SDG Updates | การพัฒนาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร – ให้ SDGs ช่วยเป็นคำตอบ (EP.5)

ปีนี้ UN Energy [1] เผยแพร่รายงานว่าด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมอย่างมีส่วนร่วม (Enabling SDGs through Inclusive Just Energy Transitions: Toward the achievement of SDG7 and net-zero emission) เสนอแนะให้นานาประเทศนำ SDGs มาเป็นกรอบนำในการวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคม (transition pathway) จากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดและมีความยั่งยืนที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละประเทศ อีกทั้งเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวควรเป็นไปด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมเท่านั้น  

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอตัวชี้วัด (SDG targets) เป็นเสมือนภาพสะท้อนจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน หรือ Just Energy Transition (JET) ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้ออื่น ๆ กล่าวคือ หากเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมได้ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะสามารถสะท้อนเป็นภาพการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ผ่านกรอบเป้าหมาย 15 เป้าหมาย (เป้าหมายข้อที่ 7 และ 17 ถูกยกเว้นไป) ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับภาคส่วนที่มีภารกิจผลักดัน SDGs ที่จะมุ่งปฏิบัติ JET ให้เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน

SDG Updates ในครั้งนี้ จึงได้หยิบส่วนหนึ่งของรายงานข้างต้นมานำเสนอต่อ ด้วยความตั้งใจให้ข้อเสนอเกี่ยวกับ JET โดย UN Energy ได้รับการเผยแพร่มากขึ้น และด้วยความหวังว่าหลักการ JET จะถูกนำไปพิจารณาปรับใช้ในบ้านเราที่ความเคลื่อนไหวเรื่อง SDGs กำลังเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเป็นภาพสะท้อนความยั่งยืนจาก JET ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถนำเสนอผ่าน 15 เป้าหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ด้านผู้คนและสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) และสันติภาพ (Peace) ดังต่อไปนี้ [1]

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

| กลุ่มเป้าหมายด้านผู้คนและสังคม (People) |

เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน
ภาพครอบครัวของผู้มีรายได้น้อยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางพลังงานของตน โดยใช้เงินเพียงประมาณ 5% ของเงินได้; ภาพผู้คนชายขอบที่สามารถลดรายจ่ายของตัวเองลงได้ เพราะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เอื้อมถึงสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการเลี้ยงชีพ

เป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย
ภาพผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากการที่เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาด เช่น ระบบชลประทานที่ดีขึ้นจากการใช้กังหันวิดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น; ภาพอาหารที่ได้รับการรักษาสภาพ โดยการแช่เย็นด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ที่สามารถลดสัดส่วนอาหารเน่าเสียได้มากขึ้น

เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
ภาพที่เรามีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขทั้งหมดซึ่งใช้พลังงานที่เสถียร เช่น ระบบไฟฟ้า อาทิ การมีตู้เย็นไว้เก็บยาหรือวัคซีน การมีเครื่องฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยความร้อนสูงที่ใช้พลังงานความร้อนจากเตาไฟฟ้าแทนที่เตาเผาด้วยก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น; ภาพผู้คน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน โรงเรียน หรือศูนย์สาธารณสุขที่สามารถประกอบอาหาร ปรับอุณหภูมิห้องได้ด้วยพลังงานสะอาด ไม่มีควัน เพื่อลดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจากมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (indoor pollution)

เป้าหมายที่ 4 การมีการศึกษาคุณภาพดี
ภาพโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด; ภาพที่ผู้คนจากทุกภูมิภาคและหลากหลายเพศสภาวะได้เข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับพลังงานเป็นจำนวนที่มากขึ้น ทั้งหลักสูตรทางการและทางเลือก

เป้าหมายที่ 5 การมีความเท่าเทียมทางเพศสภาพ
ภาพของผู้หญิงทำงานสายเทคนิคในงานเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน รวมถึงการเข้าถึงพลังงาน ในสัดส่วนที่มากขึ้นถึงเทียบเท่ากันกับผู้ชาย; ภาพรัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน/หน่วยงานเกี่ยวกับพลังงานระดับชาติ และหัวหน้าโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเป็นสุภาพสตรีมากขึ้น

| กลุ่มเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) |

เป้าหมายที่ 8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการจ้างงานที่ดี
ภาพแรงงานที่เคยทำงานในภาคพลังงานฟอสซิลที่ถูกยกเลิกไป ได้รับการปรับทักษะ (reskilled) เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด; ภาพธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดที่นำโดยผู้หญิงได้รับการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด จบการศึกษาในระดับใด ก็มีโอกาสเข้าถึงทุนได้อย่างเท่าเทียมเหมาะสม

