศึกษากับกลุ่มประชากรตัวอย่างเป็นการเฉพาะต่อไป

แหล่งที่มา:
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S108707922030157X?via%3Dihub

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3

Last Updated on กุมภาพันธ์ 15, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น