สภาพของชุมชนด้อยโอกาสส่งผลให้สุขภาพสมองของผู้อยู่อาศัยเสื่อมลงเร็วกว่าผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่มีความเป็นอยู่ดีกว่า

การศึกษาจาก American Academy of Neurology เผยแพร่ใน Neurology พบว่า จากการแสกนสมองและทดสอบระดับความสามารถทางปัญญา (cognitive tests) ในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในละแวกชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ด้อยโอกาส (disadvantaged areas) หรือมีระดับความยากจนสูงและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาและการทำงานได้ มักจะมีสุขภาพสมองที่ย่ำแย่ หดตัว (brain shrinkage) ฝ่อลง หรือเรียกได้ว่า ‘สมองแก่ลง’ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกเริ่ม นอกจากนี้ ระดับความสามารถทางปัญญายังถดถอยลงเร็วกว่าคนที่อยู่อาศัยในละแวกที่มีปัญหา ‘ความด้อยโอกาส’ น้อยกว่าหรือชุมชนที่มีความเป็นอยู่ดีกว่าด้วย

หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย Wisconsin School of Medicine and Public Health ใน แมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐฯ ระบุว่า เพราะภาวะสมองเสื่อมเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่มีการรักษา ดังนั้น การที่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงของโรคได้จึงสำคัญมาก โดยต้องไปสำรวจดูเงื่อนไขทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทางกายภาพ เพราะล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนั้น การศึกษานี้จึงมุ่งศึกษาเงื่อนไขสภาพละแวกเพื่อนบ้านและชุมชนว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสื่อมของเซลล์ในสมองและความสามารถทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมระยะแรกหรือไม่

โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้อยู่อาศัยในรัฐวิสคอนซิน 601 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 59 ปี และยังไม่พบว่ามีปัญหาทางการคิดหรือความทรงจำในช่วงแรกของการศึกษา จากนั้น ผู้เข้าร่วมจะผ่านการแสกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain scan) และมีการแสกนสมองเพิ่มเติมในทุก ๆ 3 – 5 ปี ให้นักวิจัยได้ตรวจวัดความเชื่อมโยงของสุขภาพสมองกับความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปสู่โรคภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ในแต่ละครั้งที่มีการแสกนสมอง พร้อมกับที่มีการทดสอบความคิดและความจำในทุก ๆ 2 ปี เพื่อดูสุขภาพสมองทั้งมิติความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และการสั่งการ

นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาดัชนีชี้วัดที่มีข้อมูลด้านเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ รายได้ การจ้างงาน การศึกษา และคุณภาพของที่อยู่อาศัย นำมาระบุชี้ว่าละแวกชุมชนใดที่เข้าข่ายเป็น advantaged หรือ disadvantaged กล่าวคือ อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกับที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้ มี 19 คนที่อยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส และ 582 คนที่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ แล้วจึงนำกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบกันทั้งด้านเชื้อชาติ เพศ อายุ และระดับการศึกษา

แม้ในตอนแรกของการศึกษา สุขภาพสมองของคนทั้งสองกลุ่มจะไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในท้ายที่สุด ทีมผู้วิจัยพบว่าความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพสมองกับสัญญาณภาวะสมองเสื่อมระยะแรกเริ่มนั้นอยู่กระจุกตัวในกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้อยโอกาส เช่นเดียวกับระดับความเสื่อมถอยของความสามารถทางสติปัญญาที่สูงขึ้นด้วย

ทีมผู้วิจัยมองว่า ข้อค้นพบนี้สำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การระบุชี้ถึงสาเหตุของภาวะโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มประชากรที่เปราะบาง นอกจากนั้น พื้นที่อยู่อาศัยที่ด้อยโอกาสดังกล่าวอาจจะเป็นพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศและการที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและบริการสาธารณสุข ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพสมองด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อนำมาสู่มาตรการป้องกันและการแทรกแซงทางการแพทย์ในโรคดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยที่ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดินให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ อาทิ ในเรื่องการลดความเสี่ยง
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค
ทั้งนี้ ในด้านปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ยังเกี่ยวกับกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความยากจนและเปราะบางใน #SDG1 อาหารและโภชนาการที่ดีใน #SDG2 การศึกษาที่มีคุณภาพใน#SDG4 งานที่มีคุณค่าใน#SDG8 และที่อยู่อาศัยที่พอเพียง ปลอดภัย ลดชุมชนแออัดใน#SDG11 เป็นต้น

แหล่งที่มา:
YOUR NEIGHBORHOOD MAY AFFECT YOUR BRAIN HEALTH (American Academy of Neurology)

Last Updated on สิงหาคม 11, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น