เป้าหมายที่ 9 การมีโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม
ภาพของภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีหรือระบบการผลิตที่ประหยัดพลังงาน แต่ก็มีผลิตภาพหรือผลลัพธ์เพิ่มมากขึ้นด้วย; ภาพการสนับสนุนเงินทุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการวิจัยและพัฒนา-ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานสะอาดทั้งในเขตที่อยู่อาศัย ทั้งเมืองและชนบท และเขตพื้นที่เกษตรกรรม

เป้าหมายที่ 10 การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
ภาพของผู้พิการได้รับโอกาสจ้างงานในฝ่ายเทคนิคในงานเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเช่นเดียวกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง อวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์; ภาพกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ ผู้คนในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs) และ ประชาชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small island developing states) ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนให้ได้เข้าถึงพลังงานสะอาดที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปในส่วนอื่น ๆ ของโลก

เป้าหมายที่ 11 การตั้งถิ่นฐานและมีชุมชนที่ยั่งยืน
ภาพที่ขนส่งมวลชนในเมืองวิ่งไปด้วยพลังงานสะอาด; ภาพอาคารประหยัดพลังงานหรือพึ่งพาเฉพาะพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด

| กลุ่มเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) |

เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาด สุขาภิบาล แสะสุขอนามัยที่ดี ภาพสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของ sanitation facilities ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะจากแหล่งพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน; ภาพของคนทุกคนมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคเนื่องมาจากการเข้าถึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด

เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ภาพการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงาน (energy intensity) ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ; ภาพที่กระบวนการพลังงานมีการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการดึงน้ำขึ้นมาใช้ การอุปโภคน้ำ การระบายน้ำทิ้ง เป็นต้น

เป้าหมายที่ 13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคพลังงานลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก; ภาพก๊าซตัวการโลกร้อนอายุสั้น (short-lived climate pollutants) ที่มาจากภาคพลังงานมีปริมาณลดลง ตัวอย่างก๊าซดังกล่าว ได้แก่ เขม่า (black carbon) จากการเผาไหม้ ก๊าซมีเทนที่รั่วไหลจากแหล่งพลังงานฟอสซิล และโฮโดรฟลูออโรคาร์บอนที่ใช้เป็นสารทำความเย็น

เป้าหมายที่ 14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร ภาพชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากความเสี่ยงปนเปื้อนมลภาวะ ไม่มีโครงสร้างขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระทั่งโรงกลั่นตั้งอยู่; ภาพการคมนาคมขนส่งทางเรือที่ใช้พลังงานสะอาด

เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพ ภาพการปลูกป่าเพื่อใช้ไม้ที่ยั่งยืนสำหรับ harvesting for energy use; ภาพพื้นที่กสิกรรมเพื่อการผลิตพลังงาน เช่น พลังงานชีวมวล

| กลุ่มเป้าหมายด้านสันติภาพ (Peace) |

เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
ภาพสังคมไร้ซึ่งคนพลัดถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน; ประเทศต่าง ๆ ใช้ EIA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม มีความถูกต้อง และมีกระบวนการมีส่วนร่วม (ที่มากไปกว่าการทำประชาพิจารณ์) รับฟังเสียงสะท้อนของชุมชน คนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในขอบข่ายของการใช้ประโยชน์ที่ดินในโครงการเกี่ยวกับการผลิตและกระจายพลังงาน

บทเสริม: การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทความที่ผ่านมา เรื่อง “ยิ่งกว่าจุดหมายคือระหว่างทาง – 4 ขั้นตอนหลักของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า หัวใจของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมนั้นอยู่ที่คำว่า กระบวนการ (process) หรือ วิธีการ (measure) อันที่จริงการพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นวิธีการ เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน โดยที่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวความคิดการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคมจากพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มองสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงทรัพยากรเพื่อตอบสนองตน สู่การปรับเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนขึ้น คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากระบบสังคมและเศรษฐกิจแบบเดิม ดังนั้น หลักการของ JET จึงคล้ายเป็นซับเซ็ตของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยคำว่า “เป็นธรรม” นำไปสู่การ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”[2]  แต่อาจมีเหตุผลประการหนึ่งที่เวลาเราพูดถึง JET เราน่าจะต้องพูดถึง Sustainable Development ด้วย คือ เพื่อเป็นการทำให้มั่นใจได้ว่ามิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 ขา -สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม- จะอยู่ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างครบถ้วน

