การศึกษาใหม่รายงานว่า ภาวะความดันโลหิตสูง พบได้มากขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต เป็นต้น

การศึกษา ‘Worldwide trends in hypertension prevalence and progress in treatment and control from 1990 to 2019: a pooled analysis of 1,201 population-representative studies with 104 million participants’ ซึ่งนำโดย Imperial College London ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา 1,201 ฉบับ และข้อมูลการวัดความดันโลหิตและข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาความดันโลหิตจากผู้เข้าร่วมงานวิจัย 104 ล้านคน ที่มีอายุระหว่าง 30-79 ปี ใน 184 ประเทศในปี 2019 พบว่า 82% ของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือประมาณหนึ่งพันล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

อัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงลดลงในประเทศรายได้ได้สูง โดยในปี 2019 แคนาดา เปรู และสวิตเซอร์แลนด์มีความชุกของโรคความดันโลหิตสูงต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ผู้หญิงในจาไมก้าและปารากวัย และผู้ชายในฮังการี ปารากวัย และโปแลนด์มีความชุกของโรคความดันโลหิตสูงสูงที่สุด

แม้ว่าการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงจะสามารถทำได้ง่ายและยารักษาที่ใช้ก็มีราคาไม่สูง แต่ผลการศึกษาฉบับนี้ได้เผยให้เห็นช่องว่างที่สำคัญในการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 580 ล้านคน (ผู้หญิง 41% และผู้ชาย 51%) ไม่ทราบว่าตนเองมีเงื่อนไขทางร่างกายเพราะไม่เคยได้รับการวินิจฉัย และประมาณ 720 ล้านคน หรือ ครึ่งหนึ่งของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ไม่ได้รับการรักษาอย่างที่ควร

ในแคนาดา ไอซ์แลนด์ และเกาหลีใต้ ทั้งหญิงและชายมากกว่า 70% ได้รับยาเพื่อรักษาและควบคุมความดันโลหิตสูง ในขณะที่ทั้งชายและหญิงในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา เอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมีแนวโน้มได้รับยาน้อยที่สุด

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในปี 2019 ทั่วโลก อยู่ที่ 1.28 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากในปี 1990 ที่มีจำนวน 650 ล้านคน รายงานระบุว่า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของประชากรและการมีประชากรสูงวัยมากขึ้น โดยที่เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นตั้งแต่ปี 1990

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
- (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573

ที่มา :
High blood pressure now more common in low and middle-income countries, new report finds (UN News)
More than 700 million people with untreated hypertension (WHO)

Last Updated on กันยายน 2, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น