SDG Updates | แบนพลาสติกเพิ่ม: แนวโน้มความสำเร็จหรือล้มเหลว? ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ? และใครบ้างต้องปรับตัว?

“คนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละประมาณ 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก”

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญและพยายามแก้ไข สำหรับประเทศไทย การใช้พลาสติกในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่อัตราประมาณร้อยละ 12 ต่อปี หรือประมาณ 2 ล้านตัน[1] โดยรายงานจากธนาคารโลกชี้ว่าคนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละประมาณ 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งประเทศไทยยังติดอันดับ 8 ของผู้ปล่อยมลพิษสู่มหาสมุทรของโลกด้วย[2]

ประเทศไทยจึงกำหนดแผนขั้นตอนการดำเนินการหรือโรดแมปสู่สังคมไร้พลาสติก โดยเริ่มจากปี 2561 ที่มีการกำหนดให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ ไมโครบีดที่ใช้ในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ผสมสารอ็อกโซ่ ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2563 มีการกำหนดให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic – SUP) โดยขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีก และมีแผนจะยกเลิกการผลิตและใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก โดยไทยได้ตั้งเป้าการลดขยะให้ได้ 0.73 ล้านตันภายในสิ้นปี 2565[3]

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการยกเลิกการผลิตและใช้พลาสติกเพิ่ม 4 ชนิดข้างต้นนี้ มีนัยยะและแนวโน้มเป็นอย่างไร และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรต่อไปบ้าง

นโยบายการยกเลิกการใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิด จะบังคับใช้ภายในปี 2565

ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก

นโยบายการยกเลิกการใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิดที่จะบังคับใช้ภายในปี 2565 นี้ เป็นการส่งเสริมการพัฒนาตาม ‘หลักเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน’ (Circular Economy) ที่เน้นการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อสนองนโยบายนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการลดและเลิกการใช้พลาสติก 4 ชนิด ประกอบด้วย ถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการนำพลาสติกเหลือใช้ ได้แก่ ขวดพลาสติกทุกชนิด ฝาขวด แก้วพลาสติก กล่องอาหาร และช้อนส้อมพลาสติก เข้าสู่ระบบเพื่อรีไซเคิลให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% โดยมีแผนการดำเนินการเพื่อควบคุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต มีมาตรการลด/เลิกในขั้นการบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในภาคส่วนของของเสียพลาสติกดีขึ้นด้วย[4]

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวสร้างข้อสงสัยต่อความเป็นไปได้และผลกระทบต่อภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจรีไซเคิล ที่ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกในบริบทประเทศไทย โดยหลักการและเหตุผลในการลดและเลิกการใช้พลาสติกดังกล่าวเป็นไปเพื่อส่งเสริมการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งและเพื่อส่งเสริมการผลิตและใช้พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้

จะเห็นว่าการยกเลิกแก้วพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน เป็นไปเพื่อยกเลิกการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หากไม่เห็นภาพว่าคือแก้วแบบใด ให้นึกถึงแก้วพลาสติกรูปลายต่าง ๆ ที่ขายตามร้านรถเข็น ขณะที่แก้วขนาด 100 ไมครอนขึ้นไปก็คือแก้วแบบหนาที่เสิร์ฟตามร้านกาแฟเฟรนไชส์ต่าง ๆ โดยเมื่อมองมาที่วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มร้อนและเย็นแบบนำกลับบ้านในประเทศไทย จะเห็นว่าการใช้แก้วพลาสติกเพื่อนำกลับบ้านนั้นมีทิศทางที่ไม่สามารถลดลงได้เลย ถึงแม้ว่าจะกำหนดให้ใช้แก้วหนา 100 ไมครอน ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าแก้วที่นำกลับบ้านไปจะถูกนำกลับมาใช้ซ้ำเนื่องจากผู้บริโภคยังคงคุ้นชินกับพฤติกรรมแบบใช้แล้วทิ้งอยู่ และก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าแก้วพลาสติกจะถูกนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้หรือไม่หากไม่มีการแยกขยะอย่างถูกวิธี แต่อย่างน้อยการกำหนดให้แก้วพลาสติกต้องมีความหนาเพิ่มขึ้นจะเป็นการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ซ้ำและทำให้การรีไซเคิลทำได้ง่ายขึ้น ในแง่นี้ แก้วที่หนาขึ้นก็ต้องขยับราคาให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำได้จริง

มีทางเลือกอื่นแทนการใช้พลาสติกอีกไหม ?