หากเราสำรวจวรรณกรรมเกี่ยวกับ JET เราจะพบว่า JET มีองค์ประกอบความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์สูง หากจะมีเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพหรือสภาพสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจาก climate change แล้ว ก็แทบไม่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมถูกระบุไว้ แม้กระทั่งเอกสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization – ILO) ผู้เป็นหัวหอกในการสร้างกรอบความรู้ของ JET [3] ก็เน้นเรื่องความเป็นธรรมของสถานการณ์จ้างงาน การสูญเสียรายได้ โอกาสในการเข้าทำงาน ความยากจน ราคาสินค้าและบริการที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนชายขอบ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องขยายผลไปสู่สิ่งอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือมีความเป็นนิเวศสังคม (socio-ecological transition) อยู่ในนั้น โครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมากมายที่แม้จะไม่ส่งผลกระทบที่หนักหนากับมนุษย์ และแม้จะสามารถเกิดได้บนฐานความเข้าใจและมีการชดเชยที่เป็นธรรมกับชุมชน แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ พันธุ์ไม้ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ไม่สามารถพูดภาษามนุษย์มาปกป้องสิทธิในการมีชีวิตของตัวเองจากการรุกรานของคนได้ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำบนพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง การสร้างฟาร์มกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานจากลมที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและรบกวนเส้นทางการย้ายถิ่นของนก[4]

ณ วันนี้อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกนั้นรวดเร็วขึ้นจากอัตราการสูญพันธุ์โดยธรรมชาติไปมากถึง 100 ถึง 1,000 เท่า[5] ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมต่าง ๆ โดยมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ การขยายการใช้ประโยชน์ที่ดินไปในพื้นที่อยู่ของสัตว์ การปรับเปลี่ยนนิเวศทางธรรมชาติเป็นเมืองที่คนอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นนิเวศเกษตรกรรมเพื่อการค้า-อุตสาหกรรม การเพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า การปรับเปลี่ยนทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้เกิดความโกลาหลของระบบนิเวศ เช่น การพาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามารุกรานสมดุลของอีกนิเวศหนึ่ง ปัจจุบันมีพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พันธุ์สัตว์เล็กเช่นนกและกบถึง 30% ด้วยกันที่เหลือในธรรมชาติน้อยมากจนคาดได้ว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปในเวลาอีก 1 ชั่วอายุคนเท่านั้น

การเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคมนั้นเป็นอีกขั้นหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นการนำพาสังคมมนุษย์เข้าใกล้สู่ความยั่งยืน หรือห่างออกจากหายนะมากขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด ที่มนุษย์มีต่อตนเองในความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว เริ่มจากการมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งบนโลกโดยไม่มีลำดับชั้น (hierarchy) ระลึกถึงความสำคัญของความหลากหลายในทุกมิติ (ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม-ความเชื่อ ความหลากหลายทางเพศสภาวะ ความหลากหลายทางความคิดเห็น) รวมถึงการมีสำนึกที่พ้นไปจากชีวิตในช่วงเวลาของตัวเองไปสู่การอยู่ร่วมกันของคนในโลกนี้ในระยะยาวสำหรับรุ่นลูกรุ่นหลาน นี่เป็นความเป็นธรรมใน 2 ระดับคือ ระดับระหว่างคนกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คน และระหว่างคนรุ่นปัจจุบันและคนรวมถึงสิ่งมีชีวิต (หรือกระทั่งไม่มีชีวิต) อื่นที่ยังไม่เกิดมา สิ่งนี้เรียกว่า “จริยศาสตร์”[6] ต่อสิ่งอื่น ๆ ในธรรมชาติที่ยั่งยืน มุมมองว่ามนุษย์อยู่บนชั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นผู้ควบคุมสรรพสิ่ง มีสิทธิ์และอำนาจที่จะใช้และปรับเปลี่ยนรูปแบบทรัพยากรเพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์เท่านั้นถือเป็นการปฏิเสธจริยศาสตร์นี้ ได้นำมนุษย์มาสู่ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางสังคมและระบบนิเวศดังที่ได้เผชิญอยู่และทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่กระบวนทัศน์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นสำหรับหาทางออกจากเส้นทางวิกฤต เมื่อใดที่ผู้คนจะมองปลาในทะเล เป็นสัตว์ร่วมโลกที่อยู่ในทะเลมากกว่าปริมาณอาหารทะเลสำหรับมนุษย์ นั่นก็ถือว่าเริ่มมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปในทางที่ยั่งยืนขึ้นแล้ว

