นับถอยหลัง HLPF 2021 – รายงาน VNR คืออะไร ?

– นับถอยหลังสู่การประชุม ‘HLPF 2021’ หมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความเข้าใจก่อนวันประชุมจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 เราจึงชวนมารู้จักว่าการประชุม HLPF คืออะไร สำคัญอย่างไร ความเกี่ยวข้องของไทยกับเวที ดังกล่าว รวมถึงว่าประชาคมโลกเขาพูดเรื่องอะไรกันจนถึงปัจจุบันนี้ –

HLPF 2021 – 03 – รายงาน VNR คืออะไร?

กิจกรรมที่เป็นที่จับตามองทุกปีในการประชุม HLPF แต่ละครั้ง คือ เมื่อตัวแทนประเทศสมาชิกขึ้นรายงาน VNR ต่อที่ประชุม

‘รายงาน VNR’ (Voluntary National Review) หรือ รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ’ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการติดตามและทบทวนวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศสมาชิกที่ทั่วโลกจะได้เห็นเป็นรูปธรรม การนำเสนอรายงาน VNR เปิดพื้นที่ให้แต่ละประเทศได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเพื่อบรรลุ SDGs ซึ่งมาจากกระบวนการทบทวนเชิงลึกทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น โดยจะนำเสนอทั้งความสำเร็จ ความท้าทาย บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน เพื่อเร่งให้ทุกประเทศดำเนินการตาม SDGs ให้สำเร็จลุล่วงทันในปีพ.ศ. 2573 นี้

ใครเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำ VNR ? – การจัดทำ VNR เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ไม่ได้มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล กระบวนการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องให้กลุ่มหลักและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงทุกภาคส่วนและทุกระดับของรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสถาบันทางสังคมอื่นๆ โดยวิธีการที่จะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างไรนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

มีอะไรในรายงาน VNR ? – ขอบเขตของรายงาน VNR ควรครอบคลุมการดำเนินการโดยคำนึงถึงบริบทของประเทศและท้องถิ่นให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติได้อัปเดต Voluntary common reporting guidelines for voluntary national reviews at HLPF เมื่อปีพ.ศ. 2562 ได้เสนอแนวทางในการจัดทำ VNR ที่จะช่วยสะท้อนการดำเนินการในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลกให้ชัดขึ้น โดยเนื้อหาจะต้องมีการอภิปรายในส่วนที่สำคัญ ดังนี้

  • นโยบายและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการดำเนินงาน
    • การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมในการดำเนินการตาม SDGs และ การจัดทำ VNRs
    • การผสานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบการทำงานระดับชาติ
    • การออกแบบและดำเนินการนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สะท้อนการบูรณาการมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วย
    • การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อยู่บนหลักการ ‘ไม่ทิ้งใครไม่ข้างหลัง’
    • การปรับกรอบโครงสร้างสถาบันให้เป็นไปในทางเดียวกับวาระการพัฒนา 2030
    • ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องหรืออุปสรรคที่ต้องเผชิญในการดำเนินงานตามวาระการพัฒนา 2030
  • ความก้าวหน้าของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย และเป้าประสงค์
  • การดำเนินงานตามแนวทางบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่มีการเสนอแนะไว้ในวาระการพัฒนา 2030

ใครเป็นผู้นำเสนอ VNR ในที่ประชุม HLPF ? – ในการกล่าวเปิดการนำเสนอรายงาน VNR ในที่ประชุมเริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเทียบเท่าระดับรัฐมนตรี ในการประชุม HLPF ที่ผ่านมา บางประเทศให้ตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ ร่วมเป็นผู้นำเสนอด้วย หลังการนำเสนอ ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้กลุ่มหลักและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อซักถามตัวแทนประเทศต่างๆ ด้วย

โดยประเทศที่นำเสนอ VNR เป็นครั้งแรกจะมีเวลา 15 นาทีสำหรับการนำเสนอ และ 15 นาทีสำหรับการตอบคำถามจากประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับประเทศที่เคยนำเสนอแล้วในเวทีปีก่อนหน้า จะมีเวลา 10 นาทีสำหรับการนำเสนอ และ 10 นาทีสำหรับช่วงตอบคำถาม

แม้ว่า VNR จะเป็นการทบทวนการดำเนินการโดย ‘สมัครใจ’ แต่หลายประเทศก็มีความกระตือรือร้นในการจัดทำและนำเสนอเพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นความมุ่งมั่นและความพยายามมีส่วนร่วมในระดับเวทีโลก นอกจากการนำเสนอ VNR ในเวที HLPF จะเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละประเทศจะช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกในการทำงานระหว่างกันแล้ว ก็ยังเป็นการส่งสัญญานและส่งแรงกระตุ้นให้แต่ละประเทศเร่งมือและนำเสนอผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมในแต่ละปี เพื่อไม่ให้เป็นประเทศตกขบวนบนเส้นทางการขับเคลื่อนนี้

อ่าน – รายงานการสังเคราะห์การนำเสนอ VNRs ประจำปี 2020 ได้ที่นี่

ติตตามข่าวสาร HLPF 2021 ได้ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
และ VNRs ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs/
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/?tag=hlpf และ https://www.sdgmove.com/tag/vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น