รายงานภาครัฐโลก 2564 ประเมินโครงสร้างและกลไกเชิงสถาบันของชาติ 24 ประเทศ หลังจากรับ SDGs มาปฏิบัติได้ 5 ปีแล้ว

รายงานภาครัฐโลก 2564 (World Public Sector Report 2021) จัดทำโดย Division for Public Institutions and Digital Government ภายใต้สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs – DESA) เผยผลลัพธ์โดยเฉพาะประเด็นหลักอย่างธรรมาภิบาล (governance) จากการศึกษาและติดตามข้อมูลเชิงลึกในกลุ่มประเทศตัวอย่าง 24 ประเทศจากทุกภูมิภาค ว่ามีการปรับปรุงหรือออกแบบโครงสร้างและกลไกเชิงสถาบันของชาติ (institution arrangements) ตลอดจนนำเป้าหมาย SDGs ไปปฏิบัติ (implementation) อย่างไร เมื่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เป็นกรอบวาระการพัฒนาระดับโลกมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว

ตลอดจนยังได้ให้ข้อเสนอแนะและบทเรียนสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้วย

เข้าถึงรายงานได้ ที่นี่

นอกจากรายงานได้นำเสนอผลกระทบของการระบาดจากโควิด-19 ที่มีต่อสถาบันของชาติ อาทิ ในการกำหนดนโยบาย การให้บริการขั้นพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมาย และระบบยุติธรรม และผลที่มีต่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือในทางกลับกัน เป็นห้วงเวลาที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญยิ่งของรัฐบาล สถาบันและหน่วยงานภาครัฐ กับความสามารถที่จะจัดการและรับมือกับวิกฤติไม่ว่าจะโดยการสื่อสาร การเป็นรัฐบาลดิจิทัล หรือการกำหนดนโยบายที่คำนึงมิติด้านวิทยาศาสตร์แล้ว

หลัก ๆ รายงานเน้นไปที่การสำรวจ 3 มิติสำคัญของภาครัฐ ได้แก่ 1) การปรับปรุง/ออกแบบโครงสร้างและกลไกเชิงสถาบันของชาติ หลังจากที่ชุมชนโลกนำเสนอวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี 2558 2) พัฒนาการการดำเนินงาน จุดแข็ง และจุดอ่อนของระบบการติดตามและทบทวน SDGs และ 3) ความพยายามของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการนำ SDG ไปปฏิบัติ

โดยจุดสำคัญมีที่ระบุว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน/เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs 2030 เป็นกรอบการพัฒนาระดับโลกที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ให้คุณค่าสูงในเชิงความมุ่งมั่นทางการเมืองและวาระนโยบายระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่การที่นานาประเทศส่วนใหญ่ปรับตัว ออกแบบโครงสร้างและกลไกเชิงสถาบันของชาติให้พร้อมสำหรับการถ่าย SDGs สู่การปฏิบัติ

ทั้งนี้ ผลสรุปโดยสังเขป ระบุว่า

01 – จุดเข้ากระทำ (entry points – จุดตั้งต้นเพื่อดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง)

ปริมาณจุดเข้ากระทำโดยผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ มีเพิ่มมากขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นสัญญาณที่สะท้อนความแข็งขันและเข้มแข็งในการออกแบบโครงสร้างและกลไกเชิงสถาบัน

02 – รายงาน VNRs

  • รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews – VNRs) เป็นตัวเร่งให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็น SDGs มากยิ่งขึ้น รวมถึงในประเทศที่การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการตัดสินใจอาจไม่ใช่แบบแผนตามปกติที่ทำกัน
  • ขณะเดียวกัน ประเทศที่เตรียมการสำหรับการรายงาน VNRs ย่อมมีการตรวจสอบการดำเนินการที่สอดคล้องกับ SDGs มากขึ้น ขณะเดียวกับที่ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเข้ามามีส่วนรวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีนัยสำคัญต่อกระบวนการติตตามและทบทวนการดำเนินการ/การนำ SDGs ไปปฏิบัติด้วย

03 – การทำให้ SDG เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ (SDG localization)

ในบางบริบท ความพยายามทำให้ SDGs เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ได้เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปแบบของการทบทวนการดำเนินงานในระดับพื้นที่โดยสมัครใจ (Voluntary Local Reviews -VLRs)

04 – ฝ่ายนิติบัญญัติ – ฝ่ายบริหาร

ในหลาย ๆ ประเทศ รัฐสภายังไม่สามารถแสดงบทบาทการกำกับดูแลการดำเนินการของรัฐบาลในการนำ SDGs ไปปฏิบัติได้

05 – ข้อมูลตัวชี้วัดระดับโลก – ข้อมูลตัวชี้วัดระดับชาติ

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของระบบการติดตามและทบทวน SDGs ของประเทศส่วนใหญ่ ที่จัดให้มีการกำหนดตัวชี้วัดระดับชาติบนฐานของกรอบตัวชี้วัดระดับโลกตาม SDG อย่างไรก็ดี รายงานฯ สนับสนุนให้แต่ละประเทศดำเนินการระบุรายละเอียด อาทิ ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการวัดค่า (baseline) และเกณฑ์มาตรฐาน (benchmarks) ต่อไป

06 – การเสริมสร้างขีดความสามารถ

  • แม้นานาประเทศจะมีความพยายาม แต่น้อยประเทศที่จะทำการประเมินขีดความสามารถของตน (รัฐบาลและภาครัฐ) อย่างครบถ้วนทุกหน่วยงานและรอบด้านในทุกมิติ
  • รายงานฯ แนะนำว่ายุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถที่ดี จะต้องมีแนวทาง (guidance / guidelines) ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการปฏิบัติตามหน้าที่ในแต่ละวัน

อย่างไรก็ดี ปัญหาคอขวดเชิงโครงสร้างเป็นหนึ่งข้ออุปสรรคที่รายงานระบุว่าภาครัฐจะต้องมีการปรับปรุง ตลอดจนในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับใช้ในการติดตามและทบทวน SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม โปร่งใส มีความครอบคลุม
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ-(16.7) หลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
-(16.10) หลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงประเด็นการเสริมสร้างขีดความสามารถ และความสอดคล้องเชิงนโยบาย
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
-(17.18) ในด้านการเพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทางร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563 – Disaggregated Data – ข้อมูลที่มีการจำแนก

แหล่งที่มา:
UN Report Assesses How Far National Institutions Have Gone for SDGs (IISD)
World Public Sector Report 2021 (publicadministration.un)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น