ในกรณีของ JET นั้นเราอาจจะมีคำถามว่าเราจะนำองค์ประกอบในระบบนิเวศทั้งหมดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร นี่เป็นคำถามที่สำคัญ ขั้นตอนแรกของ JET คือการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ณ ขั้นตอนนี้ JET สามารถรวมผู้ที่ทำงานปกป้องสัตว์และนิเวศเข้ามาร่วมในบทสนทนาในฐานะคนที่เป็นปากเป็นเสียงแทนสิ่งที่ไม่สามารถส่งเสียงได้ คำถามต่อมาคือ เราต้องรวมเอาทุกสิ่งในนิเวศบนพื้นที่นั้น ๆ มาคำนึงทั้งหมดทุกอย่างหรือจะมีการขีดเส้นความเหมาะสมตรงไหน แต่คงจะไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จสำหรับคำถามนี้ ในความเห็นของผู้เขียน เส้นที่จะบอกเราว่าเราควรนำรวมเอาสิ่งใดในธรรมชาติมาร่วมขบวนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ก็น่าจะเป็นเส้นของความรู้ทั้งหมดที่มนุษย์มีเกี่ยวกับนิเวศนั้น หมายถึงรวมเอาทุกสิ่งที่เรามีความรู้ว่าจะได้รับผลกระทบในพื้นที่นั้น เข้ามาคิดแทนเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย และในทางปฏิบัติ การตัดสินใจต่าง ๆ อาจจะอยู่บนผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นหลัก แต่ความสำคัญคือ การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนให้มากที่สุดที่จะทำให้เกิดทางเลือกของแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมกว้างขวางอย่างแท้จริง

การนำเอากรอบอะไรบางอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น SDGs เข้าไปจับกับ JET อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งอื่นในธรรมชาติจะได้รับการพิจารณาไปถึงด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่า SDGs เป็นเป้าหมายที่โลกต้องการจะเห็นในปี 2030 เป็นเพียงจุดหนึ่งของเวลา ที่มิอาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีกระบวนการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ อีกนัยหนึ่งคือ แม้ SDGs จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการจูงใจภาคส่วนที่รับนำมาปฏิบัติให้เห็นความสำคัญของ JET แต่ SDGs นั้นไม่ระบุว่ากระบวนการต้องเป็นอย่างไร ซึ่งอีก 9 ปีกับกระบวนการก้าวไปนั้น จะถึงเป้าหมายหรือไม่อาจจะไม่สำคัญเท่ากับเราออกแบบเส้นทางไปในทิศทางของที่หมายหรือเปล่า เส้นทางนั้นอาจจะยากนัก ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ ปรับพฤติกรรม ปรับโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นธรรมของทุกคนทุกสิ่งด้วยการระลึกและเคารพในศักดิ์ศรี สิทธิ์ที่จะมีความสามารถกำหนดอนาคตของตนเองของคนรุ่นต่อไป ถ้าเราจับมือกันแน่นบ้าง หลวมบ้าง แต่เดินไปด้วยกันให้ถูกทาง แม้จะไปอย่างช้า ๆ แต่จะขยับเข้าใกล้ความยั่งยืน และคงบรรลุได้ในสักวัน

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 5 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564


[1] ผู้เขียนได้ปรับภาษาในตัวรายงานของ UN Energy บางส่วน โดยการแทนคำว่า “ตัวชี้วัด” ที่เป็นศัพท์เชิงเทคนิคของ SDGs เป็นการบรรยายด้วยคำว่า “ภาพ” แทนเพื่อทำให้เนื้อหามีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

[1] Unitend Nations (2021). Enabling SDGs through inclusive, just energy transitions: towards the achievement of SDG 7 and Net-zero emission http://www.un.org/sites/un2.un.org/files/2021-twg_3-exesummarie-062321.pdf [accessed on 25 September 2021].

[2] Garcia-Garcia, P., Carpintero, O., and Buendia, L., (2020), “Just energy transitions to low carbon economies: a review of the concept and its effects on labour and income”, Energy Research & Social Science, 70.

[3] Carley, S. and Konisky, D.M., (2020), “The justice and equity implications of the clean energy transition”, Nature Energy, 5: 569-577

[4] Thaker, M., Zambre, A. and Bhosale, H., (2018). “Wind farms have cascading impacts on ecosystems across trophic levels”, Nat Ecol E, 2: 1854–1858.

[5] Rockström, J., Steffen, W., Noone, K. et al., (2009). “A safe operating space for humanity”, Nature, 461:472–475. https://doi.org/10.1038/461472a

[6] Pooyongyut, P., (2020). “นิเวศวิทยาสังคม: มนุษย์นิยมเชิงนิเวศ โดย Daniel Chodorkoff” URL: http://www.dindeng.com/social-ecology-chodorkoff/?fbclid=IwAR1oOpa22gfAC-Ll4YollyhjvzXUBR_ztC8J5v_IAwa3dd7cRU2pu6Lphe4. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564].

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น