นโยบายใหม่ของรัฐบาลอังกฤษ กำหนดให้ต้องเติมกรดโฟลิกในแป้งสาลีขัดสี เพื่อลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด

รัฐบาลสหราชอาณาจักร ประกาศนโยบายใหม่ที่กำหนดให้โรงงานผลิตแป้งต้องเติมกรดโฟลิก (folic acid) ลงไปในแป้งสาลีขัดสี ซึ่งเป็นแป้งที่นิยมบริโภคมากที่สุดในประเทศ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของท่อระบบประสาททารก (neural tube defects) อันเนื่องมาจากการขาดกรดโฟลิกระหว่างอยู่ในครรภ์

กรดโฟลิกเป็นวิตามินโฟเลตที่พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ กรดโฟลิกมีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกในครรภ์ แพทย์จึงแนะนำให้สตรีมีครรภ์รับประทานอาหารเสริมที่มีกรดโฟลิกเร็วที่สุดเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์หรือตั้งแต่วางแผนตั้งครรภ์ แต่ในสถานการณ์จริง การตั้งครรรภ์ประมาณ 50% ในสหราชอาณาจักรไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจทำให้ทารกได้รับโฟเลตไม่เพียงพอในช่วงเวลาการเติบโต 12 สัปดาห์แรกที่สำคัญในครรภ์

รัฐบาลฯ ระบุว่า การกำหนดให้โรงงานผลิตแป้งสาลีต้องเพิ่มกรดโฟลิกลงในแป้งสาลีประเภทขัดสี จะช่วยลดจำนวนทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิดเนื่องจากความผิดปกติของท่อระบบประสาทที่ปัจจุบันมีประมาณ 200 รายในแต่ละปี ลงไปได้ถึง 20%

การเพิ่มกรดโฟลิกลงในอาหารถือเป็นนโยบายสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ส่งผลให้เกิดอัตราการเกิดความผิดปกติของท่อระบบประสาทของทารกลดลง โดยในปัจจุบัน ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่สมัครใจเติมกรดโฟลิกลงในซีเรียลอาหารเช้าและผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากกลูเตนอยู่แล้ว

ความผิดปกติของท่อระบบประสาทที่เกิดจากภาวะการขาดกรดโฟลิก ทำให้ทารกที่เกิดมามีความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (spina bifida) คือสภาวะที่กระดูกสันหลังไม่คลุมปิดไขสันหลัง และภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด (anencephaly) ซึ่งหากมีความผิดปกติอย่างรุนแรง ทารกจะเสียชีวิตไม่นานหลังจากคลอด

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย
- (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573

ที่มา : Folic acid to be added to non-wholemeal flour under new UK rules (The Guardian)

Last Updated on กันยายน 23, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น