นับถอยหลัง HLPF 2021 – มีอะไรในรายงาน VNR ของประเทศไทย

– นับถอยหลังสู่การประชุม ‘HLPF 2021’ หมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความเข้าใจก่อนวันประชุมจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 เราจึงชวนมารู้จักว่าการประชุม HLPF คืออะไร สำคัญอย่างไร ความเกี่ยวข้องของไทยกับเวที ดังกล่าว รวมถึงว่าประชาคมโลกเขาพูดเรื่องอะไรกันจนถึงปัจจุบันนี้ –

HLPF 2021 – 05 – มีอะไรในรายงาน VNR ของประเทศไทย

ตามที่ได้เสนอไปใน นับถอยหลัง HLPF 2021 – HLPF ที่ผ่านมา คุยอะไรกันบ้าง ? ในปีนี้ ไทยจะเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ หรือ VNR อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม HLPF โดยปีนี้จะเป็นการรายงาน VNR ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย

แม้ว่าไทยจะไม่ต้องนำเสนอรายงาน VNR อย่างเป็นทางการทุกปี แต่ประเทศไทย (โดยกระทรวงการต่างประเทศ) ได้จัดทำรายงาน VNR เพื่อทบทวนการดำเนินงานในระดับประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยในวันนี้ ลองมาทบทวนอีกครั้งว่าในบางส่วนของรายงาน VNR แต่ละปี มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

รายงาน VNR ประจำปี 2560 (2017)

  • ปี 2560 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยจัดทำรายงาน VNR และมีโอกาสได้เป็น 1 ใน 44 ประเทศที่ได้นำเสนอในการประชุม HLPF 2017 โดยมีสาระครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น
    • ความคืบหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย อาทิ การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความก้าวหน้าในด้านบริการสาธารณสุข การดำเนินนโยบายประชารัฐที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
    • กลไกการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติ อาทิ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
    • แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามยุทธศาสตร์ SEP for SDGs Partnership 
  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงาน VNR และมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชน และนายพชรพล พรหมทัต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนเยาวชนไทยขึ้นกล่าวรายงานด้วย

รายงาน VNR ประจำปี 2561 (2018)

  • รายงาน VNR ประจำปี 2561 มีธีมหลักในการจัดทำ คือ การนำ SDGs ไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ (Localizing SDGs) และการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม (Stakeholder Engagement) ดังนั้น ในแต่ละบทจะเน้นนำเสนอประสบการณ์การขับเคลื่อนแต่ละเป้าหมายในปี 2561 ของหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามสองธีมนี้
  • VNR ประจำปี 2561 ของไทยเป็นเหมือนภาคต่อหลังการนำเสนอ VNR ฉบับแรกในการประชุมเมื่อปี 2561 โดยมีเนื้อหาครอบคุลมรายละเอียดความก้าวหน้าของ SDG แต่ละเป้าหมาย และเน้นที่ SDG6, SDG7, SDG11, SDG12, SDG15, และ SDG17 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีการทบทวนเชิงลึกในการประชุม HLPF 2018
  • รายงานฉบับนี้ได้ระบุความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs พร้อมแผนสร้างความก้าวหน้า ในประเด็นเหล่านี้
    • การสร้างความตระหนักรู้เรื่อง SDGs ในหมู่เยาวชน
    • การเชื่อมโยงข้ามเป้าหมายฯ และตัวชี้วัด
    • การเก็บข้อมูลและสภิติ

รายงาน VNR ประจำปี 2562 (2019)

  • รายงาน VNR ประจำปี 2562 มีธีมหลักในการจัดทำ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (Community Empowerment) เพื่อสะท้อนหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยที่ยึดแนวทางการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเข้มแข็งจากรากฐาน และตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชน
  • VNR ปีนี้ได้นำเสนอความก้าวหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • รางาน VNR ปีนี้ เป็นฉบับแรกที่มีเวอร์ชันเสียงอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้พิการทางสายตา

รายงาน VNR ประจำปี 2563 (2020)

  • รายงาน VNR ประจำปี 2563 มีธีมหลักในการจัดทำ คือ งานอาสาสมัครกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Voluteerism for the SDGs) เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของบทบาทอาสาสมัคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองการขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะมีการทำงานที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง เข้าถึงผู้ด้อยโอกาสโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีศักยภาพในการสร้างพลังร่วมในชุมชน
  • นำเสนอความก้าวหน้าที่สำคัญในการผนวก SDGs ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

รายงาน VNR ประจำปี 2564 (2021)

  • ปี 2564 จะเป็นปีที่สองที่ประเทศไทยได้ขึ้นเสนอรายงาน VNR อย่างเป็นทางการในที่ประชุม HLPF 2021
  • รายงาน VNR ประจำปี 2564 จะเป็นการรายงานความก้าวหน้าต่อยอดจากรายงาน VNRs ในช่วงปี 2561-2562 ที่ไม่ได้มีการนำเสนออย่างเป็นทางการ ตลอดจนการวิเคราะห์ความท้าทายที่ยังหลงเหลืออยู่และการบริหารจัดการประเทศในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19
  • จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย อาทิ ความสำเร็จในการขจัดความยากจนสุดขีด การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) การจัดทำ TPMAP หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า เพื่อระบุกลุ่มคนที่เปราะบาง โครงการบ้านมั่นคง และยังคงขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • ประเทศไทยจะนำเสนอรายงาน VNR ประจำปี 2564 ในที่ประชุม HLPF ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นี้

* ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึง รายงาน VNRs ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่ SEP4SDGs

นอกจากนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ในภาควิชาการด้วยการจัดตั้ง Sustainable Development Solutions Network (SDSN) หรือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งนำโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้ปรากฏอยู่ในรายงาน VNR ประจำปี 2564 นี้ด้วย

ติตตามข่าวสาร HLPF 2021 ได้ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
และ VNRs ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs/
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/?tag=hlpf และ https://www.sdgmove.com/tag/vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
SEP4SDGs

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น