แก้วพลาสติกทางเลือกแบบย่อยสลายได้ ถุงกระดาษ ถุงผ้าสปันบอนด์

แก้วพลาสติกทางเลือกแบบย่อยสลายได้ (Biodegradable) ที่เริ่มพบเห็นมากขึ้นนั้น ถึงแม้ว่าจะย่อยสลายได้ในเร็ววัน แต่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลร่วมกับแก้วพลาสติกอื่น ๆ ได้ โดยสามารถกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาทำลายเท่านั้น ทำให้ต้องแยกกำจัดตามประเภทพลาสติกซึ่งจะสร้างความสลับซับซ้อนในกระบวนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตแก้วพลาสติกทางเลือกแบบย่อยสลายได้มาจากเกษตรเชิงเดี่ยวจำพวกอ้อย ฟางข้าวโพด และแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการทำเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานและเกิดรอยเท้าคาร์บอน (footprint) ในการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงยังไม่สามารถพูดได้ว่าแก้วแบบย่อยสลายได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากยังคงเป็นการใช้แล้วทิ้งไม่ต่างจากพลาสติกแบบอื่น ดังนั้น การนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นพลาสติกประเภทใด จึงยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า[5]

การยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกในต้นปี 2563 ทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวมถึงผู้บริโภคต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ายังพบการใช้ถุงพลาสติกบรรจุสินค้าและอาหารตามร้านค้าปลีกรายย่อย ตลาดสด และร้านค้าขายอาหารทั่วไปอยู่ การยกเลิกการผลิตและใช้ถุงพลาสติกขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอนจึงคล้ายคลึงกับการกำหนดขนาดความหนาของแก้วพลาสติก กล่าวคือ หากยังคงมีพฤติกรรมการใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือกระบวนการแยกและรีไซเคิลไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหานี้ก็จะยังคงอยู่ ทำให้ถุงกระดาษและถุงผ้าสปันบอนด์ (non- woven) จึงถูกใช้เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติก จากข้อมูลของการศึกษา[6] พบว่า ควรนำถุงพลาสติกแบบหนากลับมาใช้ซ้ำอย่างน้อย 5 ครั้งจึงจะคุ้มค่ากับพลังงานและรอยเท้าคาร์บอนที่ใช้ในการผลิต ขณะที่ ควรนำถุงกระดาษกลับมาใช้ซ้ำถึง 4 ครั้ง เพราะถุงกระดาษอาจไม่ทนทานแข็งแรงเท่า และถุงผ้าฝ้ายซึ่งดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดก็ควรนำกลับมาใช้ซ้ำให้ได้อย่างน้อย 173 ครั้ง ส่วนถุงผ้าสปันบอนด์ซึ่งเป็นถุงที่ทำจากพลาสติกนั้น เมื่อแตกตัวจะกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก (Microplastic) ทำให้ยังคงเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสุขภาพ[7] เมื่อเป็นเช่นนี้ กล่าวโดยสรุปแล้ว การควบคุมการผลิตให้ถุงพลาสติกหนาขึ้นก็เป็นไปเพื่อให้สะดวกต่อการนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล และแม้จะมีทางเลือกอื่นอีกมากมายในการทดแทนการใช้ถุงพลาสติก แต่จุดหลักสำคัญยังคงอยู่ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคกับการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้มากที่สุด

โฟมใส่อาหารและหลอดน้ำอยู่ในรายการที่จะถูกยกเลิกการใช้ภายในปี 2565 ด้วยเช่นกัน ยกเว้นโฟมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและหลอดที่ใช้ในเชิงการแพทย์ แต่การใช้โฟมบรรจุอาหารโดยทั่วไปนั้นถึงแม้ว่าจะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกิดการปนเปื้อนกับอาหารไปแล้ว กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือขยะโฟมและหลอดมีขนาดเล็ก ธุรกิจการรีไซเคิลโฟมจึงไม่เป็นที่นิยมเพราะแทบจะรีไซเคิลขยะโฟมและหลอดเหล่านั้นไม่ได้เลย ทำให้ต้องกำจัดโดยการเผาหรือฝังกลบและผลที่ตามมาคือขยะโฟมและหลอดซึ่งมีขนาดเล็กได้หลุดไปอยู่ในระบบนิเวศ เป็นมลพิษในมหาสมุทรที่ทำอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกต่อหนึ่งเนื่องจากสัตว์ทะเลเข้าใจว่าเป็นอาหาร ดังนั้นแล้ว การยกเลิกการใช้หลอดและโฟมบรรจุอาหารจึงเป็นวาระสำคัญของไทยในการมุ่งหน้าสู่การลดมลพิษ อย่างไรก็ตาม เมื่อการซื้ออาหารและเครื่องดื่มพร้อมปรุงจากตลาดหรือร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นวิถีชีวิตหลักสำหรับคนในเมือง การงดใช้หลอดหรือโฟมบรรจุอาหารจึงยังคงเป็นความท้าทาย ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะได้มีความพยายามใช้ทางเลือกอื่น อาทิ หลอดแก้ว อะลูมิเนียม หลอดซิลิโคนเพื่อการใช้ซ้ำ และกล่องบรรจุอาหารที่มาจากวัสดุอินทรีหรือที่ย่อยสลายได้ ทว่าก็มีผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยกับต้นทุนที่สูงขึ้นและความเสี่ยงต่อยอดขายที่ลดลงเนื่องจากความไม่สะดวกสบายในการให้บริการ ผู้บริโภคเองจึงจำเป็นต้องพบกันครึ่งทางด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภค เช่น ต้องพกพาแก้วน้ำ หลอด และภาชนะไปเอง เป็นต้น

