SDG Vocab | 39 – Material Footprint (MF) – รอยเท้าวัสดุ

รอยเท้าวัสดุ หรือ Material Footprint (MF) เป็นการประเมินการใช้ทรัพยากร/วัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่ถูกนำมาสกัดใช้เพื่อตอบสนองต่อระดับความต้องการขั้นสุดท้าย หรือ ‘ความต้องการบริโภค’ ภายในประเทศ โดยรอยเท้าวัสดุทั้งหมด (total material footprint) คือผลรวมของรอยเท้าวัสดุจากชีวมวล (biomass) เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuels) รวมถึงแร่โลหะและอโลหะ

รอยเท้าวัสดุมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัววัดว่าการบริหารจัดการนั้นมีความยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติมีประสิทธิภาพหรือไม่ พูดอีกอย่างคือ การผลิตและการบริโภคของคนเป็นส่วนที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยิ่ง เพราะการที่เรามีความต้องการมากหรือน้อยย่อมส่งผลต่อการเกิดรอยเท้าวัสดุหรือแรงกดดันต่อทรัพยากร และส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งหมดในภาพรวม เช่นในอดีตเมื่อปี 2560 ที่ความต้องการใช้วัสดุของคนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น 17.4% หรือ 85.9 พันล้านเมตริกตัน เมื่อเทียบกับปี 2553

อนึ่ง รอยเท้าวัสดุสัมพันธ์กับการนำทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมมาใช้สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิด ‘การแยกระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม’ (decoupling) กล่าวคือ การพัฒนาควรจะลดแรงกดดันที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง พร้อมกับใช้ทรัพยากรหรือพลังงานน้อยลงสำหรับการผลิต ในขณะเดียวกันนั้น ก็คำนึงถึงว่าให้การผลิตมีประสิทธิภาพขึ้นหรือเศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น (Absolute decoupling) ซึ่งเป็นที่คาดหวังของการพัฒนาระยะยาวในปัจจุบันนี้ จากเดิมที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจบั่นทอนหรือทำลายสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่น่ากังวลใจ

และเพื่อให้เราสามารถมองภาพรวมของการบริโภค การผลิต และสภาพเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุม เราจะมองรอยเท้าวัสดุร่วมกับ ‘การบริโภควัสดุภายในประเทศ’ (Domestic Material Consumption – DMC) ซึ่งเป็นการชี้ปริมาณของวัสดุที่แท้จริงที่ใช้ในเศรษฐกิจ เช่นว่า ภายในประเทศนั้น ๆ อาจมีปริมาณการใช้วัสดุจำนวนมากเพราะมีภาคส่วนที่เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก หรือ ภายในประเทศนั้น ๆ อาจมีปริมาณการใช้วัสดุที่น้อย เพราะให้ประเทศอื่นเป็นส่วนที่จัดการในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (outsource)

ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อผนวกรวมกับเป้าประสงค์อื่นตลอดทั้ง #SDG12 เราจะเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ ต้องมาจากการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ การคำนึงถึงวงจรชีวิตการใช้งานของวัสดุหนึ่ง ๆ การคำนึงถึงรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในฐานะผู้ผลิตและฐานะผู้บริโภค ตลอดจนความร่วมมือ/ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งขันด้วย

‘รอยเท้าวัสดุ’ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดซึ่งปรากฏอยู่ใน ‘#SDG12 – (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573’

Target 12.2: By 2030, achieve the sustainable management and efficient use of natural resources


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
indicator 12.2.1 (UN SDG Indicator Metadata)
Goal 12 Why it matters? (UN)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น