SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2564 โครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) เผยแพร่ข้อมูล ชี้สถานการณ์ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการและผลกระทบของโควิด-19 คนตกงาน ยากจนขึ้น จนไม่สามารถซื้อหรือเข้าถึงอาหารที่ดีได้ ซ้ำราคาอาหารก็แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลให้การคมนาคม ธนาคาร และการค้าขายต้องกลายเป็นอัมพาตจนไม่มีการเคลื่อนไหวของเงินและอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ซึ่งแนวโน้มราคาอาหารที่ผันผวนและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นสัญญาณของ ‘ความอดอยากที่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้ง’ (conflict-driven famine หรือ conflict-induced hunger) อันเป็นปัญหาร้าวลึกในพื้นที่ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม ที่มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2417 ปี 2561 ก็มองว่าอาหารในมิตินี้เป็นเรื่องของสันติภาพและความมั่นคงด้วย

เฉกเช่นที่สงครามกลางเมืองของซีเรียตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลงมาก และราคาอาหารพุ่งขึ้นกว่าเดิมถึง 236% มีประมาณการว่า 60% ของประชากรชาวซีเรียไม่มีความมั่นคงทางอาหาร สถานการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) ซูดานใต้ และเยเมน

SDG Updates วันนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจความสัมพันธ์และความพัลวันของ ‘ความหิวโหย’ (hunger) และ ‘ความขัดแย้ง’ (conflict) ที่เป็นเหตุและผลของกันและกัน เป็น ‘วงจรอุบาทว์’ (vicious cycle) ของปัญหาที่ซับซ้อน ใช้เวลานานในการแก้ไข ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญของ SDGs พร้อมกับทำความเข้าใจว่า ทำไมโลกถึงไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น


ภาพจาก: WFP

ระบบอาหาร ความขัดแย้ง และสันติภาพ

ความอดอยากและความขัดแย้งเป็นสาเหตุและผลลัพธ์ของกันและกัน การที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลันเป็นตัวเร่งส่งผลกระทบต่อ ‘ระบบการผลิตอาหาร’ จนทำให้ผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ ระบบอาหารซึ่งใช้น้ำในกระบวนการผลิตปริมาณมากก็อาจก่อให้เกิดการแย่งชิงน้ำ การหาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรอาจทำให้มีการแย่งชิงที่ดินทำกินที่เพาะปลูกได้ (arable land) ซึ่งมีจำกัด การที่คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเสมอภาคเพราะต้นทุนสังคมที่ไม่เท่ากันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแย่งชิงอาหาร เป็นต้น จะเห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับ ‘การมีหรือไม่มีอาหาร’

นอกจากนี้ การขาดแคลนอาหารจนทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นอย่างรุนแรงในบางพื้นที่นั้น ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการก่อเหตุความไม่สงบ (unrest) ขึ้นได้ หรือในบางพื้นที่อย่างแถบแอฟริกาเหนือที่มีความขัดแย้งจากปัจจัยอื่นอยู่แล้ว ประเด็นการมีหรือไม่มีอาหารยังสามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองหรือก่อความรุนแรงที่ร้าวลึกขึ้นได้

ในแง่นี้ ความอดอยากกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

ในกรณีนี้ หัวใจสำคัญจึงต้องจัดการที่ ‘ห่วงโซ่ของระบบอาหาร’ ตั้งแต่การผลิต การผ่านกระบวนการ (processed) การขนส่ง การขายและบริโภค เพื่อบรรเทาความหิวโหยให้มี ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ อาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ มีเพียงพอและทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งจะช่วยสร้าง ‘สันติภาพ’ ที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอาหารจะลดลงและเกิดเสถียรภาพขึ้น โดยที่การมีสันติภาพและเสถียรภาพจะหวนกลับมาค้ำจุนระบบอาหารให้เข้มแข็งขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพสำหรับทุกคนต่อไป

กล่าวคือ สันติภาพที่เกิดจากห่วงโซ่ของระบบอาหารจะเป็นภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันความขัดแย้ง

‘การเกษตรรายย่อย’ (small farms) ที่ผลิตอาหารได้มากกว่าครึ่งที่ผลิตทั่วโลก รวมถึงธุรกิจขนาดกลางในท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญของระบบการผลิตอาหาร โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาทั้งที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง เพราะเกษตรกรรายย่อยมีความรู้ความเข้าใจในที่ดินและระบบนิเวศในท้องถิ่น ดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดี และมีวิธีปฏิบัติที่ยั่งยืนเนื่องจากเป็นการผลิตที่เพียงพอต่อการยังชีพและขายเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก การผลิตยังทำให้เกิดความรู้สึกยึดโยงกับที่ดินทำกิน การค้าขายจะกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเชื่อใจ ความผูกพันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชน ทำให้ชุมชนมีสันติภาพและภูมิคุ้มกันต่อความขัดแย้ง

และดังนั้นจึงต้องให้ความใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกรผู้ผลิตอาหารด้วย ในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ปัจจัยนำเข้าทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ราคาตลาดและกฎระเบียบที่มีผลต่อรายได้ของเกษตรกร บทบาทของชนพื้นเมืองและผู้หญิง ไปจนถึงการฝึกอบรมและการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติต่าง ๆ อาทิ อากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ที่กระทบกับผลผลิตทางการเกษตรและการมีหรือไม่มีอาหารดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ความขัดแย้งและผลกระทบที่มีต่อระบบอาหารและความมั่นคงทางอาหาร

ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์และนิกายศาสนา ตลอดจนความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ความรุนแรง การไร้เสถียรภาพและความวุ่นวายทางการเมือง (political turmoil) ในบางประเทศ จะเป็นสาเหตุหลักที่ผลักและบังคับให้คนพลัดถิ่นจากบ้าน จากที่ดินในการทำมาหากินและอาชีพ จนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นทั้งน้ำ อาหาร และไฟฟ้า ไปพร้อมกับที่ทำลายเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคน ชุมชน และสังคมโดยรวมแล้ว ในนามของ ‘ความขัดแย้ง’ นี้ยังเพาะเลี้ยง ‘ความหิวโหยและความอดอยาก’ ด้วย เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทำให้สินค้าทางการเกษตร พื้นที่ทางการเกษตรและคลังอาหารอาจถูกทำลายโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาเกษตรกรรมและการผลิตอาหารตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น กระทบกับการค้าขาย ตลาดอาหารปั่นป่วนหรือหยุดชะงัก กล่าวคือกระทบต่อปากท้อง การมีและเข้าถึงอาหาร รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร ลุกลามเป็น ‘วิกฤติอาหาร’

โดยปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 800 ล้านคนที่อยู่กับความหิวโหย และ 88 ล้านคนทั่วโลกที่ทุกข์ทรมานกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างร้ายแรงนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ โดย UN คาดว่าในปี 2564 ประเด็นนี้จะร้ายแรงขึ้น เป็นความห่วงกังวลอีกประการหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน

การแก้ปัญหาที่พัลวันเป็นวงจรต้องอาศัยการพัฒนาระยะยาว

ระบบอาหารทำให้เกิดความขัดแย้ง อาหารอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง ขณะที่ความขัดแย้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบอาหารและปากท้องของคน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกหนเป็นวงจรอุบาทว์และอาจต่อเนื่องเป็นความขัดแย้งระยะยาว (longer-running conflicts)

การแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อตอบโต้เฉพาะหน้าต่อวิกฤตการณ์นั้นจึงไม่อาจเพียงพอ การลงทุนเพื่อการพัฒนาระยะยาวเป็นหัวใจสำคัญที่จะหยุดวงจรอุบาทว์ของความหิวโหยและความขัดแย้งได้ เช่นที่โคลอมเบีย มีการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเงินทุนและจัดการฝึกอบรม ซึ่งช่วยเพิ่มการผลิตทางการเกษตรและโอกาสงานในชนบท ทำให้คนหนุ่มสาวมีงานทำแทนที่จะเลือกก่อเหตุความรุนแรง หรืออย่างในซูดานตะวันตก การมีจุดบำบัดน้ำและจัดการน้ำได้ช่วยลดความตึงเครียดเรื่องน้ำระหว่างกลุ่มชนคนเร่ร่อน (pastoralists) เป็นต้น

หุ้นส่วนความร่วมมือเข้ามาช่วยยุติความขัดแย้งได้อย่างไร ?

ไม่ว่าความขัดแย้งจะเกิดจากสาเหตุใด การหาทางออกจำเป็นต้องใช้ ‘ฉันทามติทางการเมือง’ เพื่อระงับเหตุของความขัดแย้ง ยุติความขัดแย้งและความรุนแรง รวมถึงให้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพ

WFP ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2563 ในฐานะองค์การด้านมนุษยธรรมที่ป้องกันไม่ให้ความหิวโหยเป็นเครื่องมือก่อความขัดแย้งและสงคราม ชี้ว่าอย่างน้อยที่สุดคือทุกฝ่ายมีฉันทามติอนุญาตให้ความช่วยเหลือและหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศหรือที่ไม่ใช่ภาครัฐที่มีภารกิจด้านมนุษยธรรม สามารถ ‘แทรกแซงทางมนุษยธรรม’ ได้ โดยเฉพาะการขนส่งอาหารให้กับกลุ่มคนที่เปราะบางหรือพลัดถิ่นในพื้นที่ของความขัดแย้ง ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากเพียงใด

โดย WFP มองว่าการต่อสู้กับความหิวโหย การป้องกันการใช้ความหิวโหยเป็นเครื่องมือก่อสงคราม การยุติความขัดแย้ง รวมทั้งการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

เพราะโลกจะไม่สามารถบรรเทาหรือยุติความหิวโหยตาม #SDG2 ได้หากไม่คำนึงถึงและเสริมสร้าง #SDG16 ให้เข้มแข็งไปพร้อมกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีที่กล่าวถึงการเข้าถึงอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ ผลิตภาพและรายได้ของเกษตรกร การเข้าถึงการถือครองที่ดิน ความรู้ด้านการเกษตร การเข้าถึงการเงินและตลาด การกำจัดความผันผวนของราคาอาหาร
#SDG8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ การมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข มีส่วนร่วม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุม ซึ่งมีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน การลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตรการตาย ความร่วมมือเพื่อการป้องกันความรุนแรง การต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง:
Breaking the vicious circle of hunger and conflict
‘If you don’t feed people, you feed conflict’, UN chief tells Security Council
Nobel Peace Prize spotlights the links between hunger and conflict
Hunger Is a Weapon of War. Food Can Help Prevent It.
Food and fuel prices soar in Myanmar as coup exacerbates Covid-19 crisis

Last Updated on เมษายน 1, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น