มาตรการยกเลิกการใช้พลาสติกเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดในประเทศไทยนั้น กรณีศึกษาในต่างประเทศต่อไปนี้อาจทำให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น

จากการศึกษาการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในมาตรการการยกเลิกการใช้พลาสติก[8] พบว่าประเทศที่ประสบผลสำเร็จมียุทธวิธีที่ต่างกันไปขึ้นกับบริบทของแต่ละประเทศ อย่างรัฐแคลิฟอร์เนียใช้วิธีการให้ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติกและกำหนดให้ถุงพลาสติกมาจากวัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 40% รวมทั้งให้ร้านค้าเก็บหลักฐานการซื้อขายถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปีเพื่อทำการตรวจสอบในภายหลัง ซึ่งการบังคับใช้ทำให้การใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งลดลงอย่างเห็นผลได้ชัด ส่วนหนึ่งใช้ถุงกระดาษทดแทนและอีกกว่า 43% ของผู้ซื้อไม่รับถุง ส่วนประเทศออสเตรเลียมีการกำหนดบทลงโทษปรับร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นเงิน 3,200 บาท และ 17,000 บาทสำหรับบริษัทที่แจกถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งให้ลูกค้า ในรัฐสิกขิมประเทศอินเดียซึ่งขึ้นชื่อด้านการทำเกษตรแบบยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ยกเลิกการใช้พลาสติกเกือบทุกประเภทเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยการยกเลิกการใช้พลาสติกในเมืองหลวงของรัฐสิกขิมได้ผลเนื่องมาจากมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบและความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในเมืองอื่นที่ห่างไกลกลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะการตรวจสอบไปไม่ถึง ซึ่งจากกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้นโดยภาพรวมแล้ว จะเห็นว่าแต่ละประเทศได้มีการเตรียมการก่อนการประกาศใช้มาตรการ โดยมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก มีการบังคับใช้กฎหมาย และมีคณะทำงานรองรับอย่างเข้มข้นและชัดเจน

ผลการศึกษายังได้พูดถึงเมืองเดลี ประเทศอินเดียกับประสบการณ์การยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนักว่า ถึงแม้ว่าจะมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนค่อนข้างรุนแรงทั้งปรับทั้งจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่ร้อยละ 62 ของผู้ค้ารายย่อย (ร้านค้าข้างทาง) ก็ยอมรับว่ายังใช้ถุงพลาสิกในการบรรจุอาหารให้ลูกค้าอยู่ โดยประเภทอาหารที่บรรจุในถุงพลาสติกนั้น ได้แก่ ผักและผลไม้ซึ่งใช้ถุงพลาสติกอยู่ถึงร้อยละ 99 เนื้อสัตว์และปลาซึ่งยังใช้ถุงพลาสติกอยู่ถึงร้อยละ 95 และอาหารปรุงสำเร็จจากร้านค้าข้างทางซึ่งยังใช้ถุงพลาสติกอยู่ถึงร้อยละ 82 อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่มีสาขาสามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 90-100% ทั้งนี้ ในกรณีของประเทศเคนย่าและรัฐมิชิเกน สหรัฐฯ กลับมีการต่อต้านมาตรการการยกเลิกใช้พลาสติกโดยกลุ่มร้านอาหารแบบส่งด่วน และแรงงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ An analysis of the effectiveness of plastic bag bans)

