World Data Lab พบว่าคนราว 1.1 พันล้านคน มี ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Poverty)

World Data Lab (WDL) พัฒนากรอบการวัดระดับโลกว่าด้วย ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Poverty) เพื่อวัดจำนวนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยกำหนด เกณฑ์ความยากจนทางอินเทอร์เน็ตไว้คือ ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อแพ็กเกจการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่ตั้งไว้ที่ 1.5 กิกะไบต์ (GB) ต่อเดือน และที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดขั้นต่ำ 3 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งเท่ากับการใช้เวลา 6 วินาทีในการเรียกเข้าหน้าเว็บไซต์

การกำหนดมาตรฐานปริมาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 1.5 GB ต่อเดือนด้วยความเร็ว 3 Mbps ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกดูหน้าเว็บไซต์ เช็กอีเมล์ และซื้อของออนไลน์ง่าย ๆ ได้เป็นเวลา 40 นาทีต่อวัน ซึ่งเป็นเพียง “ความต้องการขั้นพื้นฐาน” ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเท่านั้น นอกจากนี้ กรอบการวัดของ World Data Lab ได้กำหนดความสามารถในการซื้อหา/จ่ายค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตได้ไว้ที่ เป็นเงิน 10% หรือน้อยกว่าการใช้จ่ายทั้งหมดของบุคคล โดยค่าบริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตพื้นฐานบนมือถือเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 0.50 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณไม่เกิน 2 บาทต่อวัน) และด้วยนิยามนี้ทำให้มีผู้คนราว 1.1 พันล้านคน ยังอยู่ใน ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Poverty)

ที่มา : World Data Lab (WDL)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระบุว่าประชากรเกือบทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศรายได้สูงสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แม้ว่าจะมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม ซึ่งตรงกันข้ามกับในประเทศยากจน ที่ราคาที่เหมาะสมจะมีบทบาทสำคัญสำหรับการมีอินเทอร์เน็ตใช้หรือไม่

World Data Lab ยังพบอีกว่าในประเทศยากจนที่มีอินเทอร์เน็ตราคาถูก (ต่ำกว่า 15 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 500 บาทต่อเดือน) จะมีสัดส่วนประชากรที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้มากกว่าประเทศยากจนที่มีอินเทอร์เน็ตราคาแพง โดยมีประชากรในประเทศยากจนที่มีอินเทอร์เน็ตราคาถูกเพียง 13% ที่อยู่ในความยากจนทางอินเทอร์เน็ต ในขณะที่มีประชากรในประเทศยากจนที่มีอินเทอร์เน็ตราคาแพงถึง 67% ที่อยู่ในความยากจนทางอินเทอร์เน็ต

อีกทั้ง ราคาสำหรับแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตนั้นแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศและไม่สัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวประชากร ผู้อาศัยในสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินเกือบสองเท่าสำหรับแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตเดียวกันกับที่ใช้ในฟิลิปปินส์ คนในมาลาวีต้องจ่ายค่าแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตพื้นฐานเป็นสามเท่าของคนในโมซัมบิก แม้ทั้งสองประเทศจะมีรายได้ต่อหัวประชากรเท่ากัน ในบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อินเดียเป็นประเทศยากจนที่มีราคาอินเทอร์เน็ตต่ำทำให้มีอัตราความยากจนทางอินเทอร์เน็ตอยู่เพียงแค่ 8% เท่านั้น ต่างกับมาลาวี เวเนซุเอลา และมาดากัสการ์ที่มีราคาแพ็เกจอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกก็ตาม

ปัจจุบันมีผู้คนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วถึงประมาณ 4.5 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่มีเพียงประมาณ 500 ล้านคน เนื่องจากราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วจึงทำให้มีผู้ใช้งานมากขึ้น ดังนั้น หากต้องการยุติความยากจนทางอินเทอร์เน็ต ประชากรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือราคาอินเทอร์เน็ตต้องลดลง ทุกประเทศจะต้องสนับสนุนการแข่งขันและนวัตกรรมเพื่อให้ราคาอินเทอร์เน็ตลดลงถึงระดับของอินเดีย ก็จะทำให้ความยากจนทางอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ในปัจจุบันลดลงได้มากกว่าครึ่ง

#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
(9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารและจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(17.6) เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับการแบ่งปันความรู้ตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาการประสานงานระหว่างกลไกที่มีอยู่เดิมเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสหประชาชาติ และผ่านทางกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีของโลก

ที่มา : Measuring Internet Poverty (Brookings)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น