การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส

งานวิจัย Global and regional drivers of land-use emissions in 1961–2017 ตีพิมพ์บน Nature แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ (รวมถึง ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซมีเธน)​ โดยละเอียดตั้งแต่ปี 1961 ถึง 2017 คำนึงถึงการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ฟาร์มเป็นหลัก โดยทำการประมาณและแสดงข้อมูลการปล่อยการก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินทั่วโลก 229 พื้นที่ และจากผลผลิตทางการเกษตร 169 รายการ

จากผลการศึกษาพบว่าประเทศที่ยากจนกว่าในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุด

ส่วนในทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในระดับน้อยกว่า แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางภาคเกษตรมีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของประชากร

ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยกว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เป็นลบ แต่อย่างไรก็ตาม มลพิษที่เกิดขึ้นจำนวนมากยังคงมีสาเหตุมาจากการทำฟาร์ม

นักวิจัยเสนอแนวทางการจัดการด้านภาคเกษตรและการใช้ที่ดินเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ดีขึ้น จะช่วยลดการแผ้วถางป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งดักเก็บคาร์บอนชั้นดี การเปลี่ยนมาใช้วิธีไถพรวนและเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงการการจัดการดินและของเสียจากปศุสัตว์ รวมถึงการลดขยะอาหาร หรือเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวแบบใหม่ที่สร้างก๊าซมีเธนน้อยกว่า

นอกจากนั้นยังเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบริโภคแทนเนื้อวัว เพราะจากการศึกษาพบว่า เนื้อแดงให้พลังงานเพียง 1% ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก แต่การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางการบริโภคจึงมีความสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจก

ทวีปยุโรปมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินต่ำที่สุด อยู่ที่ 0.5 ต่อคนต่อปี แต่ตัวเลขในภูมิภาคอื่นสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรโลกที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เกษตรกรและผู้กำหนดนโนบายต้องร่วมมือกันหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อโลก

นักวิจัยยังให้ความเห็นว่า แม้เราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้อยู่ระดับเดียวยุโรป แต่เมื่อคำนวณกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินจะอยู่ที่ 5 กิกะตันต่อปี ในปี 2100 เท่านั้น ซึ่งยังเป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าจะทำให้เราบรรลุความตกลงปารีสได้ เว้นแต่ว่าจะถูกชดเชยด้วยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากชั้นบรรยากาศ

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือ

  • รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส
  • จำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในช่วงเวลาระหว่างปี 2050 และ 2100
  • ทบทวนการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามยิ่งขึ้น
  • เปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยสามารถช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าได้ ผ่าน ‘เงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ’ เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และหันไปใช้พลังงานทดแทน
    (ที่มา: BBC เจาะเนื้อหาข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, 2017)

จากข้อมูลของ World Meteorological Organization พบว่า อุณหูมิเฉลี่ยโลกของปี 2020 สูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว

อ้างอิง
https://www.futurity.org/farming-greenhouse-gas-emissions-paris-agreement-2509082-2/

การใช้ที่ดินทำการเกษตร เพื่อผลิตอาหาร และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมโยงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าประสงค์ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่นๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าประสงต์ที่ 12.3  ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าประสงค์ที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2030

Last Updated on กุมภาพันธ์ 26, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น