ความท้าทายของไทย

สิ่งที่ควรนำไปคิดต่อในบริบทของประเทศไทยคือวัฒนธรรมการบริโภคแบบส่งด่วนและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายย่อยที่มีมากมายในเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร การยกเลิกการใช้พลาสติกอาจทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจส่งด่วนที่กำลังเติบโตจากสถานการณ์ความจำเป็นที่ต้องกักบริเวณในบ้านแล้วยิ่งทำให้สงสัยว่าการไม่ใช้ถุงพลาสติก แก้ว โฟม และหลอด จะสามารถทำได้แค่ไหน หรือจะมีทางเลือกนวัตกรรมอื่นเข้ามาทดแทนได้ทันและคุ้มทุนพอหรือไม่ ทั้งนี้ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องพบกันครึ่งทาง กล่าวคือ ผู้บริโภคพกถุง ภาชนะ หลอด และแก้วมาเองบ้าง ส่วนผู้ประกอบการก็มีบริการภาชนะ หลอด แก้วที่เป็นทางเลือกสิ่งแวดล้อมบ้าง หรือในอนาคตอาจจะมีนวัตกรรมทางธุรกิจให้ ‘ยืม’ ภาชนะกลับบ้านเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก็ได้ (ดูตัวอย่างธุรกิจส่งด่วนด้วยผลิตภัณฑ์ใช้ซ้ำได้ที่ Unpckd[9])

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มธุรกิจรับซื้อของเก่าทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือ ‘ซาเล้ง’ เมื่อพูดหรือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มีหัวใจสำคัญหนึ่งอยู่ที่การนำวัสดุกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งหากนำวัสดุกลับไปรีไซเคิลได้ก็จะเรียกว่า ‘การปิดลูป’ (close the loop) ในหนึ่งลูปตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภคและนำกลับมาใช้ใหม่นั้น หากระบบการนำเศษวัสดุหลังจากการบริโภคไปรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ก็จะถือว่าสามารถ ‘ปิดลูป’ ได้ โดยเป้าหมายของการปิดลูปคือให้สามารถปิดลูปได้ร้อยเปอร์เซ็น สำหรับประเทศไทยแล้ว ธุรกิจรับซื้อของเก่าและซาเล้งคือส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการปิดลูปนี้ เปรม พฤกษ์ยานนท์ ผู้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรีไซเคิลในเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ กล่าวในไทยรัฐออนไลน์ว่า[10] เห็นด้วยกับการยกเลิกหลอดและโฟมประเภทที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ในประเทศไทย แต่การยกเลิกพลาสติกขนาดบางเสมือนเป็นการบังคับให้ใช้พลาสติกที่หนาขึ้นทั้งที่ยังคงมีราคาเท่าเดิม ซึ่งก็จะทำให้ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ผู้บริโภคจะใช้แล้วทิ้งเหมือนเดิม ดังนั้น หากมีกลไกด้านราคาและภาษีพลาสติกที่สนับสนุนธุรกิจเก็บของเก่าและซาเล้งเก็บพลาสติกก็จะเป็นการปิดลูปได้เพิ่มขึ้นและทำให้มาตรการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคต การออกกฎหมายอย่าง ‘หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต’ (Extended Producer Responsibility – EPR) ในอุตสาหกรรมพลาสติกที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของตน อาทิ มีระบบเรียกคืนขวด หรือแก้วน้ำพลาสติก นั่นก็จะสามารถเป็นอีกหนึ่งกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพได้

สุดท้ายนี้ มาตรการและการปฏิบัติในการยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นเพื่อลดขยะพลาสติกประเภทที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และประเภทใช้แล้วทิ้งที่จะปล่อยสู่ระบบนิเวศนั้นเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ประกอบด้วย เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน อาทิ มาตรการด้านกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ภายใต้กฎหมายและมีบทลงโทษกำหนดชัดเจน มาตรการทางด้านราคาและภาษีที่สามารถนำไปใช้พัฒนาการดำเนินงานต่อ ล้วนจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภครายย่อยเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยรวมของสังคม ตลอดจนทางเลือกต่าง ๆ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในระยะยาว ขณะที่ในฐานะผู้บริโภค การทำความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกและการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากตัวเราก่อนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอมาตรการใด ๆ


[1] กรมควบคุมมลพิษ

[2] สืบค้นจาก https://www.bltbangkok.com/news/30658/

[3] BrandThink

[4] Greennetworkthailand

[5] ที่มา: 5 Facts You May Not Know About Biodegradable Plastics

[6] ที่มา: Analysis of Alternative Bag

[7] ที่มา: Nation Weekend

[8] ที่มา: An analysis of the effectiveness of plastic bag bans

[9] unpckd | the easy way to reduce packaging from your weekly shop

[10] ที่มา: “ธุรกิจขยะ” ใครต้องรับภาระ ในวันที่ต้องเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด ในปี 2565 (thairath.co